สังคมไทยก้าวเข้าสู่ “ยุค4G” แต่บางพื้นที่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องคลื่นสัญญาณ เอาแค่“โทรศัพท์บ้าน” ยังไม่มี…“รถไฟฟ้า” สารพัดสี จ่อเปิดใช้งาน แต่บางหมู่บ้านยังไม่มี “ถนน” หรือมีก็เหมือนไม่มี!?!?!
นี่คือความเป็นจริงของหมู่บ้าน “ชนบท” ไทย ที่หลายแห่ง “ไกลปืนเที่ยง”และ “ล้าหลัง” ยังต้องได้รับการพัฒนา!?!?!
รายงาน “หมู่บ้านชนบทไทย” ปี 2558(กชช.2ค.) สำรวจโดยคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาคุณภาพของประชาชน(พชช.) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย(มท.) ทุกๆ 2 ปี ได้จัดการพัฒนาหมู่บ้านเป็น 3 ระดับ คือ 1.หมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับ 1 หรือ “หมู่บ้านล้าหลัง”, 2.หมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับ 2 หรือปานกลาง และ 3.หมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับ 3 หรือก้าวหน้า
การสำรวจครั้งล่าสุด ปี 2558 ที่จัดเก็บข้อมูลจาก 70,335 หมู่บ้าน 76 จังหวัด พบว่า มีทั้งหมด 10,537,844 ครัวเรือน “ภาคใต้”มีครัวเรือนเฉลี่ยต่อหมู่บ้านสูงสุดที่ 185 ครัวเรือน, มีประชากร 33,805,764 คน, จำนวนประชากรเฉลี่ยหมู่บ้านละ 480 คนมีระบบ “น้ำประปา” 65,696 หมู่บ้าน คิดเป็น 93.40%, มี “ไฟฟ้า”ใช้ 8,549,516 ครัวเรือน “ไม่มี” ไฟฟ้าใช้ 176,724 ครัวเรือน เป็นต้น
สภาพปัญหาที่น่าสนใจ เช่น…
“โครงสร้างพื้นฐาน”
1.“ถนน” ปี 2558 มีหมู่บ้านในชนบทมีปัญหาในระดับมาก(เป็นหมู่บ้านที่ถนนเส้นทางหลักภายในหมู่บ้านใช้การได้ไม่ดีตลอดทั้งปี) 6,231 หมู่บ้าน คิดเป็น 8.86% ของหมู่บ้านทั้งหมด “ภาคใต้” มีปัญหาเรื่องนี้มากที่สุด คิดเป็น 10.50% เทียบกับปี 2556 หมู่บ้านในชนบทมีปัญหาเรื่องนี้ในระดับมากเพิ่มขึ้น 1,385 หมู่บ้าน คิดเป็น 1.97%
2.“น้ำดื่ม” ปี 2558 หมู่บ้านในชนบทมีปัญหาในระดับมาก(เป็นหมู่บ้านที่มีครัวเรือนมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและบริโภคน้อยกว่า 63% ของครัวเรือนทั้งหมด) 1,406 หมู่บ้าน คิดเป็น 2% ของหมู่บ้านทั้งหมด “ภาคใต้” มีปัญหามากที่สุด คิดเป็น 3.6% เทียบกับปี 2556 หมู่บ้านในชนบทมีปัญหาเรื่องนี้ในระดับมากเพิ่มขึ้น 406 หมู่บ้าน คิดเป็น 0.58%
3.“น้ำใช้” ปี 2558 หมู่บ้านในชนบทมีปัญหาในระดับมาก(เป็นหมู่บ้านที่มีครัวเรือนมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและบริโภคน้อยกว่า 63% ของครัวเรือนทั้งหมด) 2,204 หมู่บ้าน คิดเป็น 3.13% ของหมู่บ้านทั้งหมด “ภาคใต้” มีปัญหามากที่สุด 4.12% เทียบกับปี 2556 หมู่บ้านในชนบทมีปัญหาเรื่องนี้ในระดับมากเพิ่มขึ้น 509 หมู่บ้าน คิดเป็น 0.72%
4.“น้ำเพื่อการเกษตร” ปี 2558 หมู่บ้านในชนบทมีปัญหาในระดับมาก(เป็นหมู่บ้านที่มีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก) 4,604 หมู่บ้าน คิดเป็น 6.55% “ภาคเหนือ” มีปัญหามากที่สุด 8.29 เทียบกับปี 2556 หมู่บ้านในชนบทมีปัญหาเรื่องนี้ในระดับมากเพิ่มขึ้น 1,221 หมู่บ้าน คิดเป็น 1.74%
5.“ไฟฟ้า” ปี 2558 หมู่บ้านในชนบทมีปัญหาเรื่องการมีไฟฟ้าของรัฐใช้ในระดับมาก 1,335 หมู่บ้าน คิดเป็น 1.90% ของหมู่บ้านทั้งหมด “ภาคเหนือ” มีปัญหามากที่สุด 3.24% เทียบกับปี 2556 หมู่บ้านในชนบทมีปัญหาเรื่องนี้ในระดับมากเพิ่มขึ้น 339 หมู่บ้าน คิดเป็น 0.48%
6.“ที่ดินทำกิน” ปี 2558 หมู่บ้านในชนบทมีปัญหาในระดับมาก(มีจำนวนครัวเรือนที่มีที่ดินทำกินของตนเอง แต่ต้องเช่าเพิ่มบางส่วน รวมกับจำนวนครัวเรือนที่ไม่มีที่ดินทำกินของตนเองต้องเช่าทำกินทั้งหมด มากกว่า 25% ของครัวเรือนทั้งหมดในหมู่บ้าน) 14,116 หมู่บ้าน คิดเป็น 20.07% ของหมู่บ้านทั้งหมด “ภาคเหนือ” มีปัญหาเรื่องนี้มากที่สุด 30.84% เทียบกับปี 2556 หมู่บ้านในชนบทมีปัญหาเรื่องนี้ในระดับมากเพิ่มขึ้น 356 หมู่บ้าน คิดเป็น 0.52%
7.“ติดต่อสื่อสาร” ปี 2558 หมู่บ้านในชนบทมีปัญหาในระดับมาก(ในหมู่บ้านไม่มีบริการโทรศัพท์สาธารณะที่ใช้การได้ และครัวเรือนไม่มีโทรศัพท์ประจำบ้าน โทรศัพท์มือถือ หรืออินเตอร์เนต) 1,693 หมู่บ้าน คิดเป็น 2.41% ของหมู่บ้านทั้งหมด “ภาคเหนือ” มีปัญหาเรื่องนี้มากที่สุด 3.42% เทียบกับปี 2556 หมู่บ้านในชนบทมีปัญหาเรื่องนี้ในระดับมากเพิ่มขึ้น 544 หมู่บ้าน คิดเป็น 0.78%
“การศึกษา”
ปี 2558 หมู่บ้านในชนบทมีปัญหาเรื่องการได้รับการศึกษาของประชาชนอยู่ในระดับมาก(เด็กในหมู่บ้านที่กำลังศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย น้อยกว่าร้อยละ 5 ของเด็กอายุ 15-17 ปี หรือกำลังเรียนการศึกษาภาคบังคับ น้อยกว่า 80% ของเด็กอายุ 6-15 ปี หรือเข้าเรียนก่อนประถมศึกษาน้อยกว่า 60% ของเด็กอายุ 3-5 ปี หรือคนที่พลาดโอกาสจากการศึกษาภาคบังคับได้รับการบริการหลักสูตรของการศึกษานอกโรงเรียน น้อยกว่า 30% ของคนที่พลาดโอกาสจากการศึกษาภาคบังคับ หรือในระบบโรงเรียน) 31,492 หมู่บ้าน คิดเป็น 44.77%
“ภาคเหนือ” มีปัญหาเรื่องนี้มากที่สุด 46.9% เทียบกับปี 2556 หมู่บ้านในชนบทมีปัญหาเรื่องนี้ในระดับมากเพิ่มขึ้น 5,454 หมู่บ้าน คิดเป็น 7.77%
สถานการณ์หมู่บ้านชนบทไทยระหว่างปี 2556 กับปี 2558 พบว่า จากการสำรวจข้อมูลหมู่บ้านชนบทไทยปี 2558 เมื่อพิจารณาจากตัวชี้วัดสภาพของหมู่บ้านเรียงลำดับจากเรื่องที่หมู่บ้านส่วนใหญ่มีปัญหามากไปหาน้อย เปรียบเทียบกับปี 2556 พบว่าสถานการณ์โดยรวมนั้น “ตกต่ำ” ลงส่งผลให้กลุ่ม “หมู่บ้านก้าวหน้า” หรือหมู่บ้านที่มีปัญหาน้อยมีจำนวนลดลง, หมู่บ้านปานกลางเพิ่มจำนวนขึ้น และมีหมู่บ้านปานกลางก้าวหน้าปี 2556 ส่วนหนึ่งมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น ทำให้กลายเป็น “หมู่บ้านล้าหลัง”
ปี 2558 จากการสำรวจข้อมูล 70,335 หมู่บ้าน พบว่า มี “หมู่บ้านล้าหลัง” 190 หมู่บ้าน คิดเป็น 0.27%, หมู่บ้านปานกลาง 9,580 หมู่บ้าน คิดเป็น 13.62% และหมู่บ้านก้าวหน้า 60,565 หมู่บ้าน คิดเป็น 86.11% ขณะที่ปี 2556 ได้สำรวจข้อมูล 70,372 หมู่บ้าน จัดเป็นหมู่บ้านล้าหลัง 182 หมู่บ้าน, หมู่บ้านปานกลาง 7,564 หมู่บ้าน และหมู่บ้านก้าวหน้า 62,626 หมู่บ้าน
เมื่อเปรียบเทียบปี 2558 กับปี 2556 พบว่า ปี 2558 หมู่บ้านก้าวหน้า หรือหมู่บ้านที่มีปัญหาน้อยลดลงไปราว 2,000 หมู่บ้าน ขณะที่หมู่บ้านปานกลางเพิ่มขึ้นราว 2,000 หมู่บ้าน ส่วนหมู่บ้านล้าหลังเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และไม่แตกต่างจากปี 2556 มากนัก คือ จาก 182 เป็น 190 หมู่บ้าน
ทว่า...ในกลุ่ม “หมู่บ้านล้าหลัง” มีความเคลื่อนไหวทั้ง 2 ทางสวนกัน คือ มีหมู่บ้านปานกลางก้าวหน้าที่มีปัญหาเพิ่มขึ้น “ถอยหลัง” เป็นหมู่บ้านล้าหลัง และมีหมู่บ้านล้าหลังบางส่วน “ยกระดับ” ขึ้นเป็นหมู่บ้านปานกลางก้าวหน้าด้วยเช่นกัน
“ปัญหา” ที่รุนแรงเพิ่มขึ้นสูงมากในกลุ่มหมู่บ้านล้าหลัง เมื่อเทียบปี 2558 กับปี 2556 คือ การเรียนรู้โดยชุมชน มีหมู่บ้านที่ประสบปัญหาเพิ่มขึ้นจาก37.24% เป็น 45.41% , การกีฬา จาก 33.77% เป็น 45.37% ถัดไปคือการได้รับการศึกษา และการเข้าถึงแหล่งทุน เป็นต้น ส่วน “ปัญหา” ที่ความรุนแรงลดลง เช่น ระดับการศึกษา, อัตราการเรียนต่อ, ผลผลิตจากการทำไร่ และความปลอดภัยจากความเสี่ยง เป็นต้น
นี่คือสถานการณ์หมู่บ้านในเขตชนบทของไทยที่แม้จำนวน “หมู่บ้านล้าหลัง” จะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่เกือบทั้งหมดกลับเป็นหมู่บ้านล้าหลัง “เกิดใหม่” ส่วนจะเป็นที่ใดบ้างและมีสาเหตุจากปัญหาใด...
ติดตามต่อฉบับหน้า...
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี