วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / สกู๊ปพิเศษ
บทเรียนจาก‘มะรอโซ จันทรวดี’ 9ปีไฟใต้ การแก้ปัญหาที่ยังวนจุดเดิม?

บทเรียนจาก‘มะรอโซ จันทรวดี’ 9ปีไฟใต้ การแก้ปัญหาที่ยังวนจุดเดิม?

วันอังคาร ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556, 02.00 น.
Tag :
  •  

“13 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 1 นาฬิกาเศษๆ”

เชื่อว่าหลายคนคงยังไม่ลืมช่วงเวลาดังกล่าว ที่ราวกับฉากใหญ่ในหนังสงคราม เมื่อผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระดมกำลังกว่าครึ่งร้อย หมายบุกโจมตีฐานปฏิบัติการ ฉก.นย.32 อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส แต่กลับถูกชุดปฏิบัติการพิเศษของนาวิกโยธินยิงตอบโต้ จนกองกำลังกลุ่มนี้เสียชีวิตไปถึง 16 ราย ซึ่ง 1 ในนั้นคือ “มะรอโซ จันทรวดี” นักรบ RKK ระดับแกนนำในพื้นที่


หลังเสียงปืนสงบ ข่าวนี้ได้กลายเป็นที่พูดถึงมากที่สุดในรอบสัปดาห์ โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็น-ความรู้สึกในสังคมออนไลน์ ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความสะใจ เพราะแทบทุกวันที่ผ่านมา มีแต่ข่าวครูบ้าง ประชาชนบ้างถูกกลุ่มก่อความไม่สงบสังหารรายวัน รวมไปถึงตำหนิรัฐบาลที่ต้องการเยียวยาญาติผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม หลังเสียงแห่งความสะใจดังกล่าวค่อยๆ จางลง ตามมาด้วยการนำเสนออีกมุมหนึ่งที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงเท่าไร คือการเปิดใจครอบครัวของแนวร่วม ทำให้เกิดคำถามขึ้นต่อมาว่า “ที่ผ่านมา เราเข้าใจเขาดีแค่ไหน? และเราแก้ปัญหาถูกทางหรือไม่?”

มูลเหตุแห่งความรุนแรง

เมื่อพูดถึงกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คนไทยทั่วไปที่อยู่นอกพื้นที่ดังกล่าว อาจจะมองคนกลุ่มนี้เป็นอาชญากร เป็นบุคคลอันตราย หรือแม้กระทั่งมองแบบเหมารวมว่า เหตุความไม่สงบทุกกรณี เป็นฝีมือของแนวร่วมที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน เพราะทุกครั้งที่เกิดเหตุ สื่อกระแสหลักมักจะทิ้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าสาเหตุมาจากผู้ต้องการสร้างสถานการณ์

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ตัวแทนจากมูลนิธิศักยภาพชุมชนมองว่าเหตุความรุนแรงในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการ“เปิดใจ” จากภรรยาของนายมะรอโซ ว่าสาเหตุที่ทำให้สามีของเธอตัดสินใจเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธ เพราะเป็น 1 ในหลายๆ คน ที่เป็นผู้ถูกกระทำจากเหตุการณ์ชุมนุมที่ อ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 และผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกจับให้นอนทับกันบนรถบรรทุกของทหาร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจกว่า 85 ศพ

“กรณีตากใบ เห็นชัดเจน ศาลตัดสินแล้วว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่คำพิพากษาที่ให้มา ผลการเสียชีวิตของเหยื่อตากใบ คือขาดอากาศหายใจ แต่สาเหตุอะไรที่ทำให้เขาขาดอากาศหายใจ ทำไมไม่พูดให้ชัดเจนมากกว่านั้น นั่นเพราะคนเหล่านั้นไม่ได้รับความเป็นธรรม มันถึงเกิดกรณีครั้งนี้ขึ้น หลายคนใน 16 ศพ ก็คือคนที่ได้รับผลกระทบจากตากใบ แล้วรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม

จากกรณีที่เกิดขึ้น เราก็ถามเจ้าหน้าที่ว่าตัดสินชัดเจนแล้วเห็นชัดเจนแล้ว ทำไมยังไม่เคยเห็นเอาคนผิดไปลงโทษสักครั้ง ทำยังไงถึงจะเอาคนผิดมาลงโทษสักที ให้เห็นว่าสิ่งที่ทำไป เป็นสิ่งที่ผิดพลาดไม่ถูกต้อง แต่ตอนนี้ก็ยังไม่เคยเห็นคนผิดในกรณีภาคใต้ขึ้นศาลสักคน ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่กล้าเอาคนผิดติดคุกสักทีให้เห็นว่าเป็นคนที่สั่งการ ที่ทำให้เกิดการขาดอากาศหายใจมีหลายคนที่เจ็บปวด แล้วยังไม่ได้รับความยุติธรรม” คุณชลิดา สะท้อนให้เห็นมูลเหตุแห่งความรุนแรงในพื้นที่

สอดคล้องกับความเห็นของนักกิจกรรมขององค์กรภาคเอกชน (NGO) รายหนึ่ง มองว่าบางครั้งพลเรือนที่คนนอกพื้นที่มองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ซึ่งก็มีทั้งชาวพุทธและมุสลิมนั้น ในบางกรณี พลเรือนดังกล่าวก็ไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์จริงๆ หากแต่เป็น “สายข่าว” ไม่ว่าของฝ่ายรัฐ หรือของฝ่ายขบวนการ ทำให้กลายเป็นเป้าหมายไม่แตกต่างจากทหาร-ตำรวจของรัฐ หรือแนวร่วมขบวนการที่เป็นกองกำลังติดอาวุธแต่อย่างใด

“ทำไมครูถึงถูกยิง ส่วนหนึ่งจากที่ชาวบ้านบอกว่าเป็นสายข่าว แล้วก่อนหน้านั้นมันมีเหตุการณ์อุสตาซ (ผู้สอนศาสนาอิสลาม) ถูกยิง ทีนี้การตอบโต้ก็มีการยิงครูกัน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องมานิยามว่า พลเรือนคืออะไร ถ้าหมายถึงคนทั่วไปที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเอื้ออำนวย ให้หน่วยงานความมั่นคงสังหารใครได้

เราก็ต้องพูดให้ชัดว่านั่นเป็นการกระทำต่อพลเรือน หรือว่าไม่ใช่ ในทางหนึ่งมันอาจจะดูแฟร์ๆ ก็ได้ ที่ขบวนการไปยิงครูที่เอื้อให้รัฐทำอะไรก็ได้กับขบวนการตัวจริง กับการที่รัฐเองก็โต้ตอบด้วยการยิงอุสตาซบางคน ที่ให้การสนับสนุนขบวนการในการปฏิบัติการทางอาวุธ” สมาชิก NGO รายดังกล่าวให้ทรรศนะ
เรา “เข้าใจ” เขาแค่ไหน?

เมื่อพูดถึงความรุนแรง คงไม่อาจที่จะไม่พูดถึงเงื่อนไขหลักทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นรอยด่างในใจประชาชนในพื้นที่ได้ โดยหากย้อนไปดูข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ใช้นโยบายรัฐนิยม ให้ทุกพื้นที่เหมือนกันหมดแม้กระทั่งไม่ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาที่แตกต่าง

ในห้วงเวลาดังกล่าว ชาวไทยมลายูเหล่านี้ ถูกห้ามประกอบศาสนกิจของศาสนาอิสลามที่ตนนับถือ ถึงขนาดที่มีเรื่องเล่าว่าชายฉกรรจ์ในพื้นที่ไม่อยากไปเกณฑ์ทหาร เพราะจะถูกบังคับให้กราบพระพุทธรูปของศาสนาพุทธ หรือเมื่อมาถึงในสมัยจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ ได้มีนโยบายอพยพชาวไทยในพื้นที่อื่นๆ ลงไปสร้างนิคมในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ (สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส)

“การใช้ศาสนา บังคับให้คนเปลี่ยนการแต่งกายต่างๆ ไม่ได้ทำให้ขบวนการต่อสู้ของปัตตานีลดน้อยลงแต่อย่างใด แต่กลับทำให้ลุกขึ้นมาสู้มากขึ้น แล้วรัฐไทยฉลาดมาก เพราะในช่วงนั้นถ้ามีการลงประชามติโดยคณะมนตรีของสหประชาชาติ ชาวปัตตานีต้องการเอกราชแน่นอน เลยเกิดนโยบายย้ายคนจากนอกพื้นที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่

การถามหาคนอีสาน คนเหนือ ที่ต้องการมีที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ สามารถทำกินได้ โดยที่ประชาชนกลุ่มนี้ก็ไม่ทราบเลยว่า
เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดจำนวนชาวปัตตานีลง ก็เลยมีนิคมต่างๆ เยอะมาก เพื่อให้เปอร์เซ็นต์ของคนปัตตานีน้อยลง ถ้าต้องลงคะแนนเพื่อให้เป็นรัฐใหม่ หรือจะอยู่กับรัฐไทยต่อไป”

เป็นเสียงจาก อะเต็ฟ โช๊ะโก ตัวแทนจากสถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (YDA) เล่าถึงประวัติศาสตร์ของชาวมลายูท้องถิ่น ที่ต้องทนกับนโยบายที่พยายามจะทำลายอัตลักษณ์ และไม่ให้เกียรติพวกเขามาโดยตลอดซึ่งชาวไทยพุทธจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ก็คือคนที่อพยพไปบุกเบิกที่ดินนี้เอง ทั้งนี้ในมุมของคุณอะเต็ฟ มองว่าไม่ใช่ความผิดของชาวไทยในพื้นที่อื่นๆ เพราะก็ไม่รู้ตัวว่า ตนได้กลายเป็นเครื่องมือของรัฐไปด้วย และอย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทางการไทยก็ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนามากกว่าในอดีต

ต้องให้คน “กล้าพูด” มากขึ้น

ขณะที่คนนอกพื้นที่ ยังสนับสนุนให้คงกฎหมายพิเศษเหล่านี้ต่อไป แต่สำหรับคนในพื้นที่แล้ว กฎหมายดังกล่าวได้ ทำให้คนในพื้นที่หวาดระแวงกับยุทธวิธี “นอกระบบ” จนไม่กล้าให้ข้อมูลที่แท้จริงกับใคร เพราะไม่มีใครรับประกันความปลอดภัยให้ได้ โดยคุณอะเต็ฟ ยกตัวอย่างว่าหากทหารเข้าไป ก็จะตอบแบบหนึ่ง หากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน หรือการรณรงค์ให้กระจายอำนาจเข้าไป ก็จะตอบอีกอย่างหนึ่ง และถ้าขบวนการติดอาวุธเข้าไป ก็จะตอบไปอีกแบบหนึ่ง

“วันนี้จะหาชาวปัตตานีที่กล้าบอกว่าตัวเองต้องการอะไร ยากมากๆ ถ้าคุณเป็นทหาร เข้าไปถามว่าสนับสนุนขบวนการใช่ไหม ต้องการอะไร ชาวบ้านจะตอบว่าเราไม่ได้ต้องการอะไร เราแค่อยากเดินทางปลอดภัย เราต้องการอยู่กับรัฐไทย ชาวบ้านจะตอบแบบนี้ เพราะคุณใส่ชุดทหาร

ถ้าคุณเป็นนักปฏิรูป รณรงค์กระจายอำนาจ ชาวบ้านก็จะตอบว่าต้องการกระจายอำนาจ ปัตตานีมหานคร อะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่ถ้าเป็นขบวนการไปถาม เขาก็จะบอกว่าเขายังยืนยันในเอกราชเหมือนเดิม สรุปว่ากลัว พอกลัว ก็เลยไม่มีใครกล้าตอบ สิ่งที่ต้องการอยู่ในใจลึกๆ จริงๆ” ตัวแทนจาก YDA กล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของคุณชลิดา ที่ได้เคยลงพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง พบว่าการที่มีทหารควบคุมอยู่ด้วย ชาวบ้านในพื้นที่จะไม่กล้าพูดอะไรกับคนภายนอก แต่ถ้าหากมีโอกาสได้ลงพื้นที่นานๆ เข้า จนชาวบ้านไว้วางใจ ก็จะได้รับฟังเรื่องราวมากมาย ที่คนนอกพื้นที่ไม่ค่อยจะได้รู้

“เคยเข้าไปที่ อ.บาเจาะ และ อ.เจาะไอร้อง ประชาชนกลัวมาก กลัวจนไม่กล้าพูดอะไรเลย จัดเวทีก็มีทหารมา แทนที่ชาวบ้านจะคุยให้เราฟัง พอทหารมาเขากลับบ้านหมดเลย หรือถอยไปนั่งอยู่ข้างนอก มันก็สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่นั้นใครคุม แล้ว
ถ้าจะพูดกันจริงๆ วาทกรรมของทั้ง NGO ทั้งนักวิชาการบางกลุ่มของปลอมทั้งนั้น มันไม่ใช่จัดกันในโรงแรม จัดกันคุยกันอยู่แต่ไม่กี่คน หน้าซ้ำๆ เดิมๆ แล้วก็พูดแล้วก็สรุป

มันต้องลงไปในพื้นที่ ไปคุยกับชาวบ้านในหมู่บ้าน คุณกล้าลงไปแล้วเปิดพื้นที่ให้ประชาชนพูดจริงๆ ไหม แล้วยากนะ ไม่ใช่ลงไปครั้งเดียวแล้วประชาชนจะไว้ใจคุณ คุณต้องลงไปหลายครั้ง ครั้งแรกไป เขาอาจจะไม่พูดกับคุณ อาจจะเดินหนีคุณหมดเลยก็ได้ ต้องเพียรพยายามและตั้งใจที่สุดจริงๆ ว่าจะมาคุย เรารู้สึกว่าถ้าเราไปด้วยเจตนาดี เราปลอดภัยทุกพื้นที่ เราไม่เคยมีปัญหา”ตัวแทนจากมูลนิธิศักยภาพชุมชน ให้ข้อเสนอทิ้งท้าย

เหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่วนหนึ่งคงต้องยอมรับว่าเกิดจากบาดแผลที่สะสมมาในห้วงประวัติศาสตร์ ผลของนโยบายรวมศูนย์จากรัฐบาลกลาง โดยพยายามทำลายอัตลักษณ์ท้องถิ่น และบาดแผลดังกล่าวที่น่าจะค่อยๆ หายไปกับกาลเวลา ถูกสะกิดให้เจ็บปวดอีกครั้ง จากนโยบายที่ผิดพลาดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งกรือเซะ ตากใบ หรือการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ตามมาด้วยการใช้กฎหมายพิเศษ ที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐ กระทำการที่อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ทำให้เกิดการแก้แค้นกันไปมาทั้งสองฝ่ายไม่จบสิ้น

ล่าสุดต้องดูท่าทีของภาครัฐที่สำคัญ 2 ประการ ทั้งการตั้งกลุ่ม “วาดะห์” ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองในพื้นที่ เป็นที่ปรึกษา กับการหันมาใช้มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อดึงกลุ่มแนวร่วมให้กลับออกมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

จาก 2 นโยบายนี้ จะนำไปสู่ความรุนแรงที่ลดลงหรือไม่ต้องรอติดตามกันต่อไป

SCOOP@NAEWNA.COM



 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

'ชูศักดิ์'ชี้ขายเหล้า-เบียร์ วันพระใหญ่ 5 จุดไร้ปัญหาอุบัติเหตุ-เรื่องร้องเรียน

เปิดเทอมวันแรก! น้องๆปีนคอสะพานไปโรงเรียนทุลักทุเล

คนดังฮอลลีวูด 350 รายลงชื่อประณาม'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์'ที่กาซา รับเทศกาลคานส์

ไม่จัดรถแห่!ผีฉลองปิ้งบาร์บีคิวหากซิวแชมป์ยูโรป้า

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved