กลายเป็นเหตุสะเทือนขวัญกลางกรุงอีกครั้ง กับระเบิดที่เกิดขึ้นบริเวณปากซอยรามคำแหง 43/1 เมื่อเวลา 20.39 น.ของวันที่ 26 พ.ค.56 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 7 ราย ขณะที่เมื่อกลางเดือนเมษายน ก็เกิดเหตุระเบิดขึ้นกลางงานวิ่งมาราธอน ที่นครบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บอีกร้อยกว่าราย
ทั้งนี้ใน กทม. นั้น เหตุระเบิดลักษณะนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากใครจำวันส่งท้ายปีเก่า พ.ศ.2549 ต้อนรับปีใหม่ พ.ศ.2550 ได้ ในวันนั้นเกิดเหตุระเบิด 9 จุด ตามพื้นที่ต่างๆ ทั้ง กทม. และปริมณฑล
ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของผู้ที่สนใจปัญหาความมั่นคงหลายราย ที่เห็นตรงกันว่า “ในโลกยุคใหม่นี้ ไม่มีที่ใดปลอดภัยอีกต่อไป” เพราะการก่อการร้ายด้วยการวางระเบิดนั้นทำได้ง่าย ใช้คนเพียงคนเดียวหรือไม่กี่คน และวิธีการทำระเบิดจากสิ่งของใกล้ตัว ก็หาได้ง่ายมากในอินเตอร์เน็ต วันนี้สกู๊ปหน้า 5 ขอพาทุกท่านเข้าไปรู้จักวัตถุระเบิดชนิดต่างๆ และการสังเกตสิ่งผิดปกติ เพื่อที่จะได้ระวังตัวจากสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ในอนาคต
ระเบิดชนิดไหนอันตรายที่สุด?
เมื่อถามว่าระเบิดชนิดใดที่อันตรายที่สุด หลายคนคงนึกถึงวัตถุระเบิดที่ใช้ในงานทางทหาร เช่นซีโฟร์ (C4) ทีเอ็นที (TNT) ไปจนถึงระเบิดปรมาณู (Nuke) หรือระเบิดที่ใช้ในงานเหมืองแร่ เช่นไดนาไมต์ (Dynamite) รวมทั้งระเบิดดัดแปลงจากปุ๋ยยูเรียผสมน้ำมันดีเซล ที่เรียกกันว่า ANFO (Ammonium Nitrate+Fuel Oil) ที่พบบ่อยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเมื่อมันทำงาน มักจะมีอานุภาพร้ายแรง สามารถคร่าชีวิตคนได้เป็นจำนวนมากๆ
ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ระเบิดชนิดต่างๆตามที่กล่าวข้างต้นถือว่าพบได้ยาก เนื่องจากบางอย่างเป็นสิ่งผิดกฎหมายห้ามมีไว้ในครอบครอง ส่วนบางอย่างที่จำหน่ายได้ก็มีการควบคุมอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ วัตถุระเบิดที่คนทั่วไปพบเห็นจนเคยชิน และมักจะถูกมองข้ามอยู่เสมออย่าง “ดินดำ” (Black Powder หรือ Gun Powder) ถือว่าเป็นระเบิดที่อันตรายที่สุด เหตุที่มันสามารถจัดหา หรือผลิตได้ง่ายนั่นเอง
“ระเบิดที่อันตรายที่สุดในโลกคือดินดำ เพราะอะไรครับ? เพราะดินดำจุดด้วยประกายไฟก็ติด ความร้อนก็จุดติด การกระแทกเสียดสีก็ติด ดินดำเป็นระเบิดแรงต่ำ คืออัตราการสลายตัวมันต่ำกว่า 1,000 เมตรต่อวินาที เช่นเอามาวางเรียงกันแล้วจุดไฟ มันจะค่อยๆ ไหม้ แต่พอไปอยู่ในปลอกกระสุนปืน จำนวนนิดเดียวเองนะครับ มันสามารถดันหัวกระสุนให้ผ่านตัวลำกล้องที่มีเกลียว ให้หมุนตัว แล้วพอพ้นจากลำกล้องแล้วมันยังไปได้อีกเป็นกิโล”
เป็นเสียงจาก พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ ชาติเชื้อ รอง ผกก. ฝ่ายสรรพาวุธ 3 ที่ได้บรรยายในการอบรม อปพร. เขตพญาไท เมื่อไม่นานนี้ กล่าวถึงวัตถุระเบิดที่หาได้ง่ายที่สุด โดยยกตัวอย่างสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ปืนและกระสุนแพร่หลายอย่างเสรีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทำให้ดินดำนั้นพลอยหาได้ง่ายไปด้วย ซึ่งดินดำจำนวนไม่น้อย ถูกนำไปใช้ทำระเบิดแสวงเครื่องที่เรียกว่า “Pipe Bomb” หรือระเบิดที่บรรจุในท่อ แล้วผูกติดแม่เหล็กแรงสูงเพื่อยึดตัวระเบิดไว้ใต้ท้องรถของเป้าหมาย
พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ ในฐานะที่เคยอยู่ในชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) ที่ผ่านประสบการณ์เฉียดตายมาหลายครั้งในการปฏิบัติหน้าที่ กล่าวต่อไปว่าสำหรับวัตถุระเบิดที่พบบ่อยในประทัดที่นำมาจุดกันนั้น ยิ่งอันตรายมากกว่าดินดำ เพราะเป็น “ดินเทา” หรือดินดำที่เติมผงอลูมิเนียมลงไป (ดินดำปกติจะมีส่วนผสมของดินประสิว กำมะถัน และถ่าน) ซึ่งจะทำให้ความร้อนของเปลวไฟที่เกิดขึ้น เพิ่มสูงอีก 500 องศาเซลเซียส แน่นอนว่าความรุนแรงย่อมมากขึ้นไปด้วย และ สามารถนำไปทำได้ทั้งประทัดยักษ์ ระเบิดปิงปอง ไปจนถึงระเบิดแสวงเครื่อง (IED)
“ดินดำคือวัตถุระเบิดที่อันตรายที่สุดในโลก เพราะมันหาง่าย การจุดตัวก็จุดได้ง่าย ผมกู้มาก็เยอะนะ แต่ที่กู้แล้วเกิดระเบิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ หรือที่ไหนก็แล้วแต่ ส่วนใหญ่จะเป็นดินดำที่มันระเบิดขึ้นมา มันอันตรายมากนะครับ ใครที่ค้าขายประทัดก็ต้องเก็บให้ดีๆ อย่าให้มีประกายไฟ” พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ กล่าว อย่างไรก็ตาม แม้ดินดำจะเป็นวัตถุระเบิดที่แพร่หลายมากที่สุด แต่การทำลายก็ง่ายที่สุดเช่นกัน เพียงแค่ทำให้ชื้น เช่นเอาน้ำสาดเท่านั้น วัตถุระเบิดชนิดนี้ก็จะจุดไม่ติดอีกต่อไป
“ฝักแค” ตัวจุดระเบิดยอดนิยม
หากใครจำเหตุลอบวางระเบิดอดีตนายกฯ ท่านหนึ่งเมื่อปี 2549 ได้ มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อสงสัยบางประการ ว่าระเบิดดังกล่าวเป็นของจริงหรือไม่? เนื่องจากการต่อวงจรไม่สมบูรณ์ และมีการพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า “ฝักแค” ขึ้นมา หรือในปี 2553 ที่มาการพบรถยนต์คันหนึ่งในสภาพต่อวงจรระเบิดไว้ พร้อมที่จะถูกใช้เป็น “คาร์บอมบ์” ได้ทันที ก็มีการกล่าวถึงเจ้าฝักแคนี้เช่นกัน
ฝักแคที่เป็นตัวจุดชนวนระเบิดนั้นมีลักษณะคล้ายเชือกหรือสายไฟทั่วไป แต่จุดสังเกตคือแกนกลางนั้นจะมีสารเคมีบางอย่างอยู่ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือหากแกนกลางเป็นสีดำ หมายถึง “ฝักแคเวลา” แต่ถ้าเป็นสีขาว หมายถึง “ฝักแคระเบิด” และวิธีการใช้จะแตกต่างกัน คือฝักแคเวลา ใช้สำหรับต่อกับเชื้อปะทุ เพื่อเป็นการหน่วงเวลาก่อนที่เชื้อปะทุทำให้วัตถุระเบิดเกิดการระเบิดขึ้น ส่วนฝักแคระเบิด เมื่อจุดแล้วสามารถระเบิดได้เองทันที ใช้สำหรับเชื่อมต่อวัตถุระเบิดที่วางไว้หลายๆ จุด เพื่อให้จุดระเบิดได้พร้อมกันด้วยเครื่องจุดระเบิดเพียงชุดเดียว หรือบางคนก็เอาไปพันรอบต้นไม้แล้วจุดให้ระเบิดเพื่อล้มไม้ต้นนั้นๆ
“ถ้าเราเห็นข้างๆ บ้าน มีเชือกลักษณะอย่างนี้ ให้ดูที่แกนกลาง ถ้าสีดำเป็นชนวนฝักแคเวลา ถ้าเอาไฟจุดมันก็ค่อยๆ ไหม้ไป แล้วก็ไปจุดที่เชื้อปะทุ แล้วก็ไปจุดที่ตัวระเบิด ถ้าสีขาวแสดงว่าเป็นชนวนฝักแคระเบิด ถ้าเอามาพันคอแล้วจุด คอก็เกือบขาด ซึ่งประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิ์ใช้อยู่แล้ว เพราะเป็นวัตถุระเบิดที่ทางราชการไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ต้องเป็นหน่วยงาน เป็นนิติบุคคล ที่ทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ” พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ อธิบายวิธีการสังเกตวัตถุที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นฝักแคที่ใช้กับวัตถุระเบิด
ข้อปฏิบัติเมื่อพบสิ่งผิดปกติ
หากจะแบ่งประเภทการจุดชนวนระเบิด โดยทั่วไปนั้นสามารถจุดได้ 4 แบบ คือ 1.เมื่อมีผู้ไปรื้อ แกะ ตัววัตถุระเบิดนั้นๆ แล้วเกิดระเบิดขึ้น 2.ระเบิดที่ใช้การตั้งเวลาไว้ล่วงหน้าด้วยนาฬิกาปลุก 3. ระเบิดแบบลากสาย และ 4.ระเบิดที่ควบคุมจากระยะไกล (รีโมต) จุดชนวนด้วยระบบไร้สาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือวิทยุสื่อสาร ซึ่งแต่ละแบบก็มีรูปแบบการใช้ที่ต่างกันออกไป เช่นระเบิดแบบไร้สาย นิยมใช้ในเขตชุมชน เพราะซุกซ่อนง่ายสังเกตได้ยาก แต่มีข้อด้อยคือหากรู้ว่าพื้นที่ดังกล่าวมีระเบิดวางอยู่ ผู้เก็บกู้สามารถตัดการทำงานของตัวควบคุมการจุดระเบิด เช่นการตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้ระเบิดไม่สามารถทำงานได้
ส่วนระเบิดแบบลากสาย นิยมใช้ในพื้นที่นอกเมืองที่เป็นชายป่า ดังจะเห็นได้จากกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จว. ชายแดนใต้ มักจะนำระเบิดบรรจุในถังดับเพลิงฝังไว้ใต้พื้นถนน แล้วต่อสายลากยาวเข้าไปในป่าเพื่อซุ่มดูเป้าหมาย ระเบิดแบบลากสายนี้จุดเด่นคือไม่สามารถตัดการทำงานเหมือนระเบิดที่ควบคุมแบบไร้สายได้ แต่ข้อด้อยคือผู้ก่อเหตุต้องอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุด้วยเพื่อจุดชนวนระเบิด ทำให้มีโอกาสถูกจับกุมได้ง่าย
พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ ได้ฝากแนวทางสังเกต และระวังตนเองจากเหตุลอบวางระเบิดไว้ สรุปได้คร่าวๆ ดังนี้คือ 1.วัตถุที่อยู่ในที่ที่ไม่ควรจะอยู่ และเมื่อถามคนที่อยู่รอบๆ แล้วเบื้องต้นไม่มีเจ้าของ หรือไม่มีใครทราบที่มาที่ไป ให้ถือว่าเป็นวัตถุต้องสงสัยไว้ก่อน 2.เมื่อพบสิ่งที่คิดว่าเป็นวัตถุต้องสงสัย อย่าพยายามรื้อ แกะ หรือเปิดออกดูด้วยตนเองเป็นอันขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที เพื่อประสานหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดเข้ามาดำเนินการต่อไป และ 3.การถอยจากวัตถุต้องสงสัย ต้องเคลื่อนที่ในท่าที่มองเห็นวัตถุดังกล่าวตลอดเวลา เพื่อเตือนไม่ให้คนอื่นๆ ที่อาจจะไม่รู้เรื่อง เข้าไปเคลื่อนย้าย รื้อ แกะ หรือเปิดดู จนอาจเกิดอันตรายได้ หากวัตถุนั้นเป็นระเบิดจริงๆ
“กระเป๋า ถังดับเพลิง กล่องเหล็ก กล่องไปรษณีย์ มันทำเป็นระเบิดได้หมด เขาก็เลยมีหลักออกมา หลักนั้นคือ 1.วัตถุนั้นไม่เคยเห็น ถามใครก็บอกว่าไม่เคยเห็น 2.มีเจ้าของไหม ถามใครก็บอกว่าไม่ใช่เจ้าของ 3.มันเป็นที่อยู่ของมันหรือเปล่า และ 4.สภาพดูไม่เรียบร้อย..หลักของระเบิดแสวงเครื่อง หรือวัตถุต้องสงสัยใดๆ ก็ตาม จำง่ายๆ คือเราไม่เคยเห็น ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่น่าจะใช่ที่อยู่ของมัน แล้วก็ดูไม่เรียบร้อย” พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ กล่าวย้ำทิ้งท้าย
ปัจจุบันรูปแบบของภัยด้านความมั่นคงได้เปลี่ยนไป จากการใช้กำลังทหารโดยตรง มาเป็นการลอบวางระเบิดตามสถานที่ต่างๆ เพื่อสร้างความตื่นตระหนกและหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในสังคม ขณะเดียวกัน ผู้ก่อเหตุอาจไม่ใช่สมาชิกองค์กรก่อการร้ายเสมอไป แต่อาจเป็นไปได้ตั้งแต่ผู้ที่กำลังขัดผลประโยชน์กับคู่แข่ง การล้างแค้นคู่อริ หรือผู้มีอาการทางจิต ที่สนุกกับการทำให้สังคมเกิดความโกลาหล แต่ระเบิดนั้นหากมันทำงานแล้ว มันย่อมไม่เลือกเป้าหมาย และอานุภาพของมันสามารถทำร้ายผู้คนได้เป็นวงกว้างกว่าอาวุธปืน
ด้วยเงื่อนไขและพฤติกรรมที่เดาทางได้ยากเหล่านี้ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว จะสามารถระวังป้องกันได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยอุดช่องโหว่ดังกล่าวได้ คือประชาชนโดยเฉพาะชาวชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ ต้องมีความรู้ และช่วยกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูว่ามีวัตถุหรือบุคคลต้องสงสัยปรากฏขึ้นหรือไม่ เพื่อที่จะประสานให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้ามาตรวจสอบต่อไป
เพราะไม่มีที่ไหนปลอดภัย..ทางเดียวที่จะลดความเสี่ยงได้ ประชาชนต้องร่วมมือร่วมใจกันเท่านั้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี