กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที หลังรถยนต์หรูทั้งแลมโบกินี , เฟอร์รารี , เบนท์ลีย์ และบีเอ็มดับเบิลยู รวม 4 คัน เกิดเพลิงไหม้ขณะกำลังถูกลำเลียงโดยรถเทรลเลอร์ บนถนนมิตรภาพขาออก อ.กลางดง จ.นครราชสีมา โดยมีปลายทางอยู่ที่ จ.ศรีสะเกษ ตามมาด้วยการตรวจพบข้อน่าสงสัยบางอย่าง เช่นการติดตั้งถังก๊าซเป็นเชื้อเพลิง เพราะในความเป็นจริงแล้ว รถหรูเหล่านี้ต้องใช้น้ำมันที่มีค่าออกเทนสูงเท่านั้น ทำให้สันนิษฐานว่า รถดังกล่าวถูกลักลอบนำเข้ามาด้วยวิธีหลบเลี่ยงภาษี ในลักษณะของ “รถยนต์จดประกอบ” หรือไม่?
อันที่จริงแล้ว การนำเข้ารถจากต่างประเทศแบบจดประกอบนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยก่อนหน้านี้การแยกชิ้นส่วนรถยนต์เข้ามาในรูปของอะไหล่นั้น เป็นที่คุ้นเคยกันดีในหมู่ผู้นิยมสะสมรถรุ่นเก่า (Classic Car) ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่ส่วนใหญ่อะไหล่แท้นั้นไม่มีในเมืองไทย ต้องสั่งจากต่างประเทศมาประกอบเท่านั้น ทั้งนี้การนำเข้ามาในรูปชิ้นส่วนจะเสียภาษีต่ำกว่ารถที่ประกอบเสร็จแล้วทั้งคัน ทำให้มีการใช้วิธีการดังกล่าวหลบเลี่ยงภาษีรถหรูระดับ Super Car ที่ปกติแล้วจะมีภาษีนำเข้าเฉลี่ยร้อยละ 300 ทำให้ผู้นำเข้าและผู้ซื้อลดต้นทุนได้มาก แต่ก็ทำให้รัฐสูญเสียรายได้อย่างมหาศาลเช่นกัน
“รถจดประกอบ” มาจากไหน?
“รถจดประกอบ หรือบางทีกรมศุลกากรก็เรียกว่ารถถอดประกอบ เมื่อปี’55 ทางกรมศุลกากรได้เคยจับกุมรถที่ถอดประกอบเข้ามา เราพบว่าเขาใช้วิธีไปซื้อรถที่เมืองนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ใช้พวงมาลัยขวา ข้างเดียวกับเรา แล้วถอดมา สมมติฐานเราเป็นอย่างนั้น”
เป็นเสียงจาก นายราฆพ ศรีศุภอรรถ รองอธิบดีกรมศุลกากร เล่าถึงกลวิธีการลักลอบนำรถหรูเข้ามาแบบหลบเลี่ยงภาษี เริ่มตั้งแต่การไปซื้อรถดังกล่าวในประเทศที่ใช้พวงมาลัยฝั่งเดียวกับบ้านเรา จากนั้นก็ทำการแยกชิ้นส่วน แล้วค่อยๆ นำเข้ามาในรูปของอะไหล่รถ ผ่านเที่ยวเรือหลายเที่ยว และผ่านการเสียภาษีศุลกากรถูกต้องทุกประการ หากแต่เสียในฐานะที่เป็นอะไหล่ เช่นเครื่อง ล้อ ฯลฯ
ซึ่งหากจะไปไล่ความผิดนั้น รองอธิบดีศุลกากร กล่าวว่า ความผิดจะไปเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการนำอะไหล่ดังกล่าวไปประกอบเป็นตัวรถที่สมบูรณ์ ทั้งนี้พบว่าวิธีการดังกล่าวระบาดมากในช่วงปี 2553-2554 ทำให้เมื่อปี 2555 กระทรวงพาณิชย์ต้องออกประกาศห้ามนำโครงตัวถังรถ (Chassis) เข้ามาในประเทศ ดังนั้นรถจดประกอบที่พบในปัจจุบัน จะเหลือเพียงรถที่นำเข้ามาก่อนประกาศมีผลบังคับใช้ และตกค้างอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบเท่านั้น
สอดคล้องกับความเห็นของ นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม (กมธ.คมนาคม) วุฒิสภา ที่กล่าวว่า กมธ.คมนาคมวุฒิสภา ได้ทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวร่วมกับกรมศุลกากรมากว่า 2 ปี และเห็นว่ารถจดประกอบน่าจะเป็นพฤติกรรมที่ถือว่าผิดกฏหมาย เพราะใช้วิธีนำรถคันหนึ่งมาแยกชิ้นส่วน และนำเข้ามาโดยอ้างว่าเป็นอะไหล่ แน่นอนว่าผู้ซื้อเองก็ชอบ เพราะราคาจะถูกกว่ารถที่นำเข้ามาทั้งคัน นอกจากนี้ยังมีความน่าเชื่อถือ เพราะสามารถจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ ทำให้ไม่ค่อยมีใครสนใจมากนัก
“เดิมทีก็ไม่ได้มีหลายฝ่ายให้ความสนใจ ก็มีกรรมาธิการที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างเดียว เพียงแต่ได้กำชับขนส่งทางบกไปว่าการจดทะเบียนรถจดประกอบ ให้ดูให้รอบคอบ ว่ามีการติดตั้งเชื้อเพลิงถูกต้องหรือเปล่า จนกระทั่งมาเป็นข่าวว่ารถไฟไหม้ มันผิดปกติคือมันเป็นรถหรูราคาแพง (Super Car) มีถังก๊าซ ประเด็นคือมีถังก๊าซแต่ไม่ได้ต่อเชื่อมกับเครื่องยนต์ จึงเป็นที่ไปที่มาของปัญหาในวันนี้” ประธาน กมธ.คมนาคม วุฒิสภา กล่าว
“ฟอกรถ-ล้างเล่ม” อีกวิธียอดนิยม
นอกจากการแยกชิ้นส่วนนำเข้ามาแล้ว ยังมีวิธีอื่นๆ ในการลักลอบนำรถหรูเข้ามาแบบหลบเลี่ยงภาษี เช่นตามพื้นที่ชายแดนบางแห่ง มีการขับรถเข้ามาในรูปแบบนักท่องเที่ยว แต่ทิ้งรถไว้ไม่นำกลับไปด้วย หรือไม่ก็ใช้วิธีนำรถเข้ามา จากนั้นแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทำการยึดของกลางไว้ แล้วค่อยมาตามประมูลเพื่อนำไปขายทีหลัง ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักเล่นรถหรู ว่ากลุ่มผู้ทำการประมูลจะ “แบ่งพื้นที่” ในการทำงาน ไม่ประมูลข้ามถิ่นกัน จึงทำให้ไม่มีการแข่งขันและขัดแย้งกันเกิดขึ้น
“บางทีการลักลอบแบบถูกกฎหมายก็มีนะ อย่างภาคใต้นี่มีประจำ คือให้กรมศุลกากรจับ อาจจะมีผู้แจ้งเบาะแสเพราะมีรางวัลนำจับ ประมาณสัก 50 เปอร์เซ็นต์ การฟอกรถโดยผ่านศุลกากร มันมีกระบวนการนำรถจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาให้จับกุม แล้วกรมศุลกากรก็เก็บรถของกลางไว้ เมื่อครบเวลาก็จะมีการประมูล”
คุณเกชา อธิบายถึงวิธีการฟอกรถให้ถูกกฎหมาย โดยยกตัวอย่างรถแวนอย่าง Toyota Estima ราคาประมูลจะอยู่ที่ราวๆ 1.6 ล้านบาท แต่ถ้าซื้อที่ต่างประเทศ ราคาจะอยู่ราวๆ 4-5 แสนบาท ทั้งนี้เมื่อการประมูลเสร็จสิ้น ผู้ซื้อชำระเงินในราคา 1.6 ล้านบาทแล้ว รัฐจะได้เงินคืนราวๆ 8 แสนบาท เท่ากับได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะต้องจ่ายอีกครึ่งหนึ่งให้ผู้แจ้งเบาะแสและชุดจับกุมด้วย
ขณะที่คุณราฆพ ก็ยอมรับเช่นกันว่ารถที่ถูกจับกุม บางส่วนเข้าข่ายการฟอกรถผ่านการประมูลจริง ซึ่งก็ต้องทำการกักรถไว้อย่างน้อย 1-2 ปี อย่างไรก็ตามพบว่าปัจจุบันกรรมวิธีดังกล่าวได้ลดลงไปมากแล้ว และยืนยันว่ารถที่ตรวจยึดได้ทุกวันนี้ ร้อยละ 70-80 เป็นการจับจริง ไม่ใช่การฟอกรถอย่างที่ตั้งข้อสังเกตกัน
“ถ้าเราดูพฤติกรรมแต่ละคดีที่จับ ถ้าหากทำงานตรงนี้มานานๆ ก็จะทราบว่านี่เป็นการจับจริงหรือเอารถมาฟอก เราก็พยายามไม่ให้รถเหล่านั้นออกมาสู่ตลาดได้โดยเร็วหรือโดยง่ายนัก ซึ่งกรมศุลกากรก็จะมีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา เพราะรถเก็บไปสักปีนึง ความเสื่อมต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น ก็ทำให้ราคาลดลง
แต่ผมขอยืนยันว่าในส่วนกรมศุลกากรฟอกรถไม่ได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ศุลกากรจับ เพราะเขาจะได้สินบนนำจับ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรางวัลที่เหลือจะถูกแบ่งคนไปเยอะ เท่ากับจะได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของราคารถ ทำให้ไม่คุ้มกับการลงทุน เขาไม่ได้กำไรครับ” รองอธิบดิกรมศุลกากร กล่าวยืนยัน
นอกจากการฟอกรถแล้ว ผู้ค้ารถจดประกอบบางรายยังใช้วิธีการ “ล้างเล่ม” เช่นจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกว่าเป็นรถใช้ก๊าซ LPG หลังจากที่ได้เอกสารรับรองแล้ว เวลาผ่านไปสัก 2-3 เดือน ก็ทำการเปลี่ยนแปลงให้ใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งในขั้นตอนนี้ เจ้าพนักงานก็จะขีดทับคำว่าก๊าซ LPG แล้วเขียนกำกับว่าใช้น้ำมันเบนซิน จากนั้นผู้ประกอบการก็จะทำการแจ้งเอกสารหายเพื่อขอเอกสารใหม่ ซึ่งก็จะเหลือเพียงคำว่าน้ำมันเบนซินเท่านั้น ไม่มีคำว่าก๊าซ LPG อีกต่อไป
ซึ่งในประเด็นดังกล่าว นายณันทพงศ์ เชิดชู ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ชี้แจงว่าโดยปกติแล้ว ระเบียบการจดทะเบียนรถจดประกอบของกรมการขนส่งทางบกค่อนข้างรัดกุมมาก เช่นต้องถ่ายภาพช่างผู้ทำการตรวจสภาพคู่กับรถที่ทำการตรวจสภาพด้วย ทั้งนี้เน้นเป็นพิเศษไปที่การติดตั้งถังก๊าซ ที่ต้องมีการถ่ายภาพอุปกรณ์ในทุกขั้นตอนของการติดตั้งเสมอ
“โดยวิสัยของช่าง ช่างจะต้องรู้ว่าอันไหนติดแบบหลอกลวง อย่างถังก๊าซที่ติดตั้งโดยไม่มีสายรัด ไม่มีการเจาะร้อยน็อต อันนี้รับไม่ได้อยู่แล้ว วิสัยช่างเขาต้องแยกแยะออก แล้วถ้าถ่ายรูปมาหรือหลักฐานปรากฏว่าไม่มีรูร้อยน็อตกับถังเลย ชัดเจนว่ารถคันนี้ไม่เคยตรวจ ในการกำชับของกรมขนส่งทางบก หากพบว่ามีใครกล้าฝ่าฝืน ก็ถือเป็นความผิดส่วนบุคคล และถ้าจดทะเบียนใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ก็บังคับให้บันทึกในประวัติการจดทะเบียน ในเล่มทะเบียนด้วยว่าใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง เพื่อป้องกันการฟอกเล่ม หลังจากนี้คุณโอนย้ายไปไหน คำนี้ต้องอยู่”
คุณณันทพงศ์ ชี้แจงระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการตรวจสอบรถติดถังก๊าซ รวมทั้งเสริมว่า ปัจจุบันทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำลังแก้ไขระเบียบให้รถติดตั้งถังก๊าซต้องผ่านการตรวจสภาพด้วย เช่นเดียวกับรถที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง
นักเล่น “รถเก่า” ก็ต้องทำใจ
มีประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงเสมอ ตั้งแต่ที่ประกาศกระทรวงพาณิชย์ห้ามนำเข้าโครงตัวถังรถ เมื่อปี 2555 ซึ่งนอกจากเรื่องของปัญหาการแยกชิ้นส่วนรถหรูเพื่อเลี่ยงภาษีแล้ว ยังเป็นการป้องกันรถที่ไม่ได้มาตรฐานหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยด้วย ทำให้บรรดานักสะสมรถโบราณพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่าประกาศดังกล่าวมีลักษณะเอาผิดแบบเหวี่ยงแหมากเกินไปหรือไม่? อย่างไรก็ตาม คุณเกชา กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันสำหรับผู้ที่มีรถเก่า ยังสามารถนำเข้าอะไหล่อื่นๆ มาซ่อมแซมได้ เว้นแต่เพียงตัวถังเท่านั้น
“ในส่วนของรถโบราณ อุปกรณ์ที่เสียหายท่านสามารถนำอะไหล่เข้ามาซ่อมแซมได้ ยกเว้นโครงตัวถัง กระทรวงพาณิชย์ห้ามนำเข้าในเดือนกันยายน 2555 คือโครงตัวถังท่านไม่สามารถนำเข้าได้ เพราะมันเกี่ยวกับการนำรถมาจดประกอบ ท่านจะซ่อมชิ้นส่วนกระโปรงหน้ากระโปรงท้าย ซ่อมประตู ท่านดำเนินการได้”
ประธาน กมธ.คมนาคม วุฒิสภา กล่าวทิ้งท้าย ทั้งนี้ยังมีผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ว่าบรรดารถเก่าทั้งหลาย ที่ผ่านมาก็มีไม่น้อยที่หลีกเลี่ยง ไม่ยอมนำรถไปตรวจสภาพกับ สมอ. แต่ใช้วิธีสวมทะเบียนเพื่อลดค่าใช้จ่าย จึงถือว่าเป็นปัญหาสำคัญไม่น้อยไปกว่ารถหรูลักลอบนำเข้าแต่อย่างใด
ปัจจุบันคดีรถหรูไฟไหม้ ได้กลายเป็นคดีพิเศษ ที่มีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ กรมศุลกากร กรมการขนส่งทางบก กรมสรรพสามิต สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกรมสรรพากร โดยจะทำการตรวจสอบขั้นเร่งด่วนก่อน 548 คัน สำหรับรถที่มีมูลค่าตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป
ส่วนจะมีใครเข้าข่ายทำผิดกฎหมายบ้าง คงต้องรอผลการตรวจสอบ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 30 วันหลังจากนี้
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี