ณ เวลานี้ ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็จะเจอแต่คำว่า “เออีซี” (AEC) ที่หมายถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอยู่เต็มไปหมด เช่นในวงราชการมีการพูดกันเล่นๆ ว่างบประมาณจะได้รับอนุมัติเร็วเป็นพิเศษ หากเสนอโครงการที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน หรือในสถานศึกษา ธงชาติและรูปภาพของชุดประจำชาติสมาชิกอาเซียนกลายเป็นของประดับตกแต่งยอดนิยม ส่วนภาคเอกชนหลายๆ แห่ง ก็เร่งส่งเสริมให้บุคลากรของตนเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆ ในชาติอาเซียน เพื่อเตรียมคนของตนให้พร้อมหากต้องขยายกิจการไปยังประเทศดังกล่าว
ทว่าดูเหมือนความเข้าใจของคนไทย จะกลายเป็นอาเซียนเป็นเรื่องของเศรษฐกิจเท่านั้น ทั้งที่ยังมีอีก 2 ด้านที่สำคัญไม่ต่างกัน อย่างด้านการเมืองและความมั่นคง (APSC) กับด้านสังคมและวัฒนธรรม (ASCC) ซึ่งทั้ง 3 ด้านนี้ล้วนมีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน ไม่อาจแยกจากกันได้ เช่นเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเสถียรภาพและระบอบการเมืองที่เอื้ออำนวย หรือการเข้าไปประกอบธุรกิจ ก็ต้องเข้าใจสังคม วัฒนธรรม ขนบประเพณีของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อให้ธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น ขณะเดียวกันรากฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ก็กลายเป็นค่านิยม วิธิคิดของผู้คน ที่ส่งผลต่อรูปแบบการเมืองการปกครองของแต่ละประเทศเช่นกัน
ไม่นานมานี้ ที่งานประชุมวิชาการระดับชาติ “ประชากรและสังคม 2556” ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ “ประชากรและสังคมในอาเซียน : ความท้าทายและโอกาส” จัดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เชิญ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ขึ้นกล่าวปาฐกถา แสดงมุมมองเกี่ยวกับอาเซียน ซึ่งเราขอนำบางประเด็นที่น่าสนใจ มาให้ทุกท่านได้รับทราบกัน
“20 ปีที่แล้วเราเคยตื่นเรื่องโรคเอดส์ เราตื่นด้วยความหวาดกลัว ไม่ใช่ตื่นอย่างมีสติในการที่จะตั้งรับ ดังนั้น Message (ข้อความ) ที่สำคัญที่สุด อาเซียนมัน Complicate (ซับซ้อน) กว่าเอดส์เยอะ อาเซียนมันต้องการการตื่นตัวทั้งระบบของสังคมไทย ครู สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย พ่อแม่ผู้ปกครอง ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กระทรวงศึกษาธิการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องหันหน้าเข้าหากันและผนึกกำลังกัน เพื่อเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลง”
ถึงแม้จะกล่าวถึงเรื่องของอาเซียน แต่ ดร.สุรินทร์ กลับมองไปถึงทิศทางของประเทศไทย ที่จะปรับตัวเพื่อรับมือกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) เพราะต่อให้ไม่มีเรื่องของอาเซียน แต่โลกใบนี้ก็ยังมีกรอบเศรษฐกิจอื่นๆ เช่นองค์การการค้าโลก (WTO) ตลอดจนโลกที่ไร้พรมแดนจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการเดินทาง ขนส่งและสื่อสาร มีผลให้การเคลื่อนไหวของนักลงทุน และสภาพการจ้างงานมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก
อดีตเลขาธิการอาเซียน ยกตัวอย่าง กทม. และปริมณฑลเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ครั้งนั้นเต็มไปด้วยโรงงานทอผ้า ทว่าในปัจจุบัน กิจการทอผ้ากลับหายไปจากใจกลางของประเทศไทย แต่ไปโผล่ตามชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เช่นพม่า ลาว กัมพูชา หรือบางครั้งก็ย้ายเข้าไปในประเทศดังกล่าวเสียเลย เนื่องจากงานประเภทดังกล่าวคนไทยเริ่มไม่นิยมทำ จึงต้องอาศัยแรงงานต่างชาติเข้ามาอุดช่องว่าง นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นจุดอ่อนที่ล่อแหลม ในด้านสถานการณ์แรงงานของประเทศไทย
“อันหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนของเราแน่ๆ ก็คือแรงงานของเราแพงขึ้น คนของเราถอยออกมาจากงานบางชนิดมากขึ้น มหาชัยทั้งระบบแปรรูปอาหารทะเล อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีแรงงานต่างประเทศ เราตระหนักไหมครับว่าสมุทรสาครทั้งจังหวัดมีคนต่างด้าวมากกว่าคนไทย นี่คือสิ่งซึ่งเกิดขึ้น แต่อาเซียนมันมี Platform (กรอบนโยบาย) ให้ เพื่อที่จะมองปัญหาเหล่านี้ วิเคราะห์ปัญหาเหล่านี้”
ดร.สุรินทร์ กล่าว พร้อมทั้งเสริมว่า ที่ผ่านมาต้องเข้าไปทำให้คนไทยเห็นความสำคัญ ในการดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ เพราะหากปล่อยให้อยู่กันแบบตามมีตามเกิด ท้ายที่สุดอาจนำมาซึ่งปัญหามากมายกับคนไทยเอง ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากสุขอนามัยที่ไม่ดีของแรงงาน หรือลูกหลานแรงงานที่ขาดโอกาสทางการศึกษา อาจจะเติบโตขึ้นมาก่ออาชญากรรมได้เพราะไม่มีงานสุจริตที่รายได้พอเลี้ยงชีพทำ และคงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า แรงงานข้ามชาติเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจบางประเภทของไทย
ประเด็นต่อมา อดีตเลขาธิการอาเซียน ตั้งข้อสังเกตถึงคุณภาพของประชากรชาวไทย อันจะเห็นได้จากปัญหามากมาย เช่นพ่อแม่วัยใส ท้องไม่พร้อม ทำแท้ง เป็นภาพสะท้อนถึงความรู้ในด้านเพศศึกษา ที่ยังไม่ถูกให้ความสำคัญอย่างจริงจังเท่าที่ควร โดยกล่าวว่าเป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง ที่มนุษย์ไม่ว่าชายหรือหญิงต้องได้รับความรู้ในเรื่องนี้ ว่าหากมีความสัมพันธ์กันแล้ว พร้อมหรือไม่กับผลกระทบ (เช่นตั้งครรภ์) ที่จะตามมา
ซึ่งถ้าคำตอบคือไม่พร้อมจะรับผิดชอบ ก็ควรรู้และตระหนักถึงวิธีการป้องกันไม่ให้ผลกระทบนั้นเกิดขึ้น ทั้งนี้ยังได้ยกตัวอย่างผลงานของ นายมีชัย วีระไวทยะ เจ้าของตำนาน “ถุงมีชัย” เพราะสามารถรณรงค์ให้คนไทยหันมาใช้ถุงยางอนามัยในการคุมกำเนิดได้สำเร็จ ส่งผลให้อัตราการเกิดของประชากรไทยลดลงอย่างมากในช่วงไม่กิ่สิบปีที่ผ่านมา ทั้งนี้คุณมีชัย อาจถือได้ว่าเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่ทำให้เรื่องของเพศศึกษาไม่ใช่สิ่งที่น่าอายอีกต่อไป
อนึ่ง..ดร.สุรินทร์ มองว่าจุดแข็งของไทยคือการมีวัฒนธรรมแบบยืดหยุ่น ทำให้สามารถรับคติค่านิยมอื่นๆ ที่มีประโยชน์มาปรับใช้ได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้การสอนเพศศึกษาและการคุมกำเนิดดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะทุลักทุเลไปบ้างก็ตาม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศ เช่นอินเดียหรือฟิลิปปินส์ ที่วัฒนธรรมค่อนข้างแข็ง ทำให้การรณรงค์เรื่องการคุมกำเนิดและสุขอนามัยทางเพศเป็นไปได้ยาก ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ ขึ้นชื่อเรื่องสถิติการเกิดของประชากรที่ยังสูงมากในปัจจุบัน
หรือเรื่องที่วันนี้หลายฝ่ายเริ่มวิตกกังวล นั่นคือปัญหา “สังคมผู้สูงอายุ” เนื่องจากปัจจุบัน อัตราการเกิดของไทยนั้นต่ำเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน อยู่ที่แม่ 1 คน จะมีลูกเฉลี่ย 1.6 คน (สิงคโปร์มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในภูมิภาค โดยแม่ 1 คนจะมีลูกเฉลี่ย 1.2 คน) เท่ากับว่าคนรุ่นใหม่เกิดน้อยลง ขณะที่คนรุ่นเก่าอายุยืนยาว กลายเป็นคนชรากันมากขึ้น แน่นอนว่ามีผลต่อระบบการจัดเก็บภาษี อันหมายถึงรายได้หลักของรัฐในการนำไปจัดสวัสดิการสังคมต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทุกวันนี้รัฐบาลสิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือหลายประเทศในทวีปยุโรปกำลังปวดหัวมากกับปัญหาดังกล่าว
“ญี่ปุ่นในขณะนี้มีเทคโนโลยี ไม่ใช้ข้างในต้องออกไปข้างนอก ไปหาตลาดนอกประเทศ เพราะไม่จำเป็นแล้ว เขาจะสร้างรางรถไฟด่วนได้กี่ราง? เขาจะสร้าง Nuclaer Power Plant (โรงไฟฟ้านิวเคลียร์) ได้กี่โรง? ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาคิดได้ต้องส่ง เกาหลี (ใต้) กำลังทำในลักษณะเดียวกัน
ปัญหาของประเทศไทยคือ..เทคโนโลยีเราก็ไม่สร้าง การวิจัยเราก็ไม่ได้ลงทุน 0.18 เปอร์เซ็นต์ (ของงบประมาณประเทศ) เข้าไปสู่งานวิจัยไทย เมื่อเทียบกับเกาหลีเขาเกือบ 3 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งเรายังล้าหลังอีกหลายประเทศ”
อดีตเลขาธิการอาเซียน ชี้ให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ต่างกันของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจบางประเทศ ที่ให้ความสำคัญการค้นคว้าวิจัย จนนำมาสู่สินค้าเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งก็มีมูลค่าสูงไปด้วย และสินค้าเหล่านี้สามารถส่งออกเพื่อนำรายได้กลับเข้าไปเลี้ยงประชากรในชาติ ขณะที่บ้านเรากลับส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในสัดส่วนที่น้อยมาก นอกจากนี้ ยังย้ำอีกครั้งถึงทรัพยากรมนุษย์ชาวไทย ว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าแต่ละปีมีประชากรเกิดมาเท่าใด แต่สำคัญว่าแต่ละคนที่เกิดมานั้น สามารถพัฒนาให้กลายเป็นคนที่มีคุณภาพได้แค่ไหน
“อาเซียนทุกประเทศตระหนักเรื่องนี้ดี ว่าต่อไปนี้คนของเขาต้อง Productive (มีประสิทธิภาพ) มากยิ่งขึ้น คนของเขาต้องมี Multi-Functionalities (ทักษะในการทำงานที่หลากหลาย) มากขึ้น ทำได้หลายอย่างพร้อมกันมากขึ้น ไม่สอนให้เขาท่อง ไม่สอนให้เขาจำ ไม่สอนให้เรียนตามที่อาจารย์บอก แต่สอนให้วิเคราะห์ สอนให้เขาคิด สอนให้เขา Integrate (บูรณาการ) เพราะเขาต้องเตรียมตัวเข้าไปสู่โลกที่แข่งขัน” ดร.สุรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
จากมุมมองของอดีตเลขาธิการอาเซียน คงทำให้เห็นปัญหาบางอย่าง ที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยยังต้องเดินหน้าแก้ไขกันต่อไป โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุด คงหนีไม่พ้นภาครัฐ ในทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับแต่ละปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น
เพื่อทำให้ประเทศไทยของเรา เข้าสู่ประชาคมอาเซียน และประชาคมโลกได้อย่างไม่ต้องรู้สึกน้อยหน้าชาติใดๆ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี