วันพุธ ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / กีฬา
วิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน : ปอกะบิด...สมุนไพรไทยต้านเบาหวาน

วิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน : ปอกะบิด...สมุนไพรไทยต้านเบาหวาน

วันอาทิตย์ ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2558, 06.00 น.
Tag :
  •  

หากใครที่ชื่นชอบการใช้สมุนไพรและแวะเวียนไปตามร้านขายพืช-ผัก หรือสมุนไพรในขณะนี้ คงมีโอกาสได้เห็นสมุนไพรชื่อแปลกๆ ที่เรียกกันว่า “ปอกะบิด” หรือ “ปอบิด” วางขายอยู่ทั่วไป โดยมีการกล่าวอ้างสรรพคุณทางยาของพืชต้นนี้มากมาย เช่น ใช้รักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ลดน้ำหนักแก้เหน็บชา ชาปลายมือปลายเท้า ภูมิแพ้ ไทรอยด์ ปวดข้อเข่า หลัง รวมถึงไมเกรน บำรุงตับ ไต และใช้ได้ในโรคเรื้อรังทุกชนิดรวมถึงระบบของสตรี ด้วยวิธีการเตรียมที่ง่าย สะดวก โดยการต้มและมีรสชาติที่ดื่มง่าย ดังนั้นมีผู้คนจำนวนมากเริ่มสนใจ มีการบอกต่อ และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ในขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่ตั้งคำถามว่ามันใช้ได้จริงหรือ และปลอดภัยหรือไม่

ปอกะบิด ชื่อสามัญของปอกะบิด คือ East Indian screw tree ชื่อวิทยาศาสตร์ Helicteres isora L. จัดอยู่ในวงศ์ Sterculiaceae เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูงประมาณ 1-2 เมตร ลักษณะของลำต้นดูกลมเรียวอ่อนดูคล้ายเถา เปลือกนอกมีขน
สีน้ำตาล ใบเดี่ยวรูปไข่กว้าง ขอบใบหยัก เมื่อลูบผิวใบรู้สึกสากคาย ออกดอกปีละครั้ง ฝักปอกะบิดหรือส่วนของผลปอกะบิดจะเป็นฝักกลมบิดเป็นเกลียวคล้ายเชือกขวั้น มีความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว ผลอ่อนมีสีเขียวเมื่อแก่จัดจะเป็นสีดำแห้งด้าน พบปอกะบิดได้ทั่วไปทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และอินเดีย ในประเทศไทยเราสามารถพบปอกะบิดได้ทั่วไปทางภาคเหนือ
ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าเต็งรัง หรือที่รกร้างว่างเปล่า โดยมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ปอทับ (เชียงใหม่) มะบิด (ภาคเหนือ) ข้าวจี่ (ลาว) ปอบิด เป็นต้น


สรรพคุณปอกะบิด จากข้อมูลในตำรายาไทย ใช้เปลือกต้น และราก บำรุงธาตุ ผลใช้แก้บิด (สันนิษฐานตามรูปร่าง
ของผล) แก้ปวดเบ่ง (อันเนื่องมาจากบิด) ท้องเสีย ขับเสมหะ ตำพอกแก้ปวดเคล็ดบวม ในประทศอินเดียใช้ผลแก้ท้องเสียเช่นเดียวกัน และมีการทดลองพบว่าสารสกัดด้วยน้ำมีฤทธิ์ที่ดีในการยับยั้งเชื้ออีโคไล (E. coli) ที่เป็นเชื้อสาเหตุของอาการท้องเสียทั่วไป และให้ผลดีกับเชื้อ Salmonella typhimurium ซึ่งเป็นเชื้อสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระเพาะอาหารหรือลำไส้อักเสบอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีผลปานกลางต่อเชื้อไข้ไทรอยด์ (Salmonellatyphi) ซึ่งมีอาการไข้ร่วมกับท้องเสียอื่น และมีผลยับยั้งการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ถึงแม้งานวิจัยนี้จะสอดคล้องการใช้ในโรคท้องเสีย ขนาดที่ใช้ในคนก็ยังระบุไม่ได้ชัดเจนนัก

รายงานผลการวิจัย การศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของปอกะบิดในโรคอื่นที่น่าสนใจ ได้แก่ โรคเบาหวาน พบว่าสารสกัดน้ำจากผลปอกะบิดมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในหนูขาวที่ทำให้เป็นเบาหวาน และป้องกันไม่ให้ระดับไขมันสูงขึ้น ซึ่งมักพบตามมาหลังจากการเป็นเบาหวาน ฤทธิ์ของสารสกัดคล้ายกับยาไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide) การทดลองในเซลล์เพาะเลี้ยงพบว่า เพิ่มการขนส่งน้ำตาลเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อของหนู และเพิ่มการขนส่งน้ำตาลเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อกระบังลม แต่มีประสิทธิภาพน้อยกว่ายาเมทฟอร์มิน (Metformin) ที่ใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวานในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีการทดลองเหล่านี้แม้จะสรุปได้ว่าสารสกัดน้ำจากผลปอกะบิด น่าจะมีผลลดน้ำตาลในเลือดได้ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะระบุขนาดที่ใช้ ดังนั้นจึงยังไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนยารักษาเบาหวานได้จริง จำเป็นต้องมีการทดลองเพิ่มเติมต่อไปทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความเป็นพิษ เนื่องจากปอกะบิดไม่ใช่พืชอาหาร การทดลองเพื่อหาความเป็นพิษเมื่อใช้ระยะยาว (Chronic toxicity) เป็นอีกงานวิจัยที่สำคัญ

รศ.รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล ภาควิชาเภสัชพฤกษาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ได้ให้ข้อมูลว่า แม้จากรายงานการวิจัยพบว่า ปอกะบิดมีผลการรักษาเบาหวานสามารถลดน้ำตาลในหนูทดลองได้ใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบัน แต่ก็มีผลข้างเคียงสามารถทำลายตับหนู และเกิดการกระตุ้นหัวใจในกบได้ ดังนั้นแนะว่าประชาชนไม่ควรรับประทานสมุนไพรปอกะบิดติดต่อกันเกิน 7 วัน เพราะปริมาณสารเคมีจากสมุนไพรควบคุมได้ยาก โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีตับอ่อน ไต และหัวใจไม่แข็งแรง หากดูแลสุขภาพไม่ดีก็เสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนได้ และสำหรับการใช้ปอกะบิดรักษาโรคอื่นๆ ที่กล่าวอ้างถึงนั้น ยังไม่พบการวิจัยที่พิสูจน์ฤทธิ์ดังกล่าว อีกทั้งโรคเรื้อรังต่างๆ ที่กล่าวอ้างนั้น ไม่ได้มีข้อมูลการใช้แผนโบราณสนับสนุน ดังนั้นจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเลือกใช้

สรุปคือแม้ว่าสมุนไพรปอกะบิดจะมีสรรพคุณในการลดน้ำตาลได้ดีเทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน แต่ก็ยังเป็นข้อมูลที่ได้จากการทดสอบในสัตว์ทดลองเท่านั้น และที่สำคัญยังขาดข้อมูลการทดสอบด้านความเป็นพิษอย่างละเอียด โดยเฉพาะการเกิดพิษในระยะยาว รวมถึงอาจจำเป็นต้องมีการทดสอบขั้นคลินิก (clinical study) หากจะนำมาพัฒนาเป็นยารักษาเบาหวาน
ดังนั้นประชาชนไม่ควรรับประทานปอกะบิดติดต่อกันเรื่อยๆ เพราะอาจก่ออันตรายต่อตับและไตได้

ประไพภัทร คลังทรัพย์

ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมศาสตร์

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

(คลิป) ชำแหละ! 'นิรโทษกรรม ม.112' ฉบับ! 'พรรคประชาชน-เอ็นจีโอ'

'สุริยะ'รับมีงบกระจุกจริง แต่ยังไม่ได้อนุมัติ เหตุมีเอกสารคำขอไม่ตรงกัน

(คลิป) 'รัชดา ธนาดิเรก'คายเรื่องลับ ยุคลุงตู่!! เล่าหมดเปลือก ปมดราม่า

ชมสด! การออกผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2568

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved