การรักษาสุขภาพด้วยวิธีประหยัด เรียบง่าย และได้ผลดีคือการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับสภาวะของร่างกาย โดยปกติร่างกายคนเราเมื่ออยู่ในภาวะสมดุลไม่ร้อนเกิน ไม่เย็นเกินจะเกิดความสบาย แข็งแรง มีกำลัง กระฉับกระเฉง ฉับไวไม่ง่วงนอน ไม่อ่อนเพลีย กลางคืนหลับง่าย หลับสนิท เช้าตื่นง่ายไม่งัวเงีย และมีกำลังในการทำงานทั้งวัน
การที่ร่างกายมีภาวะเย็นเกินหรือร้อนเกิน ไม่ใช่หมายถึงอยู่ในห้องแอร์เย็นๆ หรือออกไปตากแดดร้อนๆ แต่หมายถึงการร้อนเย็นภายในร่างกาย คนที่นั่งทำงานในห้องแอร์เย็นฉ่ำอาจมีภาวะร้อนเกินได้ เนื่องจากอาหารการกินที่ไม่เหมาะสม อาหารรสจัด เผ็ดจัด เค็มจัด อาหารฟาสต์ฟู้ดไขมันสูง ของทอดต่างๆ ปิ้งย่าง ชาบู จิ้มจุ่ม กระทะร้อน ชากาแฟใส่คาราเมลวิปครีมหนาๆเค้ก ไอศกรีม บิงซู อร่อยล้ำแต่มีฤทธิ์ร้อนเกิน หวานเกิน ทำลายสุขภาพ และเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวานความดัน ไขมัน หัวใจ รวมถึงโรคมะเร็งด้วย
แต่หากรู้จักรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย เพื่อให้ร่างกายอยู่ในภาวะสมดุล ไม่เย็นเกินไม่ร้อนเกิน ร่างกายจะกลับมาแข็งแรงและสามารถต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ แต่ก่อนอื่นต้องสามารถวิเคราะห์ตนเองให้ได้ก่อนว่าร่างกายร้อนเกินหรือเย็นเกิน โดยสังเกต 2 กลุ่มอาการคือ อาการของภาวะร่างกายขาดสมดุลแบบร้อนเกิน เช่น ปวดหัว
ออกร้อนตามร่างกาย ผิวหนังมีผื่นปื้นแดง คัน ปวด บวม แดง ร้อนตาแห้ง แสบตา ปากแห้ง แตก ลอก มักเป็นร้อนในในช่องปาก เส้นเลือดขอด สิว ฝ้า กระ ผมหงอกก่อนวัย ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม ท้องผูก อุจจาระเป็นก้อนแข็ง เป็นต้น ส่วนผู้ที่มีภาวะขาดสมดุลแบบเย็นเกินมักมีอาการตัวเย็น หน้าซีด มือเย็น เท้าเย็นชาตามมือเท้าแขนขา เฉื่อยชาเชื่องช้า ตาแฉะ ขี้ตาเยอะ หนังตาบวมท้องอืด ปัสสาวะใสปริมาณมาก อุจจาระเหลวสีอ่อนถ่ายกะปริดกะปรอย เป็นต้น
ในปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ของไทยมักมีอาการขาดสมดุลร่างกายแบบร้อนเกิน เนื่องจากมีสภาวะที่เร่งรีบ กดดัน บีบคั้น เคร่งเครียด พักผ่อนน้อย ไม่ผ่อนคลาย ไม่ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารจำพวกแป้ง เนื้อสัตว์ ไขมัน ้ำตาล อาหารรสจัด เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไปแต่รับประทานอาหการจำพวกผักและผลไม้น้อยเกินไป จึงมักเกิดภาวะขาดสมดุล ดังนั้นเราควรมาเรียนรู้พืชผักและอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน-เย็น เพื่อปรับสมดุลร่างกายเรา ดังนี้
อาหารที่มีฤทธิ์เย็น สามารถลดอาการที่เกิดจากภาวะขาดสมดุลร่างกายแบบร้อนเกิน ได้แก่
-ผัก เช่น ย่านาง ใบบัวบก ผักหวาน ผักบุ้ง ตำลึง กะหล่ำดอก ผักกาดขาว ผักกาดหอม บร็อคโคลี่ ฟัก แฟง แตงกวา บวบ หัวไชเท้า มะเขือเทศ มะเขือเปราะ มะนาว
-ผลไม้ เช่น แตงโม แตงไทย แคนตาลูป แอปเปิ้ล ลูกแพร์ มังคุด สับปะรด ส้มโอ กระท้อน แก้วมังกร ชมพู่ มะม่วงดิบ
-คาร์โบไฮเดรต คือ ข้าวขาว ข้าวซ้อมมือ วุ้นเส้น
เส้นขาว เช่น เส้นเล็ก หมี่ขาว
-โปรตีนและธัญพืช คือ เต้าหู้ โปรตีนเกษตร เห็ดต่างๆ (ยกเว้นหลินจือร้อนมาก) ถั่วเขียว ถั่วขาว ถั่วเหลือง ถั่วชิกพี
ถั่วแระ ลูกเดือย
-เครื่องดื่ม เช่น น้ำย่านาง ใบบัวบก ใบเตย อัญชัน เก๊กฮวย มะนาว น้ำมะพร้าว เป็นต้น
อาหารที่มีฤทธิ์ร้อน สามารถลดอาการที่เกิดจากภาวะขาดสมดุลร่างกายแบบเย็นเกิน ได้แก่
-ผัก เช่น พริก ขิง ข่า ตะไคร้ ต้นหอม กระเทียม ผักชี พริกไทยขาว พริกไทยดำ กระชาย กะเพรา โหระพา ยี่หร่า ฟักทองสุก กุยช่าย คะน้า กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ถั่วพู ผักโขม ชะอม แครอท
-ผลไม้ เช่น ฝรั่ง ขนุน ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ น้อยหน่า สละ ส้มเขียวหวาน เสาวรส มะเฟือง มะขามป้อม มะม่วงสุก
เนื้อมะพร้าว
-คาร์โบไฮเดรต คือ ข้าวกล้อง ข้าวเหนียว ข้าวแดง ข้าวดำ (ร้อนมาก)
-โปรตีนและธัญพืช คือ เนื้อสัตว์ทุกชนิด (ปลา และสัตว์ทะเลจะร้อนน้อยหน่อย) งาขาว งาดำ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ถั่วแดง ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหินมพานต์ แอลม่อน แมคคาเดเมีย พิสตาชิโอ
-เครื่องดื่ม ที่มีฤทธิ์ร้อน คือ ชา กาแฟ โกโก้ นม เหล้า เบียร์
เมื่อทราบถึงอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน-ฤทธิ์เย็นแล้ว เราก็เลือกรับประทานให้เหมาะสมกับภาวะของร่างกายคือถ้าร้อนเกินก็กินอาหารฤทธิ์เย็น งดอาหารฤทธิ์ร้อน เย็นเกินก็กินอาหารฤทธิ์ร้อนเสริมเข้าไป เท่านี้ร่างกายจะปรับเข้าสู่ภาวะสมดุลไม่ร้อนเกินไม่เย็นเกิน หรือเรียกอีกอย่างคือ ไม่เป็นกรดเกิน ไม่เป็นด่างเกิน ร่างกายจะเริ่มแข็งแรง มีภูมิต้านทานต่อสู่กับโรคภัย สุขภาพจะดีขึ้นด้วยวิธีง่ายๆ คือการปรับเปลี่ยนอาหารการกินนั่นเอง
มนฑิณี กมลธรรม
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี