มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ผู้นำหญิงของอังกฤษ กับ ดักลาสริชาร์ด เฮิร์ด (คนขวาสุด) รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ที่ฮิลล์สโบโร่
ครบรอบ 31 ปี ของเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่สนามฮิลล์สโบโร่
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 1989 ทำให้มีแฟนฟุตบอลเสียชีวิตมากถึง 96 คน หลังจากมีการปล่อยให้แฟนบอลที่ไม่มีตั๋วเข้าสนามไปแบบไร้ความรับผิดชอบ ของเจ้าหน้าที่ เป็นเหตุให้แฟนบอลเบียดเสียดกันจนเกิดเหตุที่น่าเศร้าใจในครั้งนั้น
มูลเหตุต่างๆ ในวันนั้นเชื่อว่าหลายท่านคงจะรับทราบเรื่องราวต่างๆ เป็นอย่างดีกับการตีข่าวไปในช่วงวันสองวันที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน เหตุการณ์วันนั้น เป็นอีกครั้งที่ฟุตบอลต้องทำการ “ยกเลิก” การแข่งขันไปชั่วคราว และเปลี่ยนโฉมหน้าฟุตบอลไปตลอดกาล
ฟุตบอลยุติการแข่งขันไปเกือบครึ่งเดือน ก่อนจะกลับมาดวลแข้งกันอีกครั้ง ถือเป็นช่วง “ไคลแม็กซ์” ของซีซั่นที่ยังต้องลุ้นกันว่าใครจะเป็นแชมป์ฟุตบอลลีก และแชมป์เอฟเอ คัพ
...15 วัน เกิดอะไรขึ้นบ้างหลังเหตุการณ์ฮิลล์สโบโร่
ฟุตบอลอังกฤษต้องยุติการแข่งขันกันเป็นการชั่วคราว เนื่องจากทุกคนเศร้าสลดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมันหนักหนาสาหัสกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
ก่อนหน้านั้น 4 ปี มี 2 เหตุการณ์นั่นคือ วันที่ 11 พฤษภาคม 1985 เกิดเพลิงไหม้ที่วัลเล่ย์ พาเหรด สนามของ “ไก่แจ้” แบร็ดฟอร์ด ซิตี้ ระหว่างเกมการแข่งขัน
ลินคอล์น มีผู้เสียชีวิตทันทีในสนาม 56 คน และบาดเจ็บ 265 คน
ภาพปกหนังสือโปรแกรมการแข่งขัน (MatchDay) ระหว่าง เอฟเวอร์ตัน กับ ลิเวอร์พูล เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 1989
อีก 18 วันต่อมา เกิดเหตุแฟนบอลลิเวอร์พูล ตีกับ แฟนบอลยูเวนตุส จนทำให้แฟนบอลชาวอิตาเลียนเสียชีวิต 39 คน ที่เฮย์เซลล์ สเตเดี้ยม กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ก่อนเกมนัดชิงยูโรเปี้ยน คัพ
บันทึกมาในครานี้ เหตุการณ์จากฮิลล์สโบโร่ มีความโหดร้ายกว่าที่คิด และความเลือดเย็นของมนุษย์ ที่น่ากลัวกว่าน้ำมือมัจจุราชด้วยซ้ำไป!!!
48 ชั่วโมง หลังเกิดเหตุ ดักลาส ริชาร์ด เฮิร์ด รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ประกาศออกมาว่ามีแนวคิดที่จะออกกฎหมายฉบับใหม่ด้วยการรื้อ “สแตนด์ยืน”ออกจากทุกสนามของวงการฟุตบอลอังกฤษ
ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ความคิดนี้ก็ประสบความสำเร็จ
ขณะเดียวกัน สมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือเอฟเอ ได้ประกาศว่า ลิเวอร์พูล กับ ฟอเรสต์ จะกลับมาเตะกันใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 7 พฤษภาคม โดยเลือกสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ดใช้ในการแข่งขัน ท่ามกลางกระแสเรียกร้องว่า “ให้ยกเลิก”การแข่งขันเอฟเอ คัพ ปีนี้ไปเลย!!!
ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นรายที่ 95 ในวันที่ 18 เมษายน เมื่อ ลี นิโคล วัย 14 ปี เสียชีวิตที่โรงพยาบาล หลังจากทนพิษบาดแผลไม่ไหว ขณะเดียวกันมีถึง 6 คน
ที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง เพราะขาดออกซิเจนเป็นเวลานานเกินไป อยู่ในอาการที่ไม่สู้ดีเท่าไหร่นัก
มาถึงวันที่ 19 เมษายน พาดหัวข่าวของ “เดอะ ซัน” กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงไปทั่ว และเป็นชนวนเหตุของความขัดแย้ง และมีผลต่อ “รูปคดี”
นักเตะเอฟเวอร์ตัน กับ ลิเวอร์พูล ยืนไว้อาลัย ให้กับแฟนฟุตบอล ณ กูดิสัน พาร์ค
“The Truth” คือคำที่ “เดอะ ซัน” พาดหัวข่าว
ในข่าวระบุเอาไว้ว่า แฟนบอลคือคนผิด ทั้งการดื่มสุราเมาอย่างหนัก, การปัสสาวะรดศพ, หลายคนติดคดีอาชญากร, ขโมยของจากผู้ตายและผู้บาดเจ็บ แม้กระทั่งมีการบอกว่ามีการพยายามจะล่วงละเมิดทางเพศศพด้วยซ้ำไป!
ไม่น่าเชื่อว่า รัฐบาลอังกฤษ ในยุคของ มาร์กาเร็ตแทตเชอร์ มีท่าทีที่เชื่อมั่นและให้การสนับสนุนข้อมูลหนังสือเดอะ ซัน และจากตำรวจเซาท์ ยอร์คเชียร์ ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งโจมตีว่าแฟนบอลลิเวอร์พูล คือต้นเหตุของเหตุการณ์ครั้งรุนแรงหนนั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ไม่เพียงแต่ “เดอะ ซัน” ที่กลายเป็น“เดอะ ส้วม” ในกาลต่อมา เมื่อความจริงปรากฏ
กว่าที่ทุกอย่างจะจบได้ ก็จากรายงานสรุปเหตุการณ์กว่า 400 หน้า เปิดเผยต่อสาธารณชน เมื่อวันพุธที่ 12 กันยายน 2012 ใจความสำคัญอยู่ที่หน้า 394 ระบุว่า
เจ้าหน้าที่ตำรวจและนักการเมืองได้โยนความผิดผู้เสียชีวิต ซึ่ง เดวิด คาเมร่อน ผู้นำอังกฤษในยุคต่อมา กล่าวขอโทษกับความ “อยุติธรรม” ที่ได้รับรู้ข้อมูลที่ผิดๆ มาโดยตลอดกับครอบครัวที่สูญเสียจากฮิลล์สโบโร่
“เดอะ ซัน” ขอโทษบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าวันที่ 13 กันยายน 2012 ระบุว่า รายงานเรื่องโศกนาฏกรรมฮิลล์สโบโร่ เป็นวันที่มืดมิดที่สุดในประวัติศาสตร์ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้อย่างไม่ต้องสงสัย
ในปี 2016 คณะลูกขุนได้มีมติสรุปให้แฟนบอลลิเวอร์พูล 96 ราย ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร เมื่อปี 1989 นั้น เป็นการเสียชีวิตโดยมิชอบทางกฎหมาย และมีสาเหตุมาจากความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
การไต่สวนต้องใช้เวลาเพิ่มเติมจากการ “สารภาพบาป” เมื่อปี 2012 ก่อนจะมีการตัดสินในปี 2017 รวมระยะเวลารออีกถึง 5 ปี มีการดำเนินคดี 6 เจ้าหน้าที่คือ เดวิด ดัคเคนฟิลด์, เซอร์นอร์แมน เบตติสัน, เกรแฮม แม็คเรลล์, โดนัลด์ เดนตัน, อลัน ฟอสเตอร์ และปีเตอร์ เม็ตคาล์ฟ
เท่ากับว่าคดีนี้ใช้เวลายาวนานมากๆ โดยผู้นำอังกฤษนับตั้งแต่เรื่องเกิดคือ แทตเชอร์, ยอมรับในรุ่นของ คาเมร่อนและมาถึงบทสรุปยุคของ กอร์ดอน บราวน์
ย้อนกลับไปที่ปี 1989 ในตอนนั้น สื่อระดับประเทศอย่าง “เดลี่ สตาร์” กับ “เดลี่ เมล์” รวมถึงหนังสือพิมพ์ระดับภูมิภาคหลายๆ ฉบับ ก็เขียนออกมาใกล้เคียงกับ “เดอะ ซัน” อีกด้วย...
ความเจ็บปวดยังคงดำเนินอยู่ วันที่ 28 เมษายน แฟนบอลลิเวอร์พูล จำนวน 25 ราย ได้ถูกส่งกลับมาจากเบลเยียม หลังจากคดีเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เฮย์เซลล์ เมื่อปี 1985
ตั๋วเข้าชมเกมการกุศลระหว่าง เซลติก กับ ลิเวอร์พูล ที่หาเงินช่วยเหลือผู้ประสบพิบัติภัย
จากนั้นในวันที่ 30 เมษายน ลิเวอร์พูล ยกทีมเดินทางไปยังกลาสโกว์ เพื่อลงเตะเกมนัดการกุศลที่สนามพาร์คเฮด กับ “ม้าลายเขียวขาว” กลาสโกว์ เซลติก ผลสกอร์ออกมาที่ลิเวอร์พูล กำชัย 4-0 ท่ามกลางแฟนบอลถึง 60,000 คนที่เข้าร่วม พร้อมกับได้เงินถึง 500,000 ปอนด์ เพื่อนำไปบริจาคให้กับกองทุนพิบัติภัยฮิลล์สโบโร่
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า เกมอย่างเป็นทางการที่ ลิเวอร์พูล กลับมาลงสนาม นั่นก็คือการโคจรมาดวลแข้งกับ เอฟเวอร์ตัน พอดิบพอดี!!!
คู่ปรับคู่รักคู่แค้นร่วมเมอร์ซี่ย์ไซด์ พบกันที่กูดิสัน พาร์ค 3 พฤษภาคม 1989
ผู้เล่นทั้งสองทีมเดินออกมาพร้อมกันเหมือนนัดชิงชนะเลิศ แล้วมายืนกันที่กลางสนาม
แฟนบอลทั้งสองทีมลุกขึ้นยืนปรบมือยาวนานเป็นนาที
กัปตันทีมของเอฟเวอร์ตัน คือ เควิน แรทคลิฟฟ์ฝั่งลิเวอร์พูล คือ รอนนี่ วีแลน
โคลิน ฮาววี่ย์ กุนซือของเอฟเวอร์ตัน กับ เคนนี่ ดัลกลิชกุนซือลิเวอร์พูล เดินนำทัพออกมา
จากนั้นทั้งสองทีมยืนไว้อาลัยกันที่กลางสนาม
ลิเวอร์พูล กับ เอฟเวอร์ตัน มันจะอยู่เคียงข้างกันเสมอและฟุตบอลกลับมาลงสนามอีกครั้ง
“แฟนฟุตบอล” กับ “ความถูกต้อง” ไม่มีวันตายไปจากความทรงจำ!!!
บี แหลมสิงห์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี