รางวัล “หญ้าสวย” ปีนี้ออกจากรังผี มาอยู่ที่เล้าไก่
เรื่องคลาสสิก ที่บางคนมองเป็นเรื่อง “ชวนหัว” นั่นก็คือ “รางวัลหญ้าสวยพรีเมียร์ลีก”
ทุกๆ ปีมีการมอบรางวัลให้กับทีมในพรีเมียร์ลีก ที่สามารถดูแลสนามตัวเองให้ดี นั่นก็คือ ตำแหน่งยอดทีมหญ้าสวยแห่งปี หรือ Premier League Grounds Team of the Season
ตำแหน่งนี้สำหรับคนทำงานที่ดูแลสนาม ก่อนและหลังนั้นถือว่า ทรงเกียรติ เป็นอย่างมาก
ซีซั่นนี้เป็นของ “ไก่เดือยทอง” ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ที่ครองแชมป์ซีซั่น 2021/22 ซึ่งถือว่า ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
สนามนี้มี ดาร์เรน บอลด์วิน เป็นหัวหน้าฝ่ายพื้นผิวการเล่นและเอสเตทส์ ทำงานกับ เวย์น บิลลิ่ง ในฐานะผู้จัดการ และทีมงานของพวกเขาได้จัดเตรียมพื้นผิวสนามที่บริสุทธิ์ สำหรับการแข่งขันในฤดูกาลนี้ เฉพาะ พรีเมียร์ลีก ก็การันตีแล้ว 19 เกม แถมยังได้จัดการสนามไม่ใช่แค่ฟุตบอลอย่างเดียวเท่านั้น
ที่นี่ใช้ในศึกอเมริกัน ฟุตบอล เอ็นเอฟแอล เดือนตุลาคม และการชกมวยระหว่าง แอนโธนี่ย์ โจชัว กับ โอเล็กซานเดอร์ อุซิค เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
จากนั้นยังโปรแกรมการจัดรักบี้ลีก ชาลเลนจ์ คัพ รอบชิงชนะเลิศในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ และเตรียมจัดคอนเสิร์ตครั้งแรก กับ Guns N’ Roses และ Lady Gaga ในเดือนกรกฎาคม
ดังนั้นรางวัล “Grounds Team” จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ไม่เพียงแต่สำหรับการทำงานของพวกเขาตลอดเวลา เพื่อให้พื้นผิวสนามในการเล่นไม่มีที่ติ แต่ยังรวมถึงวิธีที่ทีมงานจะต้องปรับเปลี่ยนและใช้วิธีการบุกเบิกในสนาม “พรมไฮบริด” หรือ “hybrid carpet” อีกด้วย
“นี่เป็นรางวัลอันทรงเกียรติอย่างมากในอุตสาหกรรมของเรา และมันมีความหมายอย่างมากต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง” ดาร์เรน บอลด์วินกล่าว “ทำไม? เป็นเวลานานมาแล้ว เราได้แชมป์สนามครั้งสุดท้ายในปี 15 ปีก่อน และการชนะด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้ ด้วย พรมไฮบริด’
“เราได้เห็นงานบุกเบิกที่นี่ มันเป็นตัวเปลี่ยนเกมอย่างแท้จริง ผมแน่ใจว่าสถานที่อื่นๆ จะทำตามพิมพ์เขียวของเราในไม่ช้า งานที่ลงรายละเอียดเข้าไปไม่ควรมองข้าม ตัวอย่างเช่น สนามของเราปลูกในเรือนเพาะชำหญ้าใกล้กับลินคอล์น เราไม่ได้ทุ่มเทนะ แต่เราอุทิศตัวเพื่องานของเราโดยแท้
“รางวัลนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึง เวย์น บิลลิ่ง ผู้จัดการของเรา ซึ่งทำงานประจำวันที่สนามกีฬาและทีมของเขา สำหรับการทำงานหนักทั้งหมดที่พวกเขาได้ทำ มันเป็นเส้นทางที่ยาวนาน และยากมาก เรากำลังเรียนรู้ต่อไป แต่เรานำเทคโนโลยีมาใช้และการไปถึงที่ที่เราอยู่ทุกวันนี้ ซึ้งมีความหมายทุกอย่าง”
จุดที่น่าสนใจก็คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญมาก ทำให้ สเปอร์ส ติดอันดับตารางความยอดเยี่ยมของพื้นสนามของพรีเมียร์ลีก ในระดับท็อป เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ยิ่ไปกว่านั้น ในสนามฝึกซ้อม Hotspur Way ที่เอนฟิลด์ ก็จะใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด
“สนามจะถูกปรับปรุงใหม่ทุกปี เมื่อจบซีซั่น เราจะเอาพื้นผิวออกอีกครั้ง และเราจะรีไซเคิล เรานำทรายออก, รีไซเคิลพลาสติก ความยั่งยืนนั้นสำคัญมากสำหรับเราในฐานะสโมสร ทั้งที่สนามแข่งและศูนย์ฝึกอบรมของทีม
“ตัวอย่าง คือ เมื่อปรับปรุงสนามที่ Hotspur Way หญ้าที่หายไปทั้งหมด เราจะนำไปทำปุ๋ยหมัก และเรานำทรายทั้งหมดกลับมาใช้ใหม่ในโครงการจัดสวน แนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นส่วนสำคัญในสิ่งที่เราทำ หากเราทำที่ สเปอร์ส เราทำอย่างถูกต้อง เรานำไปสู่ความยั่งยืน และผมภูมิใจมากที่สโมสรและทีมของผมที่ทำให้เราเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่าที่เราจะทำได้”
ขณะที่เรื่องเทคนิกการก่อสร้าง และรักษาพื้นผิวสนามท็อตแน่มฮ็อทสเปอร์ สเตเดี้ยม นั้น ดาร์เรน ระบุว่า นานมาแล้วในปี 2014 เรามองว่าการออกแบบสนามจะเป็นอย่างไร เมื่อสนามของเราเลื่อนได้ และวิธีที่เราเอาชนะความท้าทายที่มาพร้อมกับมัน สนามเดิมของเราคือ ไวท์ ฮาร์ท เลน ผมมั่นใจว่าแฟนๆ จะจำได้ มีระบบระบายน้ำแคมเบอร์แบบเก่า อย่างไรก็ตาม สนามที่สนามกีฬาแห่งใหม่จะต้องราบเรียบทั้งหมดเพื่อให้เราสามารถเลื่อนไปใต้สแตนด์ฝั่งทางทิศใต้ได้ด้วย
“ผู้คนจะได้ยินคำว่า “ไฮบริด” และสนามไฮบริดเป็นแบบกึ่งเทียม สนามไฮบริดส่วนใหญ่มีเกลียวพลาสติกที่เย็บลึกแปดนิ้วและเป็นฐานที่มั่นคงสำหรับปลูกหญ้า ที่สนามกีฬาแห่งใหม่ เราจำเป็นต้องหาสนามรูปแบบใหม่ เนื่องจากความทะเยอทะยานของเราที่จะจัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดช่วงฤดูร้อน ดังนั้น เราจึงไม่ได้พัก 8 สัปดาห์อย่างที่คุณเห็นในสนามฟุตบอลทั่วไป”
ดาร์เรน ระบุว่า ตอนที่คิด “พรมไฮบริด” ขึ้นมา เรามีส่วนรองรับใต้ความสูงของเส้นพลาสติก 40-50 มม. ทำให้เราสามารถปลูกมันนอกไซต์ได้ที่ฟาร์มสนามหญ้าในลินคอล์น ตอนที่เราเก็บหญ้า เราต้องม้วนให้หนาขึ้น 40 มม. แล้ววางสนามหญ้าใหม่อีกครั้งในสนามกีฬา เมื่อคุณจัดวางเรียบร้อย คุณจะสามารถลงเล่นในวันถัดไปได้ทันที
สเปอร์ส กลายเป็นทีมที่ดูแลรักษาพื้นผิวสนามดีที่สุดในพรีเมียร์ลีก
“เรามีความท้าทาย ในการทดสอบสนามนัดแรก เพราะสนามค่อนข้างลื่น ผมจำเหตุการณ์ในเกมทีมยู-18 ของเรากับเซาแธมป์ตัน ผมประหม่าเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เราเชื่อในระบบนี้ มันเกือบจะเป็น “เครื่องหมายอันดับหนึ่ง” ซึ่งเราเป็นผู้บุกเบิก เราทำงานอย่างหนักกับพันธมิตรทั้งหมดของเราเพื่อให้แน่ใจว่าเรามีระบบที่เหมาะสมกับฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อให้มีความมั่นใจในการเล่นรักบี้ จัดกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย”
ดาร์เรน ระบุว่า คำถามที่ว่า “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าฝนตกระหว่างเล่นรักบี้” แต่คำตอบก็ชัดเจน โครงสร้างที่ทันสมัยของพื้นผิว ทำให้สามารถดูดน้ำออกจากพื้นผิวได้ มันเป็นพื้นผิวการเล่นที่ไฮเทคที่สุด และเรานำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อไปที่นั่น ตัวอย่างเช่น เมื่อเรามีเกม NFL เมื่อเดือนตุลาคม สนามอยู่ใต้สแตนด์ทางฝั่งใต้เป็นเวลาสองสัปดาห์ นั่นเป็นเรื่องที่ท้าทายเช่นกัน แต่เราได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรของเราในด้านการให้แสงสว่าง การให้น้ำ, วิธีที่เราตัดหญ้าในสนาม ซึ่ง เวย์น และทีมงานได้ทำงานอย่างมหัศจรรย์มากในการรักษาความสมดุลย์เอาไว้ เราดูแลมันทุกชั่วโมง ตั้งแต่ตี 5 ถึง 20.00 น. ทำการตรวจสอบเป็นประจำ โดยเฉพาะอุณหภูมิของดิน
เมื่อเรามองเห็นจุดนี้ จะเห็นได้ว่า ทีมงานของสเปอร์ส ทุ่มเท และอุทิศตนอย่างเต็มที่การทำงานหนักตลอดทั้งปี นั่นเป็นเหตุผลที่รางวัลนี้มีความหมายมาก
ซึ่งประเด็น “เรื่องหญ้าเรื่องใหญ่” เคยเกิดขึ้นแบบใหญ่โตมากๆ หลังจากจบเกมยูโรป้า ลีก วันแดงเดือด ระหว่าง ลิเวอร์พูล กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่แอนฟิลด์
อังเดร เอร์ราร่า กองกลางของแมนฯ ยูไนเต็ด บ่นยับว่า พื้นหญ้าที่สนามแอนฟิลด์ ย่ำแย่สุดๆ ทำให้การเล่นของพวกเขาเป็นไปอย่างยากลำบาก
โดยก่อนหน้านั้น ซีซั่น 2014-15 มีการมอบรางวัล “ทีมดูแลสนามดีเด่นแห่งพรีเมียร์ลีก” ปรากฏว่า ทีมดูแลแห่งโอลด์ แทรฟฟอร์ด ได้รับรางวัลนี้ไปครองร่วมกับ “ปืนใหญ่” อาร์เซนอล
ทีมดูแลสนามของ แมนฯยู นำโดย โทนี่ ซินแคลร์ ต้องทำงานแข่งกับเวลามาโดยตลอดในการดูแลรักษาสภาพผืนหญ้าที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการแข่งขันในแต่ละนัด
ในการทุ่มเททำงานของทีมงานที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด แสดงให้เห็นถึง “คุณภาพ” ของพื้นผิวสนาม ที่มีคุณภาพที่สุดยอดเช่นเดียวกับสนามเอมิเรตส์ สเตเดี้ยม ของอาร์เซนอล
ทำให้ท้ายที่สุดทั้ง 2 สนาม ได้รับรางวัลเหนือทีมอื่นๆ ในบรรดาสโมสรในระดับลีกสูงสุด จากการโหวตโดยสถาบันสปอร์ตส เทิร์ฟ รีเสิร์ช
ผืนหญ้าที่ดูสวยเรียบเรียน หลายคนคงเคยได้ยินถึง “หญ้าพาสพาลั่ม” ซึ่งเป็นหญ้า เกรด AAA+ จากออสเตรเลีย ที่นำมาในถิ่นผี
ปรากฏว่า โอลด์ แทรฟฟอร์ด ใช้พัฒนาการสมัยใหม่ของพื้นสนามที่เรียกว่า “เดสโซ่”
“เดสโซ่” ซึ่งเป็นพื้นผิวสนามที่ประกอบขึ้นจากพื้นหญ้าธรรมชาติผสมกับเส้นใยสังเคราะห์ เหมือนกับที่สนามนิว เวมบลีย์ ชามอ่างยักษ์ในลอนดอน รวมไปถึงสนามเอติฮัด สเตเดี้ยม ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ นำไปใช้เป็นเจ้าแรกๆ
“Desso GrassMaster” เป็นการปลูกหญ้ามาตรฐานสมัยใหม่ นิยมใช้กันอย่างมาก ซึ่ง เดสโซ่ เป็นส่วนผสมระหว่างเส้นใยสังเคราะห์กับหญ้าธรรมชาติ เส้นใยสังเคราะห์กว่า 20 ล้านเส้น จะถูกฝังดินลึก 20 เซ็นติเมตร เฉลี่ยแล้วจะกินพื้นที่ไม่เกิน 3% ของผิวสนามทั้งหมด จากนั้นก็ปลูกหญ้าจริงลงไป
มาตรฐานนี้ จะทำให้ “รากของหญ้า” ไปพันกับ “เส้นใยสังเคราะห์” จะทำให้ได้พื้นผิวที่เหนียวแน่นและทนกว่าหญ้าปกติถึง 3 เท่า
ไม่มีใครใช้หญ้าเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ค่อยมี ต้องใช้หญ้าแท้กับหญ้าเทียมผสมกัน
พรีเมียร์ลีก นิยมใช้เทคโนโลยีแสงประดิษฐ์ นวัตกรรมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ กันแพร่หลาย
ขณะที่ “แอนฟิลด์” ครั้งหนึ่งในอดีต มหาบุรุษ บิลล์ แชงคลี่ย์ ตำนานกุนซือหงส์ กล่าวเอาไว้ว่า “It’s great grass at Anfield, professional grass”
อันเนื่องมาจากยุคก่อนไม่มีใครจะเทียมเท่าการดูแลแห่งแอนฟิลด์ได้
อย่างไรก็ตาม ณ เวลานั้น ลิเวอร์พูล ไม่สามารถที่จะปรับปรุงในส่วนของพื้นสนามได้เป็นเวลาหลายปี บวกกับช่วงเวลาดังกล่าว กำลังมีการขยายสนามฝั่งเมนสแตนด์
การทำงานของ เฟนเวย์ น่าสนใจมากๆ เพราะทุกอย่างก้าวอย่างไม่เร็ว แต่ก้าวอย่างมีความแน่นอน
การปรับพื้นผิวของสนามนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเดือนมิถุนายน 2015 มีการวางแผนจาก บริษัท คาริลล่อน ผู้รับเหมาทำเมน สแตนด์ จะนำเครนเข้ามาทำงาน
อันที่จริง ก็สามารถจะวางระบบระบายน้ำใหม่ได้ก่อนที่จะนำเครนเข้ามาในสนาม แต่ด้วยข้อจำกัดน้ำหนักของเครน อาจส่งผลกระทบโดยตรงทำให้ ระบบระบายน้ำสูญเสียได้
ทำให้สิ่งที่แฟนบอลเห็นบ่อยๆ ก็คือ สภาพสนามที่มีรอยปะมากมายไม่เรียบเหมือนกับที่อื่นๆ
เนื่องมาจาก โครงสร้างที่ออกแบบไว้มีอายุการใช้งานนานถึง15 ปีแล้ว ทั้งที่ตอนแรกวางเอาไว้จะใช้เพียงแค่ 10 ปีเท่านั้น
คือถ้าจะต้องด่า ก็คงไม่พ้นไอ้สองปลิงมะกันอดีตเจ้าของทีมที่ไม่ทำอะไรสักอย่าง ยกเว้นเอาหนี้มาให้สโมสร แล้วสูบเงินกลับบ้านอย่าง ทอม ฮิคส์ และจอร์จ ยิลเล็ตต์ นั่นเอง
เราคงเคยเห็นภาพที่อยู่ๆ สปริงเกอร์ อยู่ๆ ก็พุ่งมาฉีดใส่แฟนบอลอยู่ 2-3 ที นั่นเพราะระบบระบายน้ำของแอนฟิลด์ ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1998
ระบบสปริงเกอร์กับสายยาง ยังเป็นแบบเก่า นอกจากนี้ก็ยังขาดแคลนระบบอุ่นพื้นสนามและไฟสังเคราะห์เพื่อให้กระตุ้นการเติบโตของหญ้า ซึ่ง เฟนเวย์ ได้สั่งเอามา และใช้ดูแลในแอนฟิลด์เป็นที่เรียบร้อยก่อนจะทำสนามใหม่
โดยปกติ ทีมใช้วิธีขุดหญ้าทิ้ง และปลูกใหม่ขึ้นมาในช่วงปิดซีซั่น เนื่องจากทีมประสบปัญหาหนี้สิน จนกระทั่ง ทีมมีกำไร ตั้งแต่ปี 2014 และเมื่อลืมตาอ้าปากได้ ก็ใช้ระบบ “เดสโซ่”
เวลานั้น ลิเวอร์พูล เริ่มต้นหญ้าแบบนี้ที่สนามซ้อมที่เมลวู้ด ได้สร้างพื้นสนามแบบนี้ไปแล้วเป็นการเบิกร่อง 2 สนาม และเมื่อเมนสแตนด์เสร็จสิ้น ก็ถึงคิวของแอนฟิลด์ ที่วางระบบใหม่ทั้งหมด และเปิดใช้มาตั้งแต่ซีซั่นแบบเต็มรูปแบบเมื่อซีซั่น 2017-18 เป็นต้นมา
ที่เป็นแบบนั้น เพราะสโมสรต้องจำใจยอมทนกับสภาพพื้นสนามที่ย่ำแย่ แต่ตอนนี้ให้คำมั่นที่ว่า “เราต้องรอ เพื่อแผนการคืนชีพที่ยิ่งใหญ่กว่า”
ดังนั้นการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์จึงสำคัญมากๆ โดยสนามส่วนใหญ่ในอังกฤษนั้นมีสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด เป็นแม่แบบ
ทุกวันก่อนมีเกมการแข่งขันที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด เจ้าหน้าที่จะตื่นตั้งแต่ตี 2 เพื่อดูกล้องวงจรปิดสภาพสนามจากที่บ้าน หากมีหิมะตกหรือสภาพอากาศไม่เป็นใจ เขาจะสามารถตัดสินใจเปิดเครื่องทำความร้อนละลายหิมะ หรือสั่งการให้ลูกทีมเร่งช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆได้ทันก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น
“เดสโซ่” อยู่ที่ทนต่อฝนฟ้าอากาศ และเสียหายยากกว่าเดิม
ขณะเดียวกันแทบจะทุกสนาม จะมีแสงไฟจากแท่นเครื่องส่องไฟ เพื่อเลียนแบบแสงแดดให้ใกล้เคียงที่สุด มันจะช่วยรักษาสถานะของสนามหญ้าในช่วงหลายเดือน เพราะหญ้ากลายเป็นหญ้าแห้งโดยปกติตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนเมษายน
นั่นคือ เทคโนโลยีแสงประดิษฐ์ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากประเทศเนเธอร์แลนด์
พูดง่ายๆ ดูแลหญ้าในสนาม ไม่น้อยไปกว่าลูกกันเลยทีเดียว
ดังนั้นเรื่องนี้ หาใช่เรื่องตลกไม่
แต่นี่คือเรื่องที่สนุก และท้าทายเป็นอย่างยิ่ง
อาชีพใคร อาชีพมันครับ
บี แหลมสิงห์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี