ร่างกายของคนเราต้องการการพักผ่อน ซึ่ง “การนอนหลับ” เป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดและเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับร่างกาย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เนื่องจากการนอนหลับทำให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ โดยปกติแล้วคนเราควรนอนหลับไม่น้อยกว่า 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ขึ้นอยู่กับช่วงวัยของแต่ละคน เมื่อตื่นขึ้นมาจะรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า แต่ในบางคนอาจจะรู้สึกว่านอนเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ รู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา บางครั้งอาจทำให้ผล็อยหลับโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณเตือนภัยจาก “โรคลมหลับ”ก็เป็นได้ โดยโรคชนิดนี้เป็นอย่างไร แล้วจะรักษาอย่างไร เรามาหาคำตอบพร้อมๆ กันค่ะ
โรคลมหลับ (Narcolepsy) คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการนอน ลักษณะอาการของผู้ป่วยจะมีอาการง่วงนอนตลอดเวลาและสามารถหลับได้ในช่วงเวลาต่างๆ อย่างผิดปกติ แม้ว่าจะนอนเพียงพอแล้วก็ตาม ซึ่งโรคลมหลับมักเริ่มมีอาการเมื่อมีอายุ 10-25 ปี โดยแต่ละคนจะมีความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยบางคนง่วงนอนอย่างมากในช่วงเวลากลางวัน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม เช่น ขณะทำงาน พูดคุย หรือแม้กระทั่งขับรถซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก และจะรู้สึกสดชื่นหลังจากการงีบหลับแต่จะรู้สึกง่วงอีกครั้งในระยะเวลาไม่นานนัก บางคนอาจมีอาการคล้ายการหลับ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการคอตก ขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างเฉียบพลัน หรือบางคนอาจมีอาการคล้ายผีอำ (Sleep Paralysis) คือไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายหรือส่งเสียงได้ทั้งขณะนอนหลับ หรือแม้กระทั่งตอนตื่น แต่ยังสามารถเคลื่อนไหวตาและหายใจได้ตามปกติ ซึ่งอาการนี้มักเกิดในระยะสั้นๆ หรือเกิดอาการประสาทหลอนได้ในขณะหลับหรือกึ่งหลับกึ่งตื่น (Hypnagogic Hallucination) เช่น เห็นภาพหลอนเป็นสัตว์ประหลาดหรือสิ่งที่น่ากลัวต่างๆ และมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ไม่มีสมาธิ ปวดศีรษะ ขี้ลืม ซึมเศร้า
สาเหตุของโรคลมหลับ ยังไม่สามารถบอกสาเหตุที่แน่ชัดได้ส่วนใหญ่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า ไฮโปเครติน(Hypocretin) ซึ่งสารตัวนี้เป็นสารที่ช่วยควบคุมการนอนหลับมีปริมาณต่ำลงผิดปกติ ทำให้เกิดการสันนิษฐานว่า การขาดสารไฮโปเครตินอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ ซึ่งภาวะที่ร่างกายมีปริมาณสารไฮโปเครตินต่ำลงอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย คือ ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ โดยมีภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันจะสร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านโปรตีนบางชนิดที่ถูกผลิตขึ้นมาจากสมองส่วนที่มีการสร้างสารไฮโปเครติน จึงอาจส่งผลให้สารไฮโปรเครตินมีปริมาณลดลง หรือผู้ป่วยบางคนมีปัญหาทางด้านสุขภาพ โดยทำให้มีความผิดปกติของสมองส่วนที่มีการสร้างสารไฮโปเครติน เช่น มะเร็งสมอง สมองอักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยทางด้านอื่นๆ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน ความเครียด การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนอนหลับอย่างเฉียบพลัน เป็นต้น ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติได้
การรักษาและการป้องกัน โรคลมหลับไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงได้ เพื่อทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดย
1) การใช้ยา
l ยากระตุ้น เป็นยาที่กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยให้ผู้ป่วยตื่นอยู่ตลอดเวลาในตอนกลางวัน แต่อาจทำให้มีผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปากแห้ง ได้
l ยากลุ่มเอสเอสอาร์ไอและกลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ โดยมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และภาวะประสาทหลอน ยานี้ยังมีผลข้างเคียง เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น บกพร่องทางเพศ ระบบย่อยอาหารผิดปกติได้
l ยากลุ่มไตรไซคลิก ช่วยบรรเทาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ แต่ก็มีผลข้างเคียงคือปากแห้งและวิงเวียนศีรษะได้
l ยาโซเดียมออกซีเบต มีประสิทธิภาพสูงในการบรรเทาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และยังสามารถช่วยเกี่ยวกับการนอนหลับในตอนกลางคืน ได้ดีมากขึ้น แต่อาจทำให้มีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ มีเหงื่อขณะนอนหลับและการละเมออาจมีความรุนแรงมากขึ้น
2) การปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม
l ตื่น-นอน ในเวลาเดียวกันในทุกๆ วัน
l ผ่อนคลายร่างกายก่อนเข้านอน
l หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน
l ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายก่อนนอน
l หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หากเกิดอาการขึ้นเช่น ขับรถ ทำอาหาร
ผู้ป่วยที่มีอาการโรคลมหลับอาจจะถูกมองว่าเกียจคร้านเพราะมีอาการนอนหลับได้ตลอดเวลา ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีโอกาสเกิดโรคอ้วนได้มากกว่าคนปกติ หรืออาจเกิดอุบัติเหตุได้เนื่องจากเกิดอาการหลับโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น ฉะนั้นจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ ต้องสังเกตอาการที่ผิดปกติเหล่านี้หากเกิดอาการควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุ วินิจฉัยโรคและทำการรักษาต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.nksleepcenter.com/what-is-narcolepsy/
https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/brain/narcolepsy-can-be-treated
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article
https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh
กองประชาสัมพันธ์
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี