แอฟริกาตอนเหนือ กับ ยุโรปใต้ ชื่ออาจจะอยู่ต่างขั้ว แต่ตามแผนที่โลกแล้ว “ติดกันโดยเจตนา” จากการรังสรรค์ของธรรมชาติ และคนที่เขียนขีดเส้นแบ่งของทวีปน่าสนใจว่า ฟุตบอลโลก รอบ 16 ทีม จะมี 3 ทีมที่อยู่ใกล้กันได้เขัารอบ และเตะในวันเดียวกันด้วย นั่นก็คือ โปรตุเกส จากยุโรปใต้ เจอกับ สวิตเซอร์แลนด์
แต่ที่ปะทะกันตรงๆ ก็คือ โมร็อกโก กับ สเปน
ระยะห่างจากเมนแลนด์ของ สเปน กับ โมร็อกโก วัดได้เพียงแค่ 14 กิโลเมตรเท่านั้นโดยมีทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กางกั้น และด้วยความที่ไม่ห่างกันตรงนี้ ย่อมมีอดีตที่ดีหรือขื่นขมซึ่งกันและกัน โดยเลี่ยงหลีกได้ยากมากๆ
ตัวอย่างเช่น “อันดาลูเซีย” ดินแดนแห่งวัฒนธรรมผสมผสาน และเป็นดินแดนยุโรปที่ได้รับอิทธิพลจากความร้อนมากกว่าแห่งหนใดในทวีปนี้เลยก็ว่าได้
เป็นแคว้นที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 1 และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในจำนวนแคว้นปกครองตนเอง 17 แห่ง ที่ประกอบขึ้นเป็นประเทศสเปน
เมืองหลวงชื่อว่า เซบีญ่า หรือเซวิลล์ นี่คือเมืองเก่าแก่ทางตอนใต้ของสเปน
ดินแดนเซบีญ่า มีเหล้าเชอรี่ชั้นดี, การสู้วัวกระทิง, รวมทั้งการเต้นระบำฟลามิงโก ล้วนแล้วแต่อยู่ที่เมืองนี้ จากการการผสมผสานเชิงวัฒนธรรม กล่าวคือ เซวิลล์ ถูกก่อตั้งโดย ฟีนิเชียน (Phoenicians) จากนั้น โรมัน ก็มาครอบครอง ต่อด้วย กองทัพมุสลิมของชาวมัวร์ หรือ “แขกมัวร์” ที่เราคุ้นเคย ผสมกลิ่นอายของไอบีเรีย ที่นี่คืออีกหนึ่งสถานที่บนโลกที่เปี่ยมไปด้วยความคลาสสิกของส่วนผสมที่ลงตัว
สถาปัตยกรรมมัวร์ เราจะเห็นได้ทั้งที่ สเปน และโปรตุเกส หลังจากสองชาตินี้เคยถูกปกครองโดยมุสลิม ระหว่างปี ค.ศ.711-1492
มัวร์ มาจากกคำภาษาละตินคือ “เมารี” ซึ่งผู้ที่มาจากดินแดนนี้โดยตรงก็คือพวกมอเรตานิอา มาวางรากสถาปัตยกรรมมัวร์เอาไว้ ที่มาของคนเหล่านี้คือ ประเทศโมร็อกโก ในปัจจุบัน
สถาปัตยกรรมอิสลามตะวันตก จึงเป็นความภาคภูมิใจของโมร็อกโก แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็เคยถูกกระทำจาก สเปน ที่เข้ามายึดพวกเขาพร้อมๆ กับการรุกรานของฝรั่งเศส
โมร็อกโก รอดพ้นเงื้อมมือของความเรืองอำนาจของ จักรวรรดิอ็อตโตมัน ที่มาตันที่แอลจีเรีย แต่เข้าไม่ถึงพวกเขา เช่นเดียวกับยุคค้าทาสแอฟริกันชน และการรุกเพื่อไล่ล่าอาณานิคม ส่วนใหญ่แล้ว โมร็อกโก สามารถบล็อกพื้นที่ภายในเอาไว้ได้ทั้งหมด ความร่ำรวยของพวกเขาทำให้เป็นที่หมายปองของ อังกฤษ, ฝรั่งเศส รวมถึงสองชาติที่อยู่ใกล้ๆ อย่าง โปรตุเกส และสเปน
ลงท้าย ฝรั่งเศส ทุบ แอลจีเรีย แตกกระเจิง และใช้เวลาอีก 14 ปีกำราบ โมร็อกโก ได้สำเร็จ ในปี 1844 ทำให้ต้องลงสนามสนธิสัญญาแทนเจียร์ เพื่อลมหายใจในเอกราช กระทั่งมาลงนามการค้ากับเจ้าแห่งทะเลในยุคนั้นอย่าง อังกฤษ ด้วยการมอบสิทธิพิเศษเสรีกับนานาชาติ เพื่อแลกกับเอกราช เมื่อปี 1856
การพ่ายแพ้ทั้งสองครั้ง โมร็อกโก ก็เจ็บปวดไม่น้อย แต่การถูก สเปน บุกมาถล่มเมื่อปี 1859 เป็นบาดแผลใหญ่ เพราะพวกเขาแพ้และทรัพย์สมบัติของประเทศเวลานั้นไม่พอต่อการจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ทำให้ต้องไปกู้หนี้ยืมสินจาก อังกฤษ มาจ่ายให้ สเปน
งานนั้น โมร็อกโก ต้องเสียทั้งเงิน เสียทั้งดินแดนบางส่วนไปให้กับสเปน
การพ่ายแพ้ครั้งนั้นมันทอดยาวมาอีกหลายทศวรรษ กระทั่ง อังกฤษ ล่าถอยจากดินแดนนี้ไปเอง ทำให้ สเปน กับ ฝรั่งเศส เรืองอำนาจในโมร็อกโก กระทั่ง ฝรั่งเศส รุกหนักและยึดดินแดนแห่งนี้อยู่ใต้อาณัติของตัวเองได้ตามสนธิสัญญาเมืองเฟส เมื่อปี 1912 จากนั้นฝรั่งเศส ลงสนามแบ่งดินแดนทางเหนือให้กับ สเปน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ อันดาลูเซีย และพื้นที่ทางตอนใต้บางส่วนที่พวกเขาเคยยึดซาฮาราตะวันตกมาก่อนหน้านี้
โมร็อกโก ภายใต้อารักขาของ ฝรั่งเศส มี ราบัต เป็นเมืองหลวง และโมร็อกโก ภายใต้อารักขาของ สเปน มี เตตวน เป็นเมืองหลวง...
ตามประวัติศาสตร์แล้ว เมื่อ สเปน ลงสนามได้ครอง โมร็อกโก ครั้งนั้น ช่วยให้สถานการณ์ของพวกเขาดีขึ้นมาก หลังจากพลาดท่าให้กับ สหรัฐอเมริกา เมื่อปล่อยให้ คิวบา ชาติที่ทำเงินให้เขาอย่างมากมายในเรื่องของน้ำตาล และอีก 3-4 เมือง
เสียทั้งแผ่นดิน เสียทั้งหน้าตาบนสังคมโลก ที่ตราหน้าพวกสแปนิชว่าเป็นแค่มหาอำนาจปลายแถว
แต่เป็นพวกมหาอำนาจแถวสอง
ท้ายสุดหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 การก่อตัวเพื่อเป็นเอกราชของ โมร็อกโก ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ และใช้เวลาเกือบ 10 ปี สุดท้ายแล้ว ทุกอย่างจบลงในเดือนเมษายน 1956
อย่างไรก็ตาม การเจรจาระหว่าง สเปน กับ โมร็อกโก ยังเหลือ เซวต้า กับ เมลีญ่า เอาไว้ แต่ให้ แทนเจียร์ มาผนวกกับ เตตวน และราบัต ก่อนที่ โมร็อกโก จะประกาศเอกราชในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน และสุลต่านโมฮัมเหม็ด ที่ 5 ขึ้นครองราชย์
อย่างไรก็ตาม ซาฮาร่าตะวันตก อยู่ในการดูแลของ สเปน จนถึงปี 1975 ก่อนจะกลับไปผนวกกับ โมร็อกโก
ขณะที่ในทุกวันนี้ดินแดน เซวต้า หรือ Ceuta ดินแดนในแอฟริกาเหนือของสเปน ที่เป็นจะงอยชี้ออกมาจากแผ่นดินโมร็อกโก กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกมองจากผู้แสวงหาชีวิตที่ดีกว่าจากหลายเมืองทั่วโมร็อกโก ว่า นี่คือแผ่นดินยุโรป ไม่ใช่แอฟริกา
สายสัมพันธ์สองชาตินี้จึงพันผูกกันจนถึงทุกวันนี้ และไม่มีใครคาดคิดว่า โลกของฟุตบอลจะได้เห็นคู่นี้ปะทะกันในรอบน็อกเอาท์ฟุตบอลโลก
โมร็อกโก ไม่แพ้ใครเลยในรอบแรกแบบหักปากกา ทั้งที่เปลี่ยนแปลงกุนซือก่อนการเตะจริงไม่นาน หลังจาก วาฮิด ฮาลิฮอดซิซ โดนปลด และแต่งตั้ง วาลิด เรกรากุย เข้ามาทำงานเมื่อ 31 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง
แถมสถิติในรอบคัดเลือก โดยเฉพาะในรอบแบ่งกลุ่ม รอบที่ 2 โซนแอฟริกา ตลอดทั้ง 6 นัด แทนที่จะได้เตะในบ้าน 3 นัด กลับได้เล่นในบ้านทั้งหมด เนื่องจาก กินี-บิสเซา, กินี และซูดาน เป็นเจ้าบ้านไม่ได้ทั้งเรื่องการเมือง บวกกับการระบาดของโควิด ก่อนจะอัดดีอาร์คองโก ได้ขาดลอยสกอร์รวม 5-2 ในรอบที่ 3 แบบเหย้า-เยือน
สำคัญก็คือผู้เล่นจะชนกันกับ สเปน ตรงๆ ในระบบ 4-3-3 แต่สไตล์การเล่นของ โมร็อกโก อาจจะเหมือนกับ สเปน นั่นคือเน้นการครองบอล และเพรสได้หนักหน่วงแต่เอาเข้าจริงนั้นยังห่างกันหลายขุม
แต่สิ่งหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นก็คือ สเปน กระดูกบอลของแผงมิดฟิลด์กำลังถูกท้าทาย เพราะเซร์คิโอ บุสเกตส์ เล่นแค่เอาตัวรอด ขณะที่สองดาวรุ่ง กาบี้ กับ เปดรี้ จะเจอกับสายเพรสหนักๆ ที่กำลังท็อปฟอร์ม
นี่เป็นอีกคู่ที่ทีมหนึ่งแพ้ก็ไม่เป็นไร แต่อีกทีมหนึ่งแพ้ไม่ได้
ไม่งั้นอาจจะกลายเป็น “มหาอำนาจแถวสอง” ของวงการฟุตบอล
บี แหลมสิงห์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี