ปิดฉากการดวลแข้งมาราธอน 17 วันของ “ฟุตบอลโลก ครั้งที่ 22” หลังจากจบรอบ 2 ไปเรียบร้อย
เราได้ทีมที่ผ่านมาเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายที่ถือว่าสมน้ำสมเนื้อ และครบถ้วนในสิ่งที่ควรเป็น เคยเป็นในบอลโลก ประกอบด้วย
อาร์เจนตินา-เนเธอร์แลนด์, บราซิล-โครเอเชีย, อังกฤษ-ฝรั่งเศส และโปรตุเกส-โมร็อกโก
3 จาก 4 คู่ ที่ต้องดวลแข้งกัน มาจากคนละทวีป นี่คือเป้าประสงค์ที่แฟนบอลแท้ๆ ต้องการ
ว่ากันถึงเกมนัดปิดท้ายของรอบ 16 ทีมเกิดสถิติมากมาย ทั้งการยิงแฮททริกได้เป็นหนแรกของทัวร์นาเมนท์ และการยิงจุดโทษดับซ่า ทีมเจ้าของสถิติชนะมากที่สุดอย่าง สเปน
ในเกม โปรตุเกส ที่ถลุง สวิตเซอร์แลนด์ ยับเยิน 6-1 นั้น ปรากฏว่า กองหลังจอมเก๋าที่เคยเป็นจอมโหด จนได้รับฉายาว่า “เปเป้ ป.ประมุข” ที่ใส่ชื่อค่ายมวยมาต่อท้ายให้ กลายเป็นนักเตะที่อายุมากที่สุดที่ทำประตูได้ในบอลโลกครั้งนี้ ด้วยวัย 39 ปี 283 วัน
เป็นสถิติใหม่ของแข้งอาวุโสโอเค ที่พังสกอร์ได้ในรอบน็อกเอาท์ ส่วนสถิติตลอดกาลคงยากที่จะใครไปแตะ นั่นคือ โรเจอร์ มิลล่า กองหน้าสายแดนซ์ “ดิ้นกันมั้ยลุง” ที่เคยทำได้ เมื่อปี 1994 ตอนนั้นท่านอายุ 42 ปี 39 วัน ในแมทช์ แคเมอรูน กับ รัสเซีย
ขณะที่ กอนซาโล่ รามอส นักเตะทีมชาติโปรตุเกส กลายเป็น “ตัวละครลับ” ที่ลงตัวจริงแทนที่ของซูเปอร์สตาร์ชุบแป้งทอดอย่าง คริสติอาโน่ โรนัลโด้ แล้วสามารถยิงแฮททริกได้สำเร็จ นับเป็นแฮททริกแรกในฟุตบอลโลกครั้งนี้ และนับเป็นครั้งที่ 53 ตลอดกาลของบอลโลก รอบสุดท้าย
สถิติที่น่าสนใจและควรค่าแห่งการบันทึกฟุตบอลโลกตลอดกาล ก็คือ เบอร์ทรานด์ พาเตนูเด้ นักเตะทีมชาติสหรัฐอเมริกา คือคนแรกที่ยิงแฮททริกในบอลโลก ในเกมที่ สหรัฐ ชนะ ปารากวัย 3-0 ปี 1930
กาเบรียล บาติสตูต้า ยอดดาวยิงอาร์เจนตินา เป็นคนเดียวที่ยิงแฮททริกได้ 2 สมัย ปี 1994 และ 1998
โอเล็ก ซาเลนโก้ คือคนที่ยิงได้มากที่สุดในเกมเดียว โดยซัดให้ รัสเซีย ถึง 5 ประตู ในเกมถลุง แคเมอรูน 6-1 ปี 1994
เซอร์เจฟฟ์ เฮิร์สท์ เป็นคนเดียวที่ยิงแฮททริกได้ในนัดชิงชนะเลิศ ทำไว้ปี 1966
เอริค พร็อบส์ท ยิงแฮททริกเร็วสุด ใช้เวลาเพียง 20 นาที เมื่อปี 1954 เกม ออสเตรีย พบ เชโกสโลวาเกีย
เปเล่ คือนักเตะอายุน้อยที่สุดที่ยิงแฮททริกในบอลโลก ด้วยวัยเพียง 17 ปี 244 วัน ปี 1958
คริสติอาโน่ โรนัลโด้ คือนักเตะอายุมากที่สุดที่ยิงแฮททริกในบอลโลก ด้วยวัยถึง 33 ปี 130 วัน ปี 2018
รามอส คนยิงแฮททริกล่าสุด อายุเพียง 21 ปี 169 วัน เป็นนักเตะที่อายุน้อยสุดที่ยิงแฮททริกได้ นับจากที่ ฟลอเรียน อัลเบิร์ต ของ ฮังการี ทำไว้เมื่อปี 1962
ทั้งนี้ รามอส ยังมีลุ้นสถิติตลอดกาล นั่นคือการยิงแฮททริก 2 ครั้ง ในบอลโลกสมัยเดียว ซึ่งเคยมีมนุษย์ในตำนานแค่ 3 คนเท่านั้นที่ทำได้
1.ซานดอร์ คอซซิส ของฮังการี ปี 1954, 2.จุสต์ ฟงแตง ของฝรั่งเศสปี 1958 และ3.แกร์ด มุลเลอร์ ของเยอรมันตะวันตก(เดิม) ปี 1970
ขณะที่ ประเด็นการสังหารจุดโทษมีการทำสถิติเคาะเอาไว้ก่อนบอลโลกจะเริ่มขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่าง BBC Sport และ Opta รวบรวมตัวเลขจากการดวลจุดโทษทุกครั้งระหว่างปี 1982 ถึง 2018 รวมทั้งสิ้น 30 ครั้ง พอดิบพอดีที่มีการดวลเป้าในรอบสุดท้าย มาเปิดเผย
การยิง 279 ครั้ง โอกาสตุงตาข่ายมากกว่าหากเลือกยิงเข้ามุมมากกว่ายิงไปตรงกลาง
ปริมาณการยิงด้านขวากับด้านซ้าย ตุงตาข่ายเท่ากัน ที่ตัวเลขประมาณ 74% แต่พอซัดเข้าตรงกลาง ปรากฏว่า โอกาสเข้าตกลงมาเหลือ 57% สถิติยิงตรงเข้าแค่36 ครั้ง จาก 63 ครั้ง
ตามสถิติหลายทีมเลือกผู้ยิงจุดโทษที่ดีที่สุดของทีมเป็นผู้ยิงคนแรก และตามที่เราเคยเห็นคือ ยิงไปเรื่อยๆ แล้วมักจะพลาดคนท้ายๆ เพราะเฉลี่ยการยิงเข้า เริ่มจากคนแรก 75%, คนที่สอง 73%, คนที่สาม 73% พอมาถึงคนที่ 4 เริ่มเป๋ๆ เฉลี่ยเข้าต่ำสุดคิดเป็น 64% และคนที่ห้าคิดเป็น 65%
ตำแหน่งกองกลางคือตัวเลขที่มีการเข้าไปยิงจุดโทษมากที่สุด ตัวเลขนี้ไม่แปลกเพราะระบบฟุตบอลนั้น กองกลางมีมากกว่าทุกกองกำลังอยู่เสมอๆ แต่กลายเป็นกองหน้า ที่ยิงได้มากที่สุด 63 จาก 84 ครั้ง คิดเป็น 75% ต่อด้วยกองกลาง 122 คน ยิงได้ 84 สกอร์ คิดเป็น 69% ส่วนกองหลัง ยอดรวมลดลงเหลือแค่ 49 ประตูจากการยิง 73 ครั้ง เฉลี่ยต่ำมากคือ 67%
มาถึงบอลโลกหนนี้ ยิงเป้ากันไปแล้ว 2 คู่ ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ลองดูตัวเลขกันเล่นๆ ว่า เห็นเป็นอย่างไร
เกมแรก โครเอเชีย ปราบ ญี่ปุ่น 3-1 โดมินิค ลิวาโควิช นายประตูโครเอเชีย เซฟได้ถึง 3 ลูก ทาบสถิติตลอดกาล 4 ครั้งที่เคยเกิดขึ้นในบอลโลก โดยครั้งล่าสุด ก็เกิดขึ้นกับ โครเอเชีย ในรอบเดียวกันนี้เมื่อ 4 ปีก่อนในการเตะกับ เดนมาร์ก
โครเอเชีย ยิง 4 เข้าไป 3 ลูก จากกองกลางล้วนๆ นั่นคือ นิโกล่า วลาซิซ,มาร์เซโล่ โบรโซวิช และ “ไอ้หนุ่มบางบ่อ” มาริโอปาซาลิซ ที่ยิงพลาดคือ มาร์โก้ ลิวาย่า ซึ่งเป็นกองหน้า
ญี่ปุ่น ยิง 4 เข้าแค่ลูกเดียวจาก ทาคูมะอาซาโนะ กองหน้า ที่เหลือพลาดหมดจาก 2 กองกลาง ทาคูมิ มินามิโนะ กับ คาโอรุ มิโตมะอีกลูกจากกองหลังกัปตันทีม มายะ โยชิดะ
เกมที่สอง โมร็อกโก ขยี้ สเปน 3-0 โดยที่ ยาสซิน โบโน นายประตูโมร็อกโก ซึ่งทำมาหากินในสเปนมาทั้งชีวิต ปัจจุบันอยู่ เซบีญ่า เซฟได้สองครั้ง
สเปน ยิงไม่เข้าเลยเป็นทีมที่ 2 ในประวัติศาสตร์ยิงเป้าบอลโลกต่อจากสวิตเซอร์แลนด์ ปี 2006 ซึ่ง ปาโบลซาราเบีย กองหน้าซัดไปชนเสา และอีกสองคนจากแดนกลาง การ์ลอส โซแลร์กับ เซร์คิโอ บุสเกตส์ ยิงติดเซฟ
ฝั่ง โมร็อกโก พลาดคนเดียวคือบาเดอร์ เบนูน กองหลัง ที่เหลือเข้าทั้งหมด คือ อับเดลฮามิด ซาบิรี่ ที่เป็นกองหน้า, ฮาคิม ซีเยค กองหน้าตัวด้านข้าง และอาชราฟ ฮาคิมี่ แบ๊กขวาที่สังหารประตูชัยแบบ “พาเนนก้า สไตล์”
น่าตกใจก็คือ สเปน กลายเป็นทีมที่อาจจะครองบอลได้มากที่สุด ส่งบอลแต่ละแมทช์ทะลุ 1,000 ครั้ง แต่กลายเป็นทีมที่ยิงจุดโทษแล้ว “พังที่สุด” ในบอลโลกไปแล้ว เพราะยิง 5 ครั้ง แพ้ไปถึง 4
ปี 1986 แพ้ เบลเยียม 4-5 รอบ 2, ปี 2002 แพ้ เกาหลีใต้ 3-5 รอบ 8 ทีม, ปี 2018 แพ้ รัสเซีย ตกรอบ 2 และครั้งนี้กับ โมร็อกโก ชาติที่พวกเขาเคยปกครองอยู่ยาวนาน
ชนะหนเดียวคือ ชนะ ไอร์แลนด์ 3-2 ปี 2002
ทีนี้ก็ต้องไปถามใจตัวเองว่า สุดท้ายแล้วจะเปลี่ยนอะไร เปลี่ยนกุนซือ เปลี่ยนสไตล์ หรือเปลี่ยนนักเตะ เพราะ “พิมพ์เขียวติกิตาก้า”แบบเดิมนั้น มันอาจจะใช้ไม่ได้ในทุก ค.ศ.
สูตรที่เคยเผาตำราฟุตบอลทั้งหมด อาจจะถูกเผาซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปแล้วก็ได้.......
บี แหลมสิงห์