วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / กีฬา
เวิล์ดคัพ ฉบับทะเลทราย : สงคราม...บัลลังก์...ฟุตบอล

เวิล์ดคัพ ฉบับทะเลทราย : สงคราม...บัลลังก์...ฟุตบอล

วันเสาร์ ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
Tag : เวิล์ดคัพ ฉบับทะเลทราย
  •  

โปรแกรมรอบน็อกเอาท์ 8 ทีมสุดท้ายวันเสาร์นี้ น่าสนใจสุดๆ เพราะโปรตุเกส กับ โมร็อกโก สองทีมไม่ได้เป็นเต็งแชมป์จะได้ดวลกัน ขณะที่สองทีมดัง ฝรั่งเศส กับ อังกฤษ จะซัดกันเพื่อเหลือแค่หนึ่งเดียว............

มาว่ากันถึง หนึ่งในเส้นทางที่น่าค้นหาสักครั้งหนึ่งในชีวิต คงไม่พ้นสีสันและเสน่ห์ที่ยอดนิยมของยุโรปใต้ ต่อเนื่องที่แอฟริกาเหนือ........


คุณจะได้สัมผัสกับสนุกสนานในตลาดที่วุ่นวาย พักผ่อนในที่พักผ่อนริมชายฝั่ง แบ่งปันบทสนทนาและอาหารกับคนในท้องถิ่นตื่นตาตื่นใจไปกับผลงานศิลปะชิ้นเอกและความมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรมในมาดริด สเปน

ลิ้มรสประวัติศาสตร์อันน่าอภิรมย์ ศิลปะการแสดงที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และอาหารที่ซับซ้อน ได้เห็นผู้คนอาบแดดบนชายหาดที่งดงามของชายฝั่งและชมพระอาทิตย์ตกดินเหนือมหาสมุทรแอตแลนติกที่โปรตุเกส

เคลิบเคลิ้มไปกับมนต์เสน่ห์ผ่านผู้คนหลากหลายทั้งมือกลองนักเต้น นักทำนายดวง นักเล่นกล และนักปรุงยา เดินทางผ่านทะเลทรายซาฮาราในขบวนอูฐ นอนหลับใต้ผ้าห่มท่ามกลางหมู่ดาวแห่งแอฟริกาเหนือ ในค่ำคืนข้างแคมป์ไฟเพื่อฟังนิทานพื้นเมืองของชาวเบดูอิน ของโมร็อกโก

ไม่น่าเชื่อว่า 3 ชาติที่อยู่ละแวกเดียวกัน จะมาฟาดกันในบอลโลก....โมร็อกโก ทุบ สเปน กระเด็นตกรอบ และพวกเขากลายเป็นอาหรับชาติแรกที่จะซัดกับ โปรตุเกส ซึ่งตามภูมิศาสตร์แล้วถือว่าเป็นอีกหนึ่งดาร์บี้แมทช์ที่เหลือเชื่อในโลกของฟุตบอล

ผมได้เขียนเรื่อง โมร็อกโก-สเปน กับอดีตที่รักชังหวานขมขื่น ก่อนเกมรอบ 2 มาในวันนี้ โมร็อกโก กลายเป็นม้ามืดเต็มตัวของฟุตบอลโลก และมีความหวังว่า จะผ่านเข้าสู่รอบตัดเชือกเป็นชาติแรกจากทวีปแอฟริกา

แต่เส้นทางของพวกเขาขวางกั้นด้วย โปรตุเกส ที่มีสีเสื้อ หรือว่าสไตล์การเล่นไม่ได้แตกต่างกัน ดุดัน ดุเดือด และมีความรวดเร็วใจการโจมตี

สองชาตินี้ไม่ได้เคยครอบครองกันยาวนาน เหมือนกับอิทธิพลทางการเมืองสเปน แต่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในอดีตที่โลกนี้มีบันทึกเอาไว้ก็คือ “สมรภูมิสามกษัตริย์”(The Battle of Alcácer Quibir)”

มีบันทึกความขัดแย้งการเสียเลือดเนื้อระหว่าง โมร็อกโก กับ โปรตุเกส ทั้งการรบที่แทนเจียร์, การล่มสลายของอากาดีร์ และการสู้รบและการปิดล้อมอื่นๆ เป็นระยะๆ ในชายฝั่งโมร็อกโก ยุคที่มีการล่าอาณานิคมทางเรือ

ความขัดแย้งทางทหารครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ.1415 ทหารโปรตุเกส จู่โจมอย่างกะทันหันในเซวตาของโมร็อกโก ด้วยกำลัง 45,000 นาย ที่เดินทางด้วยเรือ 200 ลำ และอีกครั้งใน 4 ปีต่อมา โปรตุเกส ปิดล้อมเซวตา ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการเสื่อมอำนาจของสุลต่านมารินิด และถือกำเนิดจักรวรรดิโปรตุเกส

มาถึงการรบครั้งสำคัญ “สมรภูมิสามกษัตริย์” ยุทธการอัลกาเซอร์ กีบีร์ เป็นการต่อสู้ที่คซาร์-เอล-เคบีร์ ทางตอนเหนือของโมร็อกโก เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ.1578 คือศึกที่เปลี่ยนโฉมหน้าของสองชาตินี้อย่างสิ้นเชิง

กองทัพโปรตุเกสผู้รุกราน ภายใต้การนำของกษัตริย์เซบาสเตียนที่ 1 ที่รวมกองทัพกับ สุลต่านอาบู อับดุลเลาะห์ โมฮัมหมัด ที่ 2 สู้กับ “อับดุล อัล-มาลิก” สุลต่านองค์ใหม่แห่งโมร็อกโก ซึ่งเป็นลุงของ อาบู อับดุลเลาะห์ นั่นเอง

เหตุคือ กษัตริย์เซบาสเตียน ที่ 1 ได้วางแผนทำสงครามครูเสด หลังจากที่อาบู อับดุลเลาะห์ ขอให้พระองค์ช่วยกอบกู้บัลลังก์กลับคืนมาจากลุงของตัวเอง ซึ่ง อับดุล อัล-มาลิก ได้รับการสนับสนุนจากอ็อตโตมัน

เซบาสเตียนที่ 1 ต้องการให้ชาวมุสลิมโมร็อกโกอยู่ภายใต้การปกครองของคริสเตียน ตัดสินใจยกพลขึ้นบกที่เมืองแทนเจียร์ ซึ่งเต็มไปด้วยปืนใหญ่และกองทัพ 20,000 นาย ที่แม่น้ำลุคคอส โดยมีนักรบแขกมัวร์รวมอยู่ด้วย

กองทัพโมร็อกโกไม่พร้อมเท่าโปรตุเกส แต่ก็มีทหารราบและทหารม้าจำนวน 50,000 นาย ในจำนวนนั้นมีแขกมัวร์ ที่ถูกขับออกจากสเปน ดังนั้นจึงมีความแค้นเป็นพิเศษต่อชาวคริสต์ พร้อมใส่เต็มที่เช่นกัน

กองทัพเซบาสเตียน โจมตีกองกำลังมุสลิมทันที ซึ่ง สุลต่านอับดุล อัล-มาลิก ที่กำลังประชวน ตัดสินใจลุกจากแคร่ และขึ้นหลังม้านำกองกำลังด้วยพระองค์เอง จากนั้นเมื่อการรบผ่านไป 4 ชั่วโมง ทหารโมร็อกโกสามารถตีโอบพวกโปรตุเกส ล่าถอยไปที่ชายฝั่งซึ่งเป็นช่วงที่น้ำกำลังขึ้นสูง

กองกำลังโปรตุเกส โดนตีจนตกน้ำ มีผู้เสียชีวิต 8,000 ศพ รวมทั้งการสังหารหมู่ขุนนางเกือบทั้งหมดของโปรตุเกส จากนั้นที่เหลือถูกจับและขายเป็นทาส

อาบู อับดุลเลาะห์ ถูกพบพระศพในแม่น้ำ ขณะที่ กษัตริย์เซบาสเตียน ก็ตกน้ำไปโดยไม่มีใครพบเห็นอีกเลย ส่วนผู้ชนะ สุลต่านอับดุล อัล-มาลิก จากไปในวันรุ่งขึ้นเนื่องจากประชวรจนบันทึกบางแห่งระบุว่า สิ้นพระชมน์บนหลังม้า

การต่อสู้จึงกลายเป็นที่รู้จักในชื่อที่ว่า Battle of the Three Kings

ชัยชนะทำให้กองทหารมุสลิมมีทรัพย์สินมากมาย และประเทศมีสุลต่านองค์ใหม่ อาหมัด ซึ่งปัจจุบันรู้จักในชื่อ อาหมัด อัลมันนูร์ (Ahmad the Victorious) ช่วงเวลานั้นทำให้โมร็อกโกได้รับเกียรติอย่างมากในยุโรป ทั้งเรื่องการค้า และสถานะทางการทูต

ในทางกลับกันการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์เซบาสเตียน ที่ 1 ซึ่งไม่มีรัชทายาท เป็นตัวเร่งให้เกิดวิกฤตการสืบราชสมบัติโปรตุเกส นำไปสู่การสิ้นสุดของราชวงศ์อาวิซ และการรวมประเทศในสหภาพไอบีเรียจึงเกิดขึ้น ในอีก 2 ปีต่อมา ระหว่างราชอาณาจักรโปรตุเกส กับ ราชอาณาจักรสเปน ทำให้โปรตุเกสอยู่ภายใต้การควบคุมของสเปนอีกถึง 60 ปี

ชัยชนะของโมร็อกโก ครั้งนั้น ได้รับการอธิบายว่าเป็น “หายนะทางทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โปรตุเกสเคยประสบมาในระหว่างล่าอาณานิคม” ทำให้พวกเขาไม่คิดที่จะมาแหยมกับ โมร็อกโก อีกเลย

ท้ายที่สุดความขัดแย้งถึงบทจบ เมื่อ โปรตุเกส เสียเมืองมาซากัน ในปี 1769 ให้กับ โมฮัมเหม็ด เบน อับดุลลาห์ สุลต่านโมร็อกโก........

ความเกี่ยวพันเดินทางมาจนถึงวันนี้ 3 ชาติไม่ได้รบกัน มีทริปทัวร์ 3 ประเทศนี้ขายทั่วโลก เมื่อเห็นโปรแกรมต่างๆ กระเป๋าสตางค์แทบจะลั่นทันที สุดท้ายหนีกันไม่พ้น มาฟาดกันในบอลโลก ที่ว่ากันตามเชิงก็คือ สไตล์การต่อสู้ในสนามรบมันช่างเหมือนกันโดยบังเอิญโดยแท้

โปรตุเกส เป็นประเภทถอยหลังล้ม จะต้องพุ่งเข้าใส่ก่อน พวกเขาไม่ได้เล่นบอลแบบสเปน ที่เน้นครองความได้เปรียบในมือ ไม่เน้นเสี่ยง ซึ่งบางครั้งก็ลังเลเกินไปจนพลาดท่า แต่ โปรตุเกส พุ่งไปข้างหน้าโจมตีเร็ว ขณะที่ โมร็อกโก คือประเภทตั้งรับและโต้กลับให้แรงที่สุด เร็วที่สุด

ที่สำคัญก็คือ บอลของโมร็อกโก “ไม่มั่ว” แต่บอลของพวกเขา “ค่อนข้างแม่น”

ที่สุดก็คือวัดกันด้วยความเฉียบขาด เพราะนาทีนี้เป็นการพบกันของ ทีมที่ยิงได้มากที่สุด 12 ประตู นั่นคือ โปรตุเกส กับทีมที่เสียประตูน้อยที่สุดแค่เม็ดเดียว นั่นคือ โมร็อกโก

ที่ผ่านมานั้น ทีมจากกาฬทวีปดีที่สุดคือมาถึงรอบนี้ นั่นคือ แคเมอรูน ปี 1990, เซเนกัล ปี 2002 และ กาน่า ปี 2010 ถ้าทำได้ โมร็อกโก คือทีมแรกในประวัติศาสตร์ ทั้งเป็นทีมจากอาหรับทีมแรก และมาจากทวีปแอฟริกาทีมแรกที่เข้าถึงรอบตัดเชือกฟุตบอลโลก ซึ่งมันคงยิ่งใหญ่ไม่แพ้กับชัยชนะศึกสามกษัตริย์อย่างแน่นอน

คำถามคือ พวกเขาจะหมดพลังม้าศึกแล้วหรือยัง เมื่อต้องเจอกับบอลที่เร็ว และหลากหลายที่สุดทีมหนึ่งในทัวร์นาเมนท์นี้อย่าง โปรตุเกส

ผ่านประเด็น “สงครามสามกษัตริย์” มาถึงคู่ปะทะ “สงครามร้อยปี”

หลายคนตาเบิกโพลงทันทีว่า รบกันได้ยังไงตั้งร้อยปี เอาจริงๆแล้วถ้านับตัวเลขจะหนาวกว่านี้ เพราะ อังกฤษ กับ ฝรั่งเศส ทำสงครามยาวนานถึง 116 ปีเลยทีเดียว แต่.........

แต่ไม่ได้รบต่อเนื่องอย่างที่คิดกัน

The Hundred Years’ War เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1337 จนถึง วันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ.1453 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 116 ปี 4 เดือน 3 สัปดาห์ กับอีก 4 วัน

สงครามร้อยปี เป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่สำคัญที่สุดในยุคกลาง แบ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญก็คือ 1.สงครามเอ็ดเวิร์ด (1337–1360), 2.สงครามแคโรไลน์ (1369–1389) และ 3.สงครามแลงคาสเตอร์ (1415–1453) แต่ละฝ่ายดึงพันธมิตรจำนวนมากเข้าสู่สงครามครั้งนี้

เป็นความขัดแย้งระหว่างสองราชตระกูลที่คือราชวงศ์วาลัวส์และราชวงศ์แพลนทาเจเน็ท เพื่อต้องการชิงราชบัลลังก์ฝรั่งเศสที่ว่างลงเพราะ พระเจ้าฟิลลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส ไม่มีทายาทสืบเชื้อสายราชวงศ์กาเปเตียง แต่หลานไปสมรสกับ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ของอังกฤษ ได้มีโอรสคือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ซึ่งได้ปกครองอังกฤษต่อจากบิดา

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 จึงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ทั้งที่อังกฤษ และฝรั่งเศส ยังผลให้ ขุนนางฝรั่งเศสไม่ยอมรับจึงสนับสนุนให้หลานของพระเจ้าฟิลลิปที่ 4 นั่นก็คือ พระเจ้าฟิลลิป ที่ 6 ที่มาจากราชวงศ์วาลัวส์ อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์

เหตุมันสุมทรวงมากกว่านั้น ทั้งการขัดแย้งระหว่างดินแดน, เศรษฐกิจ, การกระหายสงครามเพื่อซื้อใจประชาชน และขุนนาง นอกจากนี้ประเด็นน่าสนใจก็คือ มันเกิดขึ้นในช่วงที่ อังกฤษ ต้องการที่จะผนวก สกอตแลนด์ แต่หมูจะหาม ฝรั่งเศส ดันเอาคานเข้ามาสอด

จนกระทั่งท้ายที่สุดเกิดตำนานสตรีที่หยุดทุกสิ่งอย่าง “โจน ออฟ อาร์ค” และการใช้ปืนในสนามรบครั้งแรกของ ฝรั่งเศส

โดยระหว่างนั้น อังกฤษ ก็รบกันเองภายในด้วยศึกสงครามดอกกุหลาบ หรือสงครามราชวงศ์ แต่ในการต่อมา ทั้งสองประเทศนี้ก็เป็นปึกแผ่นแน่นแฟ้นกันอย่างเหลือเชื่อ

และแม้ว่าคู่นี้จะรบกันยาวนานเป็นร้อยปีในสงครามประวัติศาสตร์ แต่ในสนามฟุตบอลระดับ “บอลโลก” ทั้งสองทีมพบกันน้อยถึงน้อยมาก เพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น และเชื่อว่าแฟนบอลหลายคนไม่เคยได้เห็น

2 ครั้งที่พบกันในบอลโลก เริ่มจากหนแรก อังกฤษ ชนะ 2-0 ในการเตะรอบแบ่งกลุ่ม ที่เวมบลีย์ ก่อนที่ อังกฤษ จะเป็นแชมป์ในปีนั้น

หนที่สอง ในรอบแรก ปี 1982 อังกฤษ ชนะไปอีก 3-1 พร้อมด้วยการทำสถิติยิงประตูเร็วสุดในบอลโลกของ “กัปตันมาร์เวลล์” ไบรอัน ร็อบสัน เพียงแต่ 27 วินาทีของเกม และกุมสถิตินี้ยาวนานก่อนถูกทำลายลงเมื่อปี 2002

อังกฤษ กุมสถิติที่เหนือกว่า ในการเจอกันด้วยการชนะถึง 17 ครั้ง เสมอ 5 และฝรั่งเศส ชนะได้แค่ 9 ครั้งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้กันนับตั้งแต่ ฝรั่งเศส ครองแชมป์โลก สมัยแรก ปี 1998 เจอกันอีก 8 ครั้ง ฝรั่งเศส ชนะได้ถึง 5 และแพ้แค่หนเดียว

นี่คือการเจอกันของ ชาติที่เป็นต้นตำรับฟุตบอลอย่าง อังกฤษ แชมป์โลก 1 สมัยในความภูมิใจเมื่อปี 1966 พบกับ ชาติที่ไม่ได้คลั่งไคล้ฟุตบอลมากมายนักอย่าง ฝรั่งเศส แต่น่าประหลาดใจที่พวกเขาได้แชมป์ไปแล้วถึง 2 ครั้ง

อังกฤษ พยายามหาทางกลับมาโดยตลอด แต่กลับไม่ได้ ไม่เคยเข้าใกล้กับตำแหน่งอีกเลย ดีที่สุดคืออันดับ 4 ปี 1990 และเมื่อ 4 ปีก่อน แต่นักเตะของอังกฤษ ค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนไป มีทักษะในการเล่นส่วนตัวมากขึ้น มีความยืดหยุ่นขึ้น และเมื่อเทียบกันกับ ฝรั่งเศส แล้ว เกมนี้สูสีอย่างมาก

อังกฤษ มีอาวุธให้เลือกหลากหลาย ส่วน ฝรั่งเศส มีอาวุธที่หนักกว่า

ประเด็นคือ เรารู้ว่า ฝรั่งเศส มี 11 ตัวจริงทีมนี้ และจะเล่นสูตรนี้แน่นอน คือ 4-2-3-1 ผิดกับ อังกฤษ ที่ได้ชุดหลักแล้วคือ 4-3-3 แต่พวกเขาสามารถพลิกมาเล่นได้หมดก็คือ 3-4-3 หรือ 4-2-3-1 เพื่อรับมือกับอาวุธหนักอย่าง คีลิยัน เอ็มบัปเป้ หรือบีบให้บอลไก่ทองคำดีเลย์ไปเอง เพราะโดนบีบให้กลางเป็นตัวออกบอล เหมือนที่ โปแลนด์ ทำได้แทบจะตลอดทั้งครึ่งแรกในเกมรอบ 16 ทีม ซึ่ง อาเดรียง ราบิโอต์ กับ ออเรเลียง ชูอามานี่ ทำได้แค่ขวางไปมา และช้าด้วย

แกเร็ธ เซาธ์เกต ต้องเลือกก็คือใช้ใครมาปิด? ถ้าระบบปัจจุบันคือ ไคล์ วอล์คเกอร์ แล้วให้ จอร์แดน เฮนเดอร์สัน บีบมาเล่น รวมถึง บูกาโย่ ซาก้า ต้องถอยลึกลงกว่านี้ หรือถ้าคิดแบบล็อกแน่น ต้องยืนกองหลัง 3 คน เพื่อให้ วิงแบ๊ก กับ เซ็นเตอร์ด้านขวาคอยปิดไลน์ แต่สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือ สมดุลในเกมต้องมีมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

อย่าลืมว่า คนที่งานเนี้ยบที่สุดของ ฝรั่งเศส และเป็นหัวใจในเกมรุกของทีมคือ อองตวน กรีซมันน์

ตรงกันข้ามก็คือ ฝรั่งเศส เสียประตูมาทุกนัดที่ลงสนาม จะถูกทดสอบโดยนักบอลที่เลี้ยงกินตัวเก่งๆ อย่าง ฟิล โฟเด้น และบูกาโญ่ ซาก้า ที่สำคัญก็คือ บรรดาตัวเปลี่ยนของอังกฤษ มีให้เลือกทั้ง มาร์คัส แรชฟอร์ด, เมสัน เมาท์น, แจ๊ค กรีลิช, คัลลั่ม วิลสัน ถ้าหาก ราฮีม สเตอร์ลิ่ง กลับมาทันอีกคนก็น่าสนใจ

ข้างสนามของอังกฤษ ดูจะดุดันกว่าชัดเจน

เรื่องของเรื่องก็คือ ผู้เล่นตัวจริงสำคัญสุดๆ แต่ตัวเปลี่ยนนี่แหล่ะที่จะรักษาสมดุลเกมเอาไว้ เมื่อเทียบตามผลงานที่ผ่านมานักบอลอังกฤษ สามารถเปลี่ยนเกมได้ ส่วน ฝรั่งเศส ตัวสำรองมีเพียงแค่ประคองสถานการณ์

น่าเสียดายที่ต้องเจอกันเอง เพราะที่ดูมานั้น สองทีมนี้ถือว่าเล่นได้ดีที่สุดระดับท็อปของการแข่งขัน

หนนี้ไม่ต้องสู้กันเป็นร้อยปี.....แต่ 90 นาทีอาจจะตัดสินไม่ได้

บี แหลมสิงห์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

(คลิป) เมื่อกล้องวงจรปิด 'ชั้น14และบ้านจันทร์ส่องหล้า' เสียพร้อมกัน นอนบ้านไม่ได้นอนชั้น14 ด้วยหรือไม่

KNU ประกาศชัยชนะตีฐานทหารเมียนมาตรงข้ามช่องทางพุน้ำร้อนเมืองกาญจน์แตกกระเจิง

คดี‘ชั้น 14’พ้นพิษ! ‘บิ๊กต่าย’สั่งกองวินัยเตรียมสอบ‘หมอ รพ.ตำรวจ’

ได้โอกาสส่งออก! ‘อินโดนีเซีย’เผยปี’68คาดผลผลิตข้าวเหลือเกินบริโภคในปท.

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved