เรามักได้ยินบ่อยๆ ว่า มีคนออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือแข่งกีฬา แล้วเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ไม่ว่าจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ คนเตะบอลในการออกกำลังกาย คนตีเทนนิส ฯลฯ ทำไม? ทั้งๆ ที่คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำนั้นน่าจะแข็งแรงกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกาย จึงไม่น่าที่จะเสียชีวิตเพราะการออกกำลังกาย
ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่าการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือการออกกำลังกายอะไรก็ดีต่อสุขภาพทั้งนั้นมากหรือน้อย แต่ถ้าจะเอากันจริงๆ การออกกำลังกายที่ดีต่อสุขภาพที่สุด คือ การทำให้หัวใจ ปอด ระบบหมุนเวียนโลหิตแข็งแรง นั่นก็คือการออกกำลังกายโดยการใช้กล้ามเนื้อกลุ่มใหญ่ เช่น แขน หรือขา 1) อย่างต่อเนื่องและนานพอ คือ 30-60 นาที 2) หนักพอ คือ ออกกำลังกายให้หัวใจเต้นด้วยความหนัก 70% ของความสามารถสูงสุดที่หัวใจจะเต้นได้ หรือ maximal heart rate, MHR วิธีคำนวณ คือ 220-อายุปี และ 3) ออกกำลังกายอย่างน้อย 5 ครั้งต่อสัปดาห์
ฉะนั้นจากข้างบนนี้ จะเห็นได้ว่าการออกกำลังกายที่ดีต่อสุขภาพ คือ ทำให้หัวใจ ฯลฯ แข็งแรง คือออกให้ได้นานพอ หนักพอ บ่อยครั้งพอ วิธีการคือ เดิน วิ่ง ถีบจักรยาน เต้นแอโรบิก ฯลฯ สรุปก็คือออกกำลังกายอะไรก็ได้ที่ใช้ แขน ขาได้ นาน หนัก บ่อยครั้งพอ
ถ้าเราเอาแต่เตะบอล ตีเทนนิส ตีแบด อย่างเดียวเท่านั้น เราก็จะแข็งแรงกว่าคนที่ไม่ได้ออกกำลังเลย แต่มันอาจยังไม่ดีมากพอที่จะป้องกันโรคหลอดเลือดต่างๆ และอาจตายคาสนามได้ ทางที่ดีคือ ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ (aerobic, แอโรบิก) ให้ร่างกายแข็งแรงก่อนประมาณ 3 เดือน ก่อนที่เราจะไปออกกำลังกายที่ไม่ใช่แอโรบิกอย่างแท้จริง
จะเห็นได้ว่าการตีเทนนิส แบดมินตัน กอล์ฟ ไม่ใช่การออกกำลังกายที่ดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริงตามคำนิยามที่ให้ไว้ คนที่จะตีเทนนิสควรต้องออกกำลังกายแบบแอโรบิกเพื่อสุขภาพด้วยก่อน และออกกำลังกายแบบนี้ตลอดไป เช่น ตีเทนนิสจันทร์ พุธ ศุกร์ วิ่ง อังคาร พฤหัส เสาร์ ฯลฯ
แน่ละ ถึงแม้เราออกกำลังกาย aerobic ที่ถูกต้อง ก็ยังอาจเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดได้ ทำไม? เพราะอะไร?
เป็นที่ยอมรับกันว่าการออกกำลังกายทำให้อายุยืนยาวขึ้นอย่างมีคุณภาพ (add life to years และ add years to life) ลดอัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุลง เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ จะดีต่อกาย ใจ สมองด้วย ลดอาการซึมเศร้า ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทำดีทุกอย่างแล้วก็ยังอาจมีการเสียชีวิตกะทันหันจากการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา หรือการแข่งขันกีฬา ทำไม?
คำนิยามของการเสียชีวิตอย่างกะทันหันในการออกกำลังกาย คือ การเสียชีวิตระหว่างการออกกำลังกาย หรือภายใน 60 นาทีหลังการออกกำลังกาย
สาเหตุใหญ่ๆ ของการเสียชีวิต แบ่งออกได้ตามอายุ ถ้าอายุต่ำกว่า 35 ปี มักเป็นโรคทางหัวใจและหลอดเลือดจากพันธุกรรม ถ้าอายุเกิน 35 ปีมักเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมที่ไม่ดีของคนเราที่มีมาช้านาน ทำให้หลอดเลือดตีบมากขึ้น เร็วขึ้น ปกติหลังเราเกิดหลอดเลือดก็จะเริ่มตีบทีละเล็กละน้อย แต่ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ จนตีบ 70-80% ของเส้นผ่าศูนย์กลางของหลอดเลือด หรือ ตีบไม่มาก แต่มีการแตกของไขมัน (plague) ที่สะสมที่ผนังของหลอดเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดที่ไปอุดตันหลอดเลือด
ผู้ที่เสียชีวิตกะทันหันจากการออกกำลังกาย เล่นกีฬา อาจมีอาการต่างๆ มาก่อนหรือไม่ก็ได้ เช่น วิงเวียน หน้ามืด จะเป็นลม เป็นลมชัก หายใจไม่ออก หอบ เจ็บอกหัวใจเต้นผิดปกติ และอาจมีความเสี่ยงต่างๆ เช่นความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นเบาหวาน สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ อ้วน ไม่ออกกำลังกายหรือออกไม่พอ กรรมพันธุ์ เพศชาย สูงอายุ ฯลฯ ฉะนั้นผู้ที่ต้องการที่จะออกกำลังกายควรเลือกการออกกำลังกายแบบแอโรบิก และค่อยเป็นค่อยไป และต้องพยายามลดความเสี่ยงต่างๆ นี้ลงด้วยการไปตรวจสุขภาพและมีพฤติกรรมที่เหมาะสม รวมทั้งการกินยาตามแพทย์แนะนำ
ส่วนผู้ที่เป็นโรคหัวใจ หรือหลอดเลือดมาตั้งแต่เกิด อาจมีอาการเหล่านี้ หรือไม่มีเลย จึงต้องมีการตรวจคัดกรองพอสมควรสำหรับนักกีฬาอาชีพ เช่น การซักประวัติถึงอาการต่างๆ ของตนเอง ครอบครัว พฤติกรรม ฯลฯ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด ถ้าจำเป็นอาจตรวจกราฟหัวใจด้วยเครื่องไฟฟ้า (electrocardiogram), echocardiogram, MRI หัวใจ, exercise stress test, holter monitoring (เป็นการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบตลอดเวลา ในช่วงระยะเวลา 24-48 ชม. เพื่อดูว่าหัวใจเต้นผิดปกติหรือไม่) ฯลฯ ทั้งนี้จะทำอะไรแล้วแต่แพทย์พิจารณา
โอกาสหน้าผมจะขยายความของโรคต่างๆ ที่ทำให้เสียชีวิตอย่างกะทันหันในการออกกำลังกาย