เมื่อคราวที่แล้วผมเขียนว่าใครควรเป็นแพทย์ประจำทีมนักกีฬา หรือ team physician Team Physician ควรมีคุณสมบัติอย่างไร ในวันนี้ผมขอพูดถึงหน้าที่ของ team physician
หน้าที่หลักของ team physician คือ ดูแลสุขภาพ ความสุขสบาย (health, well being) และ performance (ความสามารถในการเล่นกีฬา) ของนักกีฬา ทั้งในยามที่ไม่มีการแข่งขัน ในยามฝึก ในยามแข่งขัน และหลังการแข่งขัน รวมทั้งการดูแลสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ป้องกันการบาดเจ็บของนักกีฬาอีกด้วย
และต้องร่วมมือกับผู้ฝึก โค้ช เพื่อฝึกให้นักกีฬาไปถึงศักยภาพของนักกีฬาอย่างเต็มที่ของแต่ละคน
และเมื่อนักกีฬามีการบาดเจ็บ ต้องวินิจฉัย รักษา รวมทั้งต้องประสานเพื่อขอความร่วมมือจากแพทย์สาขาอื่น หน่วยงานอื่นๆ อย่างรวดเร็ว ทันใจ และดูแลการฟื้นฟูของนักกีฬา เมื่อไหร่จึงจะกลับมาฝึก มาเล่นได้ โดยไม่มีโอกาสที่จะบาดเจ็บซ้ำจากการกลับมาฝึก แข่ง อีก
โดยแพทย์ต้องดูผลประโยชน์ของนักกีฬาเป็นที่ตั้ง เช่น ถ้าบาดเจ็บจะให้เล่นต่อโดยนึกถึงชัยชนะอย่างเดียวไม่ได้ ถ้ามีความเสี่ยงที่นักกีฬาอาจได้รับการบาดเจ็บและจะมีปัญหาต่อสุขภาพร่างกาย หรืออาชีพ อนาคตของนักกีฬา ถ้าการแข่งขันสำคัญมาก การที่จะให้นักกีฬาเล่นต่อ ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมด ข้อดี ข้อเสีย ของการแข่งต่อ หรือไม่แข่ง แก่นักกีฬา โค้ช ผู้ฝึก ผู้บริหาร เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง เหมาะสม
ทั้งนี้ต้องเอานักกีฬาเป็นที่ตั้ง
ถึงแม้สโมสรจะเป็นผู้จ่ายเงินให้ TP แพทย์ประจำทีมต้องดูแลสุขภาพของนักกีฬา ทั้งกายและใจ TP ต้องมีส่วนร่วมในการแนะนำการฝึกให้เต็มศักยภาพของนักกีฬาแต่ละคน ต้องรู้จุดอ่อน จุดแข็งของนักกีฬาแต่ละคน
รู้ถึงความสำคัญของการตรวจร่างกาย (รวมทั้งการตรวจเพิ่มเติมต่างๆ ของห้อง lab, Xray ต่างๆ) เพื่อดูว่านักกีฬามีโรคทางพันธุกรรม หรือโรคอะไรหรือไม่ ที่อาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ได้ เช่น sudden cardiac arrest (หัวใจหยุดเต้นทันที) and death (การเสียชีวิต)
ควรร่วมวางแผนแนวทางเวชปฏิบัติว่าการตรวจร่างกายควรมีอะไรบ้าง
ควรทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ฝึก โค้ช ผู้บริหาร และทุกๆ หน่วยงาน
ต้องรู้จักจิตใจของนักกีฬาอย่างดี ทั้งในยามไม่มีการแข่ง และในเวลาการแข่ง จะได้แนะนำได้ดียิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้เอง TP ควรไปอยู่ประจำกับสโมสรกีฬาหนึ่งกีฬาใดเท่านั้น ตั้งแต่ยังไม่มีการแข่งขัน จะได้กิน นอน ศึกษา วิจัย ตรวจ ทำความรู้จัก เข้าใจ นิสัยใจคอ ร่างกายของนักกีฬา โค้ช ผู้ฝึก ผู้บริหาร จะได้สนิทกัน พูดกันรู้เรื่อง มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
ต้องร่วมในการฝึกนักกีฬาให้มากที่สุด โดยไม่มีการบาดเจ็บ (overtrain) และเพื่อลดการบาดเจ็บในการแข่งขัน
ต้องมีความรู้ในโรคต่างๆ ที่อาจพบได้ในนักกีฬา ในการฝึก แข่ง เช่น sudden cardiac arrest, death, โรคของการกระทบกระเทือนทางสมอง ความร้อน ความสูง อากาศเป็นพิษ ปัญหาของการเดินทาง เช่น jet lag สารต้องห้าม เตรียมตัวนักกีฬาให้พร้อม ทำความรู้จักกับสนามที่จะแข่ง กฎระเบียบของกีฬาประเภทที่ตัวเองต้องดูแลนักกีฬา มีความสามารถในการให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น (first aid) รวมทั้งมีความรู้ทางด้าน advanced cardiac and trauma life support (ACLS/ATLS) การกู้ชีพ CPR และการใช้เครื่อง AED และต้องมีความสามารถพิเศษทางด้านจิตวิทยา ความสามารถในการสื่อสารกับทุกคน ทุกฝ่าย ทุกเพศ ทุกวัย ต้องติดตามการแข่งขันตลอดเวลา จะได้ช่วยให้สามารถวินิจฉัยการบาดเจ็บได้ดีกว่า ถ้าไม่ได้มองหรือไม่ติดตามการแข่ง
มีความรู้เรื่องโภชนาการอาหารเสริม วิตามิน เกลือแร่ น้ำ เป็นอย่างดี เพื่อแนะนำการกิน ในยามปกติ ก่อน ระหว่าง หลังการฝึก การแข่งขัน
ในการเดินทางของทีมไปแข่งต่างประเทศต้องมีความรู้เกี่ยวกับโรคในประเทศที่จะไป การฉีดวัคซีน การป้องกัน การนำยา อุปกรณ์ไปด้วย ว่าอะไรเอาไปได้ ไม่ได้และเมื่อไปถึงควรไปทำความรู้จักกับสนามที่จะแข่งขัน คลินิก ว่ายา อุปกรณ์อะไรอยู่ตรงไหน เจ้าภาพ เตรียมการอะไรไว้บ้างเพื่อยามฉุกเฉิน เช่น เครื่อง AED ต้องพร้อมใช้ภายใน 2 นาที
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงหน้าที่บางอย่างของ Team Physician
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี