ปัจจุบันพืชตระกูลแตง เช่น แคนตาลูป เมล่อน และแตงไทย เป็นพืชที่มีความต้องการในการบริโภคสูง ทำให้เกิดวัสดุเหลือทิ้งจำนวนมาก เช่น เปลือก เมล็ด เป็นต้น ซึ่งทั้งเปลือกและเมล็ดต่างอุดมไปด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นสารประกอบพอลิฟีนอลหรือบีตา-แคโรทีน ทำให้มีการพัฒนาวิธีการนำเอาวัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
แคนตาลูปและเมล่อน เป็นพืชในวงศ์ Cucurbitaceae โดยแคนตาลูป (Cantaloupe) หรือเรียกกันว่า แตงแคนตาลูป มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cucumis melo L. var. cantaloupensis แคนตาลูปมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินเดีย ลักษณะทั่วไปของแคนตาลูป คือ มีลักษณะคล้ายๆ แตงไทย มีผลกลม ผิวของผลสีเขียว หรือสีน้ำตาลคล้ำ หรือสีเหลือง หรือสีขาว ทั้งนี้แล้วแต่พันธุ์ ผิวของผลหยาบ มีเปลือกแข็ง มีร่องลึกรอบๆ ผล เปลือกมีลายคล้ายร่างแหหรือตาข่ายสีขาว บางพันธุ์มีผิวเรียบๆ เมื่อสุกเนื้อในมีสีส้ม หรือสีจำปา มีกลิ่นหอม รสหวาน
เมล่อน (Melon) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cucumismelo L. var. cantalpensis เป็นพืชที่อุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินเอ บีตาแคโรทีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็ก
เมล่อนมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ผลสุกมีกลิ่นหอม รสชาติหวาน โตได้ดีในที่ที่มีสภาพอากาศร้อนแห้ง มีแดดจัดในปัจจุบันมีหลากหลายสายพันธุ์ โดยสารที่พบมากในเปลือกและเมล็ดของพืชเหล่านี้คือ กรดแกลลิก (Gallic acid) และกรดเฟอรูลิก (Ferulic acid) กรดทั้งสองชนิดเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันและลดความเสียหายให้กับเซลล์ในร่างกาย ช่วยให้เซลล์ในร่างกายปรับตัวรับกับสภาวะกดดัน หรือกำจัดของเสียที่เกิดภายในเซลล์ได้ดี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่สำคัญในการป้องกันโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้กรดแกลลิกยังมีคุณสมบัติช่วยต้านแบคทีเรียก่อโรคผิวหนังหรือสิวอักเสบ และยังมีคุณสมบัติการต้านการสร้างเม็ดสีผิว (Antimelanogenicacitivity) อีกทั้งสามารถยับยั้งเซลล์เพาะเลี้ยงมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
Ayadi, S.M., Bahloul, N., and Kechaou, N., 2017. Characterization, phenolic compounds and functional properties of cucumis melo L. peels. Food Chem., 221, pp.1691-97.
Ganji, S.,M., Singh, H., and Friedman, M., 2019. Phenolic content and antioxidant activity of extracts of 12 melon (Cucumis melo) peel powders prepared from commercial melons. J. Food Sci., 84(7), pp. 1943-48.
Vella, F.M., Cautela, D., and Laratta, B., 2019. Characterization of polyphenolic compounds in cantaloupe melon by-products. Foods, [online]. Available at: https:doi:10.3390/foods8060196. [accessed 14 June 2022].
Zhang, X., et al. 2020. Anticancer properties of different solvent extracts of Cucumis melo L. seeds and whole fruit and their metabolite profiling using HPLC and GC-MS. Biomed Res., [online]. Available at : https://doi.org/10.1155/2020/ 5282949. [accessed 14 June 2022].
ภัทรวดี เก่งกว่าสิงห์
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี