วันจันทร์ ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / กีฬา
‘ถ้าเปลี่ยนไขมันเป็นทรัพย์สิน คงมีที่ดินเป็นพันไร่’ (ตอนที่ 2)

‘ถ้าเปลี่ยนไขมันเป็นทรัพย์สิน คงมีที่ดินเป็นพันไร่’ (ตอนที่ 2)

วันเสาร์ ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2567, 06.00 น.
Tag : ไขมัน
  •  

สวัสดีท่านผู้อ่านที่น่ารักทุกท่านค่ะ ในบทความก่อนหน้านี้ปอได้นำข้อมูลส่วนตัวของเจ้า “ไขมัน” มาเปิดเผยให้ผู้อ่านทุกท่านได้รู้จักกันแล้ว วันนี้ก็จะมาพูดต่อกันในเรื่องของ “กระบวนการเผาผลาญเอาไขมันมาใช้มาเป็นพลังงาน”

กระบวนการเผาผลาญเอาไขมันมาใช้ ยากและซับซ้อนจริงหรือ?

จากที่กล่าวไปแล้วว่า กรดไขมันที่ร่างกายนำมาใช้ในการเผาผลาญเป็นพลังงานนั้นมาได้จากหลายแหล่ง ทั้งไขมันที่ถูกสะสมในรูปของไตรกลีเซอไรด์ในเซลล์ไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไขมันในอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ซึ่งเมื่อถูกย่อยและดูดซึมแล้ว จะเข้าสู่กระแสเลือด และไขมันที่สะสมในกล้ามเนื้อเอง ในขณะออกกำลังกาย (เกิดการยืด-หดตัวของกล้ามเนื้อ) ร่างกายจะมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งพลังงานบางส่วนที่กล้ามเนื้อนำมาใช้นั้นได้มาจากการเผาผลาญไขมันทั้งนี้การนำเอาไขมันมาใช้เป็นพลังงานในกล้ามเนื้อนั้น ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่


1) ปริมาณไขมันที่มีในกล้ามเนื้อ

2) เอนไซม์ในกล้ามเนื้อที่ถูกใช้ในกระบวนการการสลายไตรกลีเซอไรด์ให้ได้กรดไขมัน

3) เอนไซม์ในเนื้อเยื่อไขมันที่สะสมบริเวณอื่นของร่างกายที่ถูกใช้ในกระบวนการการสลายไตรกลีเซอไรด์ให้ได้กรดไขมัน

4) ปริมาณเลือดที่ถูกส่งไปที่กล้ามเนื้อ

5) โปรตีนขนส่งที่ช่วยขนกรดไขมันจากในกระแสเลือดไปส่งที่กล้ามเนื้อ

6) ประสิทธิภาพของการขนส่งกรดไขมันเข้าไปที่ไมโทคอนเดรีย

7) จำนวนของไมโทคอนเดรีย

8) คุณภาพของไมโทคอนเดรียและเอนไซม์ในไมโทคอนเดรียที่ถูกใช้ในกระบวนการสลายกรดไขมัน

ทำความเข้าใจ “โรงงานผลิตพลังงาน” ของร่างกาย = เข้าใจกระบวนการนำเอาไขมันไปเผาผลาญ

เนื่องจากกระบวนการเผาผลาญไขมันประกอบไปด้วยขั้นตอนหลายขั้นตอน และในแต่ละขั้นตอนจะต้องมีกลไกในการควบคุมหลายชั้น หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพโดยง่าย อาจเปรียบกับการทำงานของโรงงานที่มุ่งผลิตสินค้า (พลังงาน) โดยมีวัตถุดิบ (กรดไขมันและออกซิเจน) เครื่องจักรที่สำคัญ (ไมโทรคอนเดรีย) และคนงาน (เอนไซม์) ซึ่งโรงงานที่ผลิตสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง จะต้องมีกระบวนการจัดการการผลิตที่ดี (ระบบขนส่งวัตถุดิบ) และการจัดการของเสียที่ได้มาตรฐาน (คาร์บอนไดออกไซด์)

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การเพิ่มคนงานให้มากขึ้นเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยให้โรงงานสามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้น หรือ ไม่ได้ช่วยให้มีการใช้วัตถุดิบที่มากขึ้น ฉันใดก็ฉันนั้น การรับประทานอาหารเสริมต่างๆ ไม่สามารถช่วยให้เกิดการนำเอาไขมันมาใช้เป็นพลังงานได้มากขึ้นด้วย

ท่านผู้อ่านหลายคนคงตั้งคำถามในใจแล้วสินะคะว่า แล้วจะทำอย่างไรจึงจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตสินค้า (เพิ่มการเผาผลาญไขมันไปเป็นพลังงาน) ได้ เราสามารถทำได้โดยการเพิ่มโรงงาน (ที่มีเครื่องจักรมากขึ้น มีคนงานมากขึ้น และมีระบบขนส่งวัตถุดิบที่ดีขึ้น) สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จาก “การออกกำลังกาย” การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มทั้งปริมาณและขนาดของไมโทรคอนเดรีย ปริมาณเอนไซม์ ปริมาณโปรตีนขนส่ง ช่วยพัฒนาระบบไหลเวียนเลือดไปยังกล้ามเนื้อให้ดีขึ้น และช่วยสลายไตรกลีเซอไรด์ไปเป็นกรดไขมันได้เร็วขึ้น จึงส่งผลให้ความสามารถในการเผาผลาญไขมันมาใช้เป็นพลังงานมากขึ้นในท้ายที่สุด

ทำไมคนส่วนใหญ่จึงมุ่งหวังที่จะ“เผาผลาญไขมัน” ?

1) คนส่วนใหญ่เชื่อว่า การเพิ่มการเผาผลาญไขมัน = การลดน้ำหนัก สิ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะคนเราจะลดน้ำหนักได้ก็ต่อเมื่อเราอยู่ในภาวะสมดุลพลังงานเป็นลบเท่านั้น กล่าวคือ ร่างกายมีการใช้พลังงานไปมากกว่าพลังงานที่ได้รับ ดังนั้น หากท่านผู้อ่านสามารถเพิ่มการเผาผลาญไขมันไปเป็นพลังงานได้ แต่ยังคงรับประทานอาหารที่มีพลังงานมากกว่าพลังงานที่ใช้ไป ท่านก็ไม่สามารถที่จะลดน้ำหนักได้อยู่ดี (ท่านผู้อ่านหลายคนอาจร้องโอดครวญว่า ทำไมจะลดน้ำหนักถึงได้ยากขนาดนี้) และแน่นอนว่าในขณะที่เราพาตัวเข้าไปอยู่ในภาวะสมดุลพลังงานที่เป็นลบเพื่อมุ่งที่จะลดน้ำหนักนั้น สิ่งที่เราต้องการให้ลดลงมากที่สุด คือ มวลของไขมัน (ไม่ใช่กล้ามเนื้อ) ในช่วงนี้เองที่การเพิ่มความสามารถในการเผาผลาญไขมันจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ

หากจะกล่าวโดยสรุป ก็คือ ถ้าท่านมีจุดมุ่งหมายที่จะลดน้ำหนัก สิ่งที่ท่านต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือ “สมดุลพลังงาน” โดยท่านต้องกินให้น้อยกว่าใช้ (ควบคุมอาหาร) หรือ ใช้ให้มากกว่ากิน (เพิ่มการออกกำลังกาย) หรือ อาจใช้ทั้ง 2 วิธีควบคู่กันไปเพื่อพาตัวเองเข้าสู่ภาวะสมดุลพลังงานเป็นลบ ดังนั้น ขอย้ำอีกครั้งว่าการเพิ่มการเผาผลาญไขมัน ไม่เท่ากับ การลดน้ำหนัก

2) สำหรับกลุ่มนักกีฬาเมื่อมีการฝึกซ้อมไปสักระยะหนึ่งแล้ว อาจมีความต้องการที่จะเพิ่มความสามารถในการเผาผลาญไขมันมาใช้เป็นพลังงานในช่วงของการฝึกซ้อมให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้นักกีฬาคนนั้นๆไม่ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต (ไกลโคเจน) มากจนเกินไป และสามารถเก็บไกลโคเจนไว้เป็นแหล่งพลังงานสำรองในช่วงที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ นำไปสู่การได้เปรียบคู่แข่งทางกีฬา ในการฝึกซ้อมเพื่อเพิ่มความสามารถในการเผาผลาญไขมัน มีหลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายแบบทนทานที่ใช้ระยะเวลานานๆ (prolonged endurance training) หรือ การออกกำลังกายแบบที่มีความเข้มข้นสูงในระยะเวลาสั้นๆ สลับกับการพัก (high intensity interval training ; HIT) ซึ่งงานวิจัยในปัจจุบันยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าวิธีการออกกำลังกายแบบไหนจะช่วยเผาผลาญไขมันได้ดีกว่ากัน อีกทั้งในโลกแห่งความเป็นจริง คงไม่มีใครออกกำลังกายรูปแบบเดียวในทุกๆ วัน และแต่ละบุคคลมีสภาพร่างกายที่ไม่เหมือนกัน อาจเหมาะสมกับวิธีการออกกำลังกายที่แตกต่างกัน ท่านผู้อ่านจึงควรเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตัวเองเป็นหลัก

3) คนส่วนใหญ่เชื่อว่า การเผาผลาญไขมันสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพโดยรวมที่ดีขึ้น ผลการวิจัยเชิงสำรวจพบว่าร่างกายคนเราจะมีการเผาผลาญไขมันที่ลดลงเมื่อไม่ออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และงานวิจัยส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่าความสามารถในการเผาผลาญไขมันเพิ่มขึ้นได้จากการออกกำลังกาย ดังนั้น เมื่อคนออกกำลังกายแล้วส่งผลให้สุขภาพดี จึงเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่าเป็นผลมาจากความสามารถในการเผาผลาญไขมันที่มากขึ้น หรือ เป็นผลดีอื่นๆ ที่มาจากการออกกำลังกายเอง

เนื้อหาในวันนี้ก็เข้มข้นขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับบทความก่อนหน้านี้ ปอหวังว่าท่านผู้อ่านจะไม่ถอดใจกันไปเสียก่อน ในบทความตอนหน้าจะเป็นตอนสุดท้าย ซึ่งจะพูดถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการนำเอาไขมันมาใช้เป็นพลังงาน ทั้งนี้เนื่องจากไขมันอาจไม่ใช่แหล่งพลังงานแรกๆ ที่ร่างกายเลือกจะนำมาใช้เป็นพลังงาน ดังนั้นร่างกายจึงเลือกที่จะใช้พลังงานจากแหล่งอื่นๆ ก่อนเสมอ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่สามารถนำไขมันออกมาใช้ได้ และอาหารชนิดต่างๆ ที่ได้รับการยกย่องว่ามีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญไขมันได้จะช่วยได้จริงหรือไม่ ต้องรอติดตามตอนต่อไปค่ะ...

โดย ผศ.ดร.ปิยาภรณ์ ตุ้มนาค

ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

นักโภชนาการการกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

พ่ายยับ!‘เท้ง’แถลงผลเลือกตั้ง ‘ปชน.’ได้มา 3 เทศบาลเมือง 7 เทศบาลตำบล

‘จีโน่’แชมป์! คว้า15ล้านกอล์ฟหญิงโลก

ยิปซีพยากรณ์'ดวงรายวัน' ประจำวันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2568

'วิชัย'อดีตนายกฯ แชมป์เก่า5สมัย ประกาศชัยชนะเหนือคู่แข่ง เลือกตั้ง'นครปากเกร็ด'

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved