รูปที่ 1 การตรวจ Trendelenburg ก) กล้ามเนื้อก้นทำงานได้อย่างปกติ ข) กล้ามเนื้อก้นไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ
การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาเป็นปัญหาสำคัญที่พบได้บ่อยในกิจกรรมกีฬาหลากหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว การกระโดด หรือในกีฬาที่มีการปะทะ เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางด้านร่างกายและจิตใจ นำไปสู่การลดทอนคุณภาพชีวิตเมื่อได้รับบาดเจ็บ จากการศึกษาข้อมูลการวิจัยในช่วงที่ผ่านมาพบว่าการบาดเจ็บรยางค์ส่วนล่าง เช่น การบาดเจ็บบริเวณข้อเข่าและข้อเท้า เป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยจากการเคลื่อนไหวและการเล่นกีฬาในลักษณะดังกล่าว การเตรียมความพร้อมของร่างกายโดยเฉพาะการพัฒนาการทำงานของกล้ามเนื้อจึงเป็นสิ่งสำคัญขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อเคลื่อนไหวอย่างมีคุณภาพเพื่อลดความเสี่ยงการบาดเจ็บรยางค์ส่วนล่าง
รูปที่ 2 การประเมินการเหยียดสะโพกในท่านอนคว่ำ
เมื่อพูดถึงการเตรียมความพร้อมต่อการพัฒนาการทำงานของกล้ามเนื้อเพื่อลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของข้อเข่า หรือข้อเท้า เรามักจะให้ความสนใจต่อการพัฒนาการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณข้อต่อนั้นๆ เช่น การพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (quadriceps) และต้นขาด้านหลัง (hamstring) อย่างไรก็ตาม การทำงานของกล้ามเนื้อก้นเป็นอีกหนึ่งกลุ่มกล้ามเนื้อที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน และการเล่นกีฬา ในการช่วยลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บรยางค์ส่วนล่างนอกเหนือจากการกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อต่อ และแกนกลางลำตัว
รูปที่ 3 การประเมินการกางขาในท่านอนตะแคง ก) การกางขาแบบปกติ ข) การกางขาแบบเฉียงด้านหลัง
กล้ามเนื้อก้นเป็นกลุ่มกล้ามเนื้อ 3 มัด ประกอบด้วยกล้ามเนื้อกลูเตียสแมกซิมัส (gluteus maximus) กล้ามเนื้อกลูเตียสมีเดียส (gluteus medius) และกล้ามเนื้อกลูเตียสมินิมัส (gluteus minimus) ที่มารวมกันเป็นกล้ามเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของร่างกาย กลุ่มกล้ามเนื้อก้นทั้ง 3 มัดกล้ามเนื้อมีส่วนช่วยในการรักษาความมั่นคงของแกนกลางลำตัวและกระดูกเชิงกราน รวมถึงช่วยรักษาแนวของรยางค์ส่วนล่างให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมขณะที่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการเล่นกีฬา นอกจากความสามารถในการควบคุมความมั่นคงของลำตัวและกระดูกเชิงกรานที่มีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหว การทำงานของกล้ามเนื้อก้นยังมีความสำคัญต่อการควบคุมข้อต่ออื่นๆ ของรยางค์ส่วนล่าง จากข้อมูลวิจัยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการศึกษาบทบาทของกล้ามเนื้อก้นต่อการเคลื่อนไหวในท่าทางต่างๆ เช่น การวิ่ง การย่อ และการกระโดด ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บรยางค์ส่วนล่าง พบว่าการทำงานของกล้ามเนื้อก้นมีส่วนช่วยในการควบคุมแนวของข้อเข่าในการลดการบิดเข้า (internal rotation) ของข้อเข่าขณะลงสู่พื้น (landing) จากกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บของข้อเข่าได้ รวมถึงยังมีบทบาทต่อการควบคุมการเคลื่อนไหวข้อเท้า หากกล้ามเนื้อก้นทำงานได้ไม่ดีอาจมีผลต่อการวางเท้าที่ไม่เหมาะสมขณะเคลื่อนไหวและเสี่ยงต่อการบาดเจ็บข้อเท้าได้ อีกทั้งยังพบการเพิ่มขึ้นของแรงที่มากระทำต่อข้อต่อต่างๆ ของรยางค์ส่วนล่างในขณะเคลื่อนไหว เมื่อกล้ามเนื้อก้นไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ การทำงานของกล้ามเนื้อก้นจึงไม่ได้ควบคุมเพียงข้อต่อบริเวณสะโพกเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยในการควบคุมการเคลื่อนไหวและลดแรงที่มากระทำต่อข้อต่อของรยางค์ส่วนล่าง ดังนั้น เมื่อกล้ามเนื้อก้นทำงานผิดปกติจึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวทางชีวกลศาสตร์ การออกแรง รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บ หรือการบาดเจ็บซ้ำของรยางค์ส่วนล่างได้
การทำงานผิดปกติของกล้ามเนื้อก้นจะสามารถสังเกตได้ง่ายๆ จากการประเมินการเคลื่อนไหวด้วยการตรวจ Tenderenberg ซึ่งเป็นการประเมินเพื่อดูความมั่นคงของกระดูกเชิงกรานในท่าทางการยืนด้วยขาเพียงข้างเดียว (รูปที่ 1) โดยจะเห็นได้ว่าจากรูปที่ 1ก เมื่อกล้ามเนื้อก้นทำงานได้ดีจะทำให้สามารถรักษาความมั่นคงของกระดูกเชิงกรานในขาข้างที่ยืนได้ ในทางตรงกันข้ามจากรูปที่ 1ข หากกล้ามเนื้อก้นไม่สามารถทำงานได้ จะมีการเอนของลำตัวไปทางด้านข้างเพื่อพยายามรักษาการทรงตัวของร่างกาย
รวมถึงการประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแบบไอโซเมตริก (isometric) ในท่าทางต่างๆ ด้วยมาตรวัดกำลังกล้ามเนื้อแบบมือถือ (handheld dynamometer) เช่น การประเมินการเหยียดสะโพกในท่านอนคว่ำ (prone hip extension) เป็นการประเมินการทำงานของกล้ามเนื้อกลูเตียสแมกซิมัส (รูปที่ 2) การกางขาในท่านอนตะแคง (side lying hip abduction) ทั้งรูปแบบการกางขาแบบปกติ (รูปที่ 3ก) และการกางขาแบบเฉียงด้านหลัง(รูปที่ 3ข)
กล้ามเนื้อก้นจึงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มกล้ามเนื้อที่ควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการทำงานของกล้ามเนื้อเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บรยางค์ส่วนล่างจากการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันและการเล่นกีฬา
เอกสารอ้างอิง :
Buckthorpe M, Stride M, Villa FD. Assessing and treating gluteus maximus weakness–a clinical commentary. Int J Sports Phys Ther. 2019;14(4):655-69.
Rinaldi VG, Prill R, Jahnke S, Zaffagnini S, Becker R. The influence of gluteal muscle strength deficits on dynamic knee valgus: A scoping review. J Exp Orthop. 2022;9(1):81.
วัชรพล เทพา, พิสิฏฐ์ เลิศวานิช. การทำงานผิดปกติของกล้ามเนื้อก้นภายหลังการบาดเจ็บของรยางค์ส่วนล่าง. คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดหนังสือเวชศาสตร์ทันยุค.เวชศาสตร์ทันยุค. กรุงเทพฯ: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล; 2567.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี