งานเฉลิมฉลองแบบเต็มรูปแบบเกิดขึ้นด้วยเวลา 3 ชั่วโมงเศษๆ ที่ใจกลางกรุงปารีส
สมค่าสมราคายิ่งกับ 100 ปีแห่งเมืองแฟชั่น...ฝรั่งเศส
ผมออกเดินทางจากที่พักตั้งแต่ 10 โมงเช้า เพื่อไปรับบัตรการันตีการเข้าไปชมพิธีอันยิ่งใหญ่ที่สุด และแปลกที่สุดนั่นคือ “ล่องเรือ” เปิดพิธี เป็นครั้งแรกที่โอลิมปิกเปิดกันนอกสนามกีฬา
เมื่อปี 1900 ฝรั่งเศส เป็นเจ้าภาพครั้งแรก พวกเขาก็ไม่ได้ทำพิธีเปิดแต่อย่างใดหนำซ้ำในพิธีปิดก็ไม่ได้ทำด้วยซ้ำ!!!!!
10.oo น. เดินทางจากที่พักไปยังเพรส เซ็นเตอร์
11.40 น. ได้รับการยืนยันว่า “เข้าได้” เพราะต้องมีการลงทะเบียนพิเศษ
14.10 น. เดินทางออกจาก เพรสเซ็นเตอร์
15.30 น. ผ่านการตรวจของเจ้าภาพ 3 รอบ สู่พื้นที่หอไอเฟล
16.00 น. เจ้าหน้าที่เคลียร์พื้นที่บริเวณหอไอเฟล
16.20 น. การันตีไทย อยู่ลำที่ 76 และเป็นประเทศลำดับที่ 184
17.14 น. ฝนตก
18.55 น. ฝนตก
19.22 เริ่มปิดเพลง และเข้าสู่พิธีการ
จากนั้นฝนเริ่มตกลงมานับตั้งแต่ ซีเนอดีน ซีดาน โชว์ 2 นาทีแรกของงาน และก็ยาวไปจนกระทั่เช้าอีกวัน!!!!
มีเรื่องราวต่างๆ ให้เก็บตกมากมาย การรังสรรค์การแสดงโดย โธมัส ยอลลี่ที่แม้แต่ประธานาธิบดี “เอ็มมานูเอล มาครง” ยังต้องชมลงทวีต ว่า ขอขอบคุณ โธมัส อัจฉริยะผู้สร้างสรรค์สำหรับพิธีอันยิ่งใหญ่นี้ ขอขอบคุณศิลปินสำหรับช่วงเวลาพิเศษและมหัศจรรย์นี้ ขอขอบคุณตำรวจและหน่วยฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัคร ขอบคุณทุกคนที่เชื่อมั่นในมัน
เราจะพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้งใน 100 ปี!.....เราทำได้ !
ว่ากันถึง พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี สันติภาพ และภราดรภาพระหว่างประเทศต่างๆ
เป็นการเริ่มต้นการแข่งขันอย่างเป็นทางการ และมักใช้เป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน”เพื่อส่งข้อความทางการเมืองหรือวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง
เริ่มจากภาพที่เราเห็น เหมือนกับแฟลร์ 3 สีธงชาติฝรั่งเศส ซึ่งละม้ายกับภาพวาดฤดูใบไม้ร่วงบนแม่น้ำแซน ณ Argenteuil โดยศิลปิน โคล้ด โมเนต์ วาดไว้ปี 1873
จากนั้นการแสดงได้สลับกับขบวนพาเหรดของประเทศต่างๆ ที่มาบนเรือ โดยที่ผ่านมานั้น พิธีเปิดอย่างเป็นทางการในกีฬาโอลิมปิก เริ่มต้นครั้งแรกปี 1908 ที่ลอนดอน
ขบวนพาเหรดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ “เป็นสัญลักษณ์ของ” การเข้ามาของประเทศต่างๆ ใน “ภราดรภาพโอลิมปิก” โดยแต่ละประเทศจะแห่อยู่หลังธงชาติของตน
จุดนี้เองที่เคยใช้พื้นที่ในการส่งสัญญาณต่างๆ มากมาย
โอลิมปิกที่สตอกโฮล์ม 1912 การประท้วงในระดับชาติได้รับแรงผลักดัน ตัวอย่างเช่น รัสเซีย ประท้วงการใช้ธงชาติฟินแลนด์ โดยบังคับให้นักกีฬาฟินแลนด์เดินขบวนภายใต้ธงชาติรัสเซีย และจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เดินแยกกัน(ก่อนจะล่มสลายในอีก 4 ปีต่อมา หลังจบสงครามโลก ครั้งที่ 1)
จุลรัฐอย่าง ลิกเตนสไตน์ ค้นพบระหว่างเกมโอลิมปิก ว่าธงของตนเหมือนกับธงของเฮติ ทำให้นำมาซึ่งการเพิ่มมงกุฏในธงเพื่อความแตกต่าง
ระหว่างปี 1956-1964 นักกีฬาจากเยอรมนีทั้งสอง คือ ตะวันตก และตะวันออก (FRG และ GDR) ได้เดินขบวนภายใต้ธงผืนเดียว เป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีที่ชัดเจน แม้จะมีการแบ่งแยกทางการเมืองก็ตาม
หมายว่า การตัดสินใจที่สะท้อนถึงความซับซ้อนของสงครามเย็น
กีฬาโอลิมปิกที่มอสโก 1980 หลายประเทศคว่ำบาตรการแข่งขันหลังจากการคว่ำบาตรครั้งแรกโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2000 และ 2004 รวมถึงฤดูหนาว 2018 คณะผู้แทนของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เดินขบวนร่วมกันภายใต้ “ธงรวมเป็นหนึ่ง” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความหวังในสันติภาพและการปรองดองบนคาบสมุทรเกาหลี แม้มันจะไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมใดๆ ก็ตามที(เถอะ)
เพราะหนนี้แม้จะดูสมบูรณ์แบบ แต่ความผิดพลาดเป็นเรื่องของมนุษย์ อย่างไรก็ดีที่ไม่น่าพลาดก็คือ การแนะนำนักกีฬาผิด จาก “เกาหลีใต้” เป็น “เกาหลีเหนือ” นี่คือเรื่องใหญ่มาก เพราะทางการเกาหลีใต้เตรียมเอาเรื่อง ทำให้ IOC รีบออกแถลงการณ์ขอโทษผ่านบัญชี X ในภาษาเกาหลี ทันที
ประเทศอื่นๆ เช่น เปอร์โตริโก, ฮ่องกง, เบอร์มิวดา และอารูบา ต่างพากันเดินขบวน แม้ว่าจะไม่ใช่รัฐเอกราชก็ตาม
ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 2024 ที่กรุงปารีส คณะผู้แทนระดับชาติเข้าร่วม 205 คน ซึ่งมากกว่ารัฐสมาชิกของสหประชาชาติ 193 ประเทศด้วยซ้ำไป
สถานการณ์ที่สามารถอธิบายได้ เนื่องจาก “คณะผู้แทนในปัจจุบัน” หาใช่ว่าจะเป็น “คณะผู้แทนจากรัฐบาล” แต่เป็นคณะกรรมการกีฬา สมาชิกของ IOC
ด้วยเหตุนี้ คณะผู้แทนบางส่วนจึงสามารถเข้าร่วมขบวนการโอลิมปิกและขบวนพาเหรดภายใต้ธงของพวกเขาในกีฬาโอลิมปิก แม้ว่าการยอมรับในระดับนานาชาติจะจำกัดก็ตาม
นี่เป็นกรณีของปาเลสไตน์ ตั้งแต่โอลิมปิกเกมส์ที่แอตแลนตา ปี 1996 และของโคโซโว ตั้งแต่โอลิมปิกเกมส์ที่ ริโอ 2016
น่าสนใจก็คือ ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา IOC อนุญาตให้ทีมผู้ลี้ภัยมีส่วนร่วมเพื่อเป็นเวทีสำหรับนักกีฬาผู้พลัดถิ่น ใต้ธงของโอลิมปิก โดยครั้งนี้มีนักกีฬา 36 คนจาก 11 ประเทศในครั้งนี้
ในที่สุดเราได้เห็นเรือลำแรกคือ กรีซ แหล่งกำเนิดของเกม ได้เข้ามาเป็นชาติแรก เป็นหนแรกที่มีนักกีฬาผิวสีของประเทศนี้ถือธงนำนั่นคือ ยานนิส อันเททูคุมโป
การเต้นรำอันเป็นเอกลักษณ์ที่มีอายุย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 1820 หรือที่วิพากษวิจารณ์การแสดงของกลุ่ม LGBTQ ที่เหมือนกับภาพ “The Last Supper”อันลือเลื่อง
แต่ผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์หลายคนมองว่า นี่มันภาพ “The Wedding at Cana” ที่อยู่ตรงข้ามกับภาพอมตะอย่าง โมนาลิซ่า ของดาวินชี ในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์!!!!!
เราได้เห็นภาพของ มารี อ็องตัวแน็ต เจ้าหญิงออสเตรียจากราชวงศ์ฮัพส์บวร์คของจักรวรรดิโรมัน ที่อภิเษกสมรสเข้าสู่ราชวงศ์ฝรั่งเศส และขึ้นเป็นพระราชินีแห่งฝรั่งเศสและนาวาร์ ที่ถูกประหารด้วยกิโยตินในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ข้อหาเป็นทรราชขั้นร้ายแรง
เราได้เห็นคณะจากแอลจีเรีย โยนดอกไม้เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตในแม่น้ำแซนเมื่อปี 1961 ขณะที่ แอลจีเรีย กำลังต่อสู้เพื่อเอกราช ซึ่ง ฝรั่งเศส ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการสังหารหมู่ครั้งนี้ จนกระทั่งปี 1998 เมื่อยอมรับว่า มีผู้เสียชีวิต 40 ศพ
เราได้เห็น ผู้ถือธงปาเลสไตน์ คือ วาเลรี่ ตาราซี่ นักว่ายน้ำวัย 24 ปี ซึ่งมีครอบครัวมาจากฉนวนกาซา ผู้ชนะเลิศการแข่งขันอาหรับเกมส์ปี 2023 พร้อมกับ วาซี อาบู ซาล วัย 20 ปี นักมวยชาวปาเลสไตน์คนแรกในโอลิมปิก
เขาใส่เสื้อที่มีรายละเอียดคือ ระเบิดทิ้งเหนือท้องฟ้าที่มีแดดจ้าในขณะที่เด็กๆ กำลังเล่นฟุตบอล เป็นการแสดงจิตวิญญาณแห่งโอลิมปิก
เราได้เห็น การขี่ม้าขาวการเรียกร้องสันติภาพและความสามัคคีเกิดขึ้นในรูปแบบแนวคิดโอลิมปิก จากนักขี่ม้าหญิงข้ามแม่น้ำแซน
ผู้ถือคบเพลิงคนสุดท้ายเดินทางผ่านพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง “ลูฟร์” ที่รวบรวมสมบัติจากทุกวัฒนธรรมและเชื่อมโยงฝรั่งเศสกับโลกใบนี้
ซีนจากลูฟร์ เกิดขึ้นมากมาย เป็นการใช้ยุคเรืองทางปัญญาผ่านงานศิลปะมากมาย ซึ่งเจ้าภาพทำให้ได้ “อิมแพค” มากๆ เป็นภาพที่น่าประทับใจเมื่อนำ “ศิลปะชั้นเลิศ” เมื่อนำ “ศิลปะอันเลอค่า” และนำ “ศิลปะอันลือเลื่อง” มาบอกกล่าวในคราวเดียว
สมค่าสมราคาพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ยิ่งในช่วงท้ายความพีคก็คือ เราได้เห็นคนถือคบเพลิงในวันเปิดสนามจะต้องเป็นนักกีฬาเจ้าถิ่น แต่เขาเลือกให้ ราฟาเอล นาดาล ชาวสเปน ที่เป็น “คิง ออฟ เคลย์” ราชันคอร์ตดิน แชมป์เฟรนช์ โอเพ่น 14 สมัย แห่งโรลังด์ การ์รอส มารับคบเพลิง แล้วลงเรือไปกับ 2 ตำนานชาวอเมริกัน นั่นคือ คาร์ล ลูอิส ตำนานนักวิ่งกบ เซรีน่า วิลเลี่ยมส์ ยอดหญิงเทนสิส และ นาดียา กอมาเนซี่ นักยิมนาสติกโรมาเนีย เจ้าของตำนาน “เพอร์เฟค เทน” ปี 1976
อามารี มอเรสโม่ ยอดนักเทนนิสหญิง กับ โทนี่ พาร์กเกอร์ ยอดนักบาสชาวฝรั่งเศส รับต่อไปยังจุดมุ่งหมาย และที่น่าประทับใจคือ ชาร์ลส์ คอสต์ วัย 100 ปี
เป็นแชมป์โอลิมปิกชาวฝรั่งเศส ที่อายุยืนที่สุดในยุคปัจจุบัน เจ้าของเหรียญทอง จักรยาน ปี 1948 ส่งคบเพลิงให้กับ 2 นักกีฬาชายหญิงไปจุดเพื่อความเท่าเทียม
มารี-โฮเซ่ เปเรซ แชมป์วิ่งหญิง โอลิมปิก 3 สมัยและแชมป์โลก 2 สมัย เจ้าของสถิติโอลิมปิก 400 เมตรหญิง 48.25 วินาที กับ เท็ดดี้ ริเนอร์ นักกีฬายูโด วัย 35 ปี ร่วมกันจุดคบเพลิงบอลลูนยักษ์
“บอลลูน” ที่มีมนุษย์โดยสารเที่ยวแรก เป็นบอลลูนซึ่งประดิษฐ์ขึ้นโดยสองพี่น้อง “โฌเซ็ป-มิเชล มงต์กอลฟีเยร์ ชาวฝรั่งเศส หลังจากที่ได้ทดลองหลายครั้งทั้งแบบไร้ผู้โดยสารและใช้สัตว์โดยสารในที่สุด
สุดท้าย บอลลูนแบบโยงเชือกที่มีมนุษย์โดยสารก็ถูกสาธิตขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1783 ที่ตุยเลอรีส์
แม้ว่านักประวัติศาสตร์บางคนจะค้านว่า พี่น้องโรเบิร์ต ต่างหากที่เป็นคนทำไม่ใช่ของพี่น้องมงกอลฟิเยร์ แต่ก็นั่นแหละสายพันธุ์อยู่ที่นี่
บอลลูน ลอยขึ้นไปก่อนจะถูกดึงความสนใจกลับไปยังหอไอเฟลอีกครั้ง เมื่อคุณแม่อย่าง “เซลีน ดิออน” ขึ้นไปอยู่บนนั้นแล้ว
ศิลปินนักร้องดังชาวแคนาดา วัย 56 ปี อยู่บนหอไอเฟล ร้องเพลงอมตะยุค 50 ของชาวฝรั่งเศส นั่นคือ Hymne à l’amour ที่ร้องต้นฉบับโดย Édith Piaf นักร้องหญิง เป็นผู้ประพันธ์และร้องไว้ สู่สายตาของสาธารณชนครั้งแรก เมื่อ 14 กันยายน 1949 ก่อนจะเผยแพร่อย่างเป็นทางการ เมื่อ 2 พฤษภาคม 1950
เธอแต่งให้คนรักของเธอคือ มาร์เซล เซอร์ดาน ที่เป็นนักมวย โดยทั้งสองได้พบในปี 1948 ที่นิวยอร์ก ซึ่งเธอไปทัวร์ที่นั่น กระทั่งกลายเป็นเพลงรักอมตะของชาวฝรั่งเศส
ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2015 เซลีน ดิออน เคยร้องเพลงนี้ ร้องเพลงนี้ในระหว่างพิธีมอบรางวัล American Music Awards เพื่อเป็นเกียรติแก่เหยื่อจากการโจมตีที่ปารีส โดยเหตุการณ์อันเศร้าสลดนั้น เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2015
สำหรับ ซีลีน เธอคิดว่า เธออาจจะไม่แสดงอีกเลยเป็นเวลาหลายปี เนื่องจากเธอป่วยด้วยโรค Stiff Person Syndrome (SPS) หรือ “โรคคนแข็ง” ซึ่งอาการของโรค จะทำให้กล้ามเนื้อกระตุก หรือแข็ง โดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เธอประกาศหยุดการแสดงเป็นปีเพื่อรักษาตัว
ถือว่าคลาสสิกมากๆ
ขณะเดียวกัน ชายปริศนาผู้สวมหน้ากาก ถือคบเพลิงโอลิมปิก วิ่งไปตามกลางเวหา และหลังคาบ้านในมหานครปารีส ในระหว่างพิธีเปิดโอลิมปิก
เขาคือ ไซม่อน โนเกรยร่า
ปารีส คือ ต้นกำเนิดของ “ปาร์กัวร์” หรือ “ฟรีรันนิ่ง” ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ ไซม่อน จึงเป็นความลงตัว
เขาฝึกเล่นมาตั้งแต่อายุ 13 ปี เขาติดใจการเล่นและถ่ายทำวีดีโอที่ท้าทายความสูง ที่แสดงถึงความสามารถในการปีนป่ายไปในเมืองโดยเฉพาะบนหลังคาอย่างอิสระของเขา
ปากัวร์ คือพื้นที่สำหรับคนที่ต้องไม่ผิดพลาด ต้องการการกะเวลา หรือไทม์มิ่งที่ใช่ มาพร้อมกับความแม่นยําที่ไร้ที่ติ คนฝรั่งเศส ยกให้ว่า หากคุณกําลังต้องการอะดรีนาลีนพุ่งพล่าน คุณจะต้องไปดูการฟรีรันนิ่งของ ไซม่อน
ปาร์กัวร์ เป็นโอกาสที่จะได้สร้างมุมมองใหม่ของเมือง ค้นพบจุดชมวิวใหม่ๆ และสํารวจขอบเขตใหม่ ซึ่ง โนเกรยร่า กล่าเอาไว้ว่า หากความสำเร็จคือการเดินทาง
นั่นหมายว่า คุณไม่สามารถใช้ชีวิตได้โดยการอยู่กับที่
เขาแสดงร่วมกันกับ อันเดรีย คาตอซซี่ อีกหนึ่งฟรีรันนิ่ง ที่อาจจะเลยเถือเรียกนักกายกรรมก็ได้
การแสดงสตรีทอาร์ต ซ่อนตัวอยู่หลังหน้ากากผู้ถือคบเพลิงในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน
เช่นเดียวกันกับ ฉากพิเศษของจอมป่วน “Minions” สร้างขึ้นโดย Illumination Studios Paris (เหมือนกับภาพยนตร์ Illumination กำกับโดย ปิแอร์ คอฟฟิน (ผู้สร้างและให้เสียงเหล่ามินเนี่ยน) และแพทริค เดเลจ
“ถ้านิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวแบบอเมริกัน สเปเชียลเอฟเฟกต์ทั้งหมดก็ถูกสร้างขึ้นที่ปารีส” ว่ากันอย่านั้นเลย
บทสรุปแห่งค่ำคืนพิธีเปิดนี้มีแต่ภาพที่ทรงพลัง และไม่รู้จะพีคตรงไหนก่อน
การแสดงที่ยอดเยี่ยมของวัฒนธรรมฝรั่งเศส, ค่านิยมแห่งเสรีภาพ และภราดรภาพ
สำหรับผมแล้ว นี่คือการผสมผสานแบบเหลือเชื่อของธรรมชาติ, เทคนิค, ทันสมัย, ให้เกียรติ, เทคโนโลยี และสำคัญ คือ ความเท่าเทียม
ฉีกทุกกฎเกณฑ์แบบละมุนจริงๆ!!!!
ปิดฉากการทำงานประจำวันตั้งแต่ก้าวเท้าออกจากที่พัก 10 โมงเช้า ยาวเหยียดไปยันเที่ยงคืน เป็นการเปียกฝนที่ยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต
แต่เรื่องราวได้ถูกบันทึกชีวิตให้จดจำไปตลอดกาล........
บี แหลมสิงห์
Made in FRANCE
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี