จุลินทรีย์โพรไบโอติก (Probiotics) คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อร่างกายได้รับเข้าไปในปริมาณที่เหมาะสมจะส่งผลดีต่อสุขภาพ พบได้ทั่วไปในผลิตภัณฑ์นมหมัก อาหารหมัก เครื่องดื่ม หรือเป็นเชื้อประจำถิ่น(Normal microbiota) ในสัตว์และมนุษย์ โดยโพรไบโอติกเหล่านี้สามารถสร้างสารที่่เกิดประโยชน์แก่ร่างกาย ได้แก่ กรดอะซิติก กรดแลคติก ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ไดอะเซทิล รอยเทอริน กาบา และแบคเทอริโอซิน เป็นต้น
โดยจุลินทรีย์โพรไบโอติกดังกล่าว มีบทบาทช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่่อาจเกิดขึ้น ด้วยการช่วยรักษาสมดุุลของระบบทางเดินอาหาร ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อไม่เรื้อรัง รวมถึงความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร และช่วยปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกัน
จุลินทรีย์ถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดกลไกการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยเฉพาะในลำไส้มีเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันกว่าร้อยละ 80
จึงถือว่าจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารเป็นแหล่งที่มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์ในการปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกันผ่านการส่งสัญญาณ (Molecular crosstalk) และการสร้างสารสื่อกลางที่สำคัญต่างๆ ซึ่งชนิดของจุลินทรีย์ที่เข้าสู่ร่างกายนั้น จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันจดจำว่าเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีหรือชนิดไม่ดี และมีการตอบสนองแตกต่างกัน
เมื่อจุลินทรีย์โพรไบโอติกชนิดดีผ่านเข้ามาในระบบทางเดินอาหารและเกาะติดผิวเยื่อบุบริเวณลำไส้ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะจดจำและยอมรับให้จุลินทรีย์นั้นอยู่ร่วมกันได้ โดยโพรไบโอติกจะอาศัยอาหารบริเวณลำไส้ในการเจริญเติบโต และสร้างสารที่ทำให้ผู้บริโภคจุลินทรีย์โพรไบโอติกได้รับประโยชน์ร่วมด้วยหลายด้าน อาทิ
-ทำให้สภาพแวดล้อมในบริเวณลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่มีสภาพเป็นกรด ทำให้เชื้อก่อโรคซึ่งมักไม่ทนกรดไม่สามารถเจริญได้
-สามารถผลิตเอนไซม์ที่ช่วยทำให้ระบบย่อยสารอาหารบางชนิด ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี
-สามารถผลิตสารที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคได้ เช่น กรดอินทรีย์ แบคเทอริโอซิน ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และสาร ชนิดอื่นๆ ที่มีประโยชน์ เช่น วิตามิน
-ช่วยปรับสมดุลจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ให้สามารถควบคุมจุลินทรีย์ก่อโรคในระบบทางเดินอาหารได้
-ช่วยส่งเสริมการเคลื่อนที่ภายในระบบทางเดินอาหาร
-ช่วยควบคุมการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้อเยื่อลำไส้ โดยผลของ Short-chain fatty acids (Acetate, Propionate, Butyrate) จะกระตุ้นให้ลำไส้ดูดซับสารอาหารได้เต็มที่ และปรับเปลี่ยนหรือยับยั้งไม่ให้เซลล์กลายเป็นมะเร็ง
-ช่วยส่งผลดีต่อสุขภาพในด้านอื่นๆ เช่น ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันป้องกันการติด เชื้อ ลดการเกิดมะเร็ง
แต่หากเป็นจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ดีหรือเป็นเชื้อก่อโรคเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองแบบต่อต้านโดยกลไกต่างๆ เหนี่ยวนำให้เซลล์ที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันของร่างกายมาดักจับหรือทำลาย แล้วขับออกจากร่างกาย หรืออาจเหนี่ยวนำให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างสารมาทำลายเชื้อโรค ซึ่งถ้าเชื้อก่อโรคนั้นรุนแรงอาจมีการทำลายเซลล์ของเราจนเกิดภาวะการอักเสบรุนแรงได้ ดังนั้น คุณสมบัติการเกาะติดเซลล์เยื่อบุของโพรไบโอติก จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนและส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค
จะเห็นได้ว่าจุลินทรีย์โพรไบโอติกนั้นมีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่การที่จะได้จุลินทรีย์โพรไบโอติกที่ดีและมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีการคัดเลือกและศึกษาคุณสมบัติของการเป็นโพรไบโอติกที่ดีก่อน เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ การจะนำจุลินทรีย์โพรไบโอติกมาใช้ในรูปแบบใดก็ตาม ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจุลินทรีย์และผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกเป็นอย่างดี เพื่อความปลอดภัยและส่งเสริมสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี