อาหารคือสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับอาหารจะถูกเปลี่ยนไปเป็นพลังงานเพื่อใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ของร่างกาย โดยพลังงานที่ร่างกายรับและนำไปใช้นี้มีหน่วยเป็นกิโลแคลอรี แต่โดยทั่วไปมักเรียกย่อๆ ว่า “แคลอรี” ถ้าหากเราได้รับพลังงานมากเกินกว่าความต้องการในชีวิตประจำวันพลังงานก็จะถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมันไปสะสมที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งจะเป็นที่มาของโรคอ้วนและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (United Nation’s Food and Agriculture Organization–FAO) ได้ทำการสำรวจค่าเฉลี่ยพลังงานขั้นต่ำที่ร่างกายต้องการไว้อยู่ที่ 1,800 กิโลแคลอรี สหราชอาณาจักร ได้แนะนำปริมาณพลังงานขั้นต่ำอยู่ที่ 2,500 กิโลแคลอรี ในเพศชาย และ 2,000 กิโลแคลอรี ในเพศหญิง สหรัฐอเมริกา แนะนำปริมาณพลังงานขั้นต่ำของเพศชายเท่ากับ 2,700 กิโลแคลอรี และเพศหญิงเท่ากับ 2,200 กิโลแคลอรี ส่วนในประเทศไทยได้แนะนำปริมาณที่ควรได้รับต่อวันไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 182 พ.ศ.2541 อยู่ที่ 2,000 กิโลแคลอรีต่อวัน ทั้งนี้ปริมาณของพลังงานที่ร่างกายของแต่ละคนต้องการนั้น จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเพศ ขนาดของร่างกาย อายุ กิจวัตรประจำวัน และสุขภาพของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น สภาพภูมิอากาศ โดยในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวร่างกายจะต้องการพลังงานมากขึ้น เพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย เป็นต้น
เราสามารถประมาณพลังงานที่เราต้องการอย่างคร่าวๆ ได้ด้วยตนเอง โดยใช้หลักการของ Harris Benedict ซึ่งจะคำนวณจากอัตราการใช้พลังงานพื้นฐานที่ร่างกายต้องใช้ในการดำรงชีวิต เช่น การหายใจ การรักษาอุณหภูมิของร่างกาย อัตราการใช้พลังงานพื้นฐานเมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะปกติ (Basal metabolic rate- BMR) เราสามารถคำนวณค่า BMR ได้จากสูตร
BMR ของเพศชาย = 66.5+(13.75 x น้ำหนัก (กิโลกรัม)) + (5.003 x ส่วนสูง (เซนติเมตร)) - (6.755x อายุ)
BMR ของเพศหญิง = 55.1+(9.563 x น้ำหนัก (กิโลกรัม)) + (1.850 x ส่วนสูง (เซนติเมตร)) - (4.676x อายุ)
เมื่อเราได้ค่า BMR ซึ่งเป็นค่าความต้องการพลังงานพื้นฐานของร่างกายแล้ว เราก็จะนำมาคำนวณพลังงานที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน (Total Energy Expenditure – TEE) ได้จากสูตร
ผู้ที่มีกิจกรรมเบา-ปานกลาง TEE = 1.3 x BMR
ผู้ที่มีกิจกรรมปานกลาง–หนัก TEE = 1.5 x BMR
ตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งน้ำหนัก 70 กิโลกรัม สูง 170 เซนติเมตร อายุ 30 ปี อาชีพนักวิทยาศาสตร์ ไม่ชอบออกกำลังกาย เราสามารถคำนวณพลังงานที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันได้ ดังนี้
BMR = 66.5 + (13.75 x 70) + (5.003 x 170) – (6.755 x 30) = 1,676.86
TEE = 1.3 x 1,676.86 = 2,179.918 กิโลแคลอรี
ชายคนนี้ต้องได้รับพลังงานไม่เกินวันละ 2,180 กิโลแคลอรี แบ่งพลังงานเป็นสำหรับอาหาร 3 มื้อ ได้มื้อละ 726.7 กิโลแคลอรี ข้าวมันไก่ 1 จาน ให้พลังงานประมาณ 600 กิโลแคลอรี ดังนั้น เค้าควรรับประทานข้าวมันไก่ในมื้อนั้น 1 จาน เพื่อรักษารูปร่างให้คงที่
เมื่อเราทราบปริมาณพลังงานที่เราต้องการในแต่ละวันแล้ว เราก็ควรบริโภคอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ออกกำลังกายให้เหมาะสมและพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อรูปร่างและสุขภาพที่ดีได้
พรรณชรินทร์ ศรัทธา
ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี