“พวกเราอยู่ดีกินดีทุกวันนี้ ก็ด้วยในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์เคยเสด็จมาที่นี่เมื่อหลายสิบปีก่อน ท่านรักชาวดอยชาวเขามาก มาแต่ละครั้งท่านก็สอนให้รักในผืนดิน ผืนป่า ให้ประกอบอาชีพสุจริตพออยู่พอกิน พวกเราก็ยึดถือปฏิบัติกันสืบมา”
“วิจิตร์ พนาเกรียงไกร” แกนนำเครือข่ายลุ่มแม่ละอุป อดีตพ่อหลวง ชุมชนวัดจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ยกมือท่วมหัว น้ำตาคลอเบ้า เมื่อพูดถึงเหนือหัวรัชกาลที่ 9 ที่ย่างพระบาทยาตรามาที่ “วัดจันทร์” เมื่อหลายสิบปีก่อน
แม้ตัวเองจะไม่ได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้ารับเสด็จ แต่ปู่ย่าตายายได้เล่าขานกันไม่รู้จบ ด้วยพระเมตตาที่พระองค์มีต่อชาวดอย ชาวเขา เช่น “ชาวปกาเกอะญอ” อย่างพวกเขา
วิจิตร์ บอกว่า สิ่งที่เห็นจนชินตาทางโทรทัศน์ตั้งแต่เด็ก คือ ภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 เดินถือ “แผนที่” ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงเยี่ยมราษฎรในทุกพื้นที่ ที่เสด็จพระราชดำเนิน
แน่นอนว่า ไม่เฉพาะวิจิตร์เท่านั้นที่เห็นจนชินตา แต่พสกนิกรทั่วประเทศก็เห็นเช่นเดียวกัน เพราะแผนที่นี้เองที่ทำให้พระองค์ทรงรู้จักประเทศไทยทุกตารางนิ้วอย่างลึกซึ้ง ด้วยทรงหาข้อมูลที่แท้จริงและทรงสำรวจสภาพภูมิประเทศไปพร้อมๆกัน
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ “จิสด้า” เป็นหน่วยงานภายใต้กำกับของ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มุ่งมั่นสนองพระราชดำริตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2543 จวบกระทั่งปี 2547 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเคยมีพระกระแสรับสั่งให้ “จิสด้า” จัดเตรียมภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ดำเนินการเหนือ “อ่างเก็บน้ำยางชุม” ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2 แสนไร่ ครอบคลุมลุ่มน้ำกุยบุรี ซึ่ง จิสด้า ได้สนองพระราชดำริ โดยสั่งถ่ายภาพรายละเอียดสูง IKONOS และได้น้อมเกล้าฯถวายในเวลาต่อมา
แผนที่นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญเป็นอย่างมาก และถือเป็น “ต้นแบบ” ที่สำคัญที่ จิสด้า ได้น้อมนำแนวปฏิบัติของพระองค์ท่านมากำหนดเป็นภารกิจหลักขององค์กร ในด้านการนำข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมมาวิเคราะห์ และจัดทำเป็นแผนที่พร้อมใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เพื่อนำไปสู่แก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ในพื้นที่ อ.กัลยาณิวัฒนา ก็เช่นเดียวกัน ที่ จิสด้า ได้น้อมนำพระราชดำริมาใช้ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน และเพื่อยุติปัญหาการบุกรุกผืนป่าเพื่อทำกินแบบเลื่อนลอย พระองค์ทรงเปลี่ยนป่าฝิ่นเป็นป่าพืชเศรษฐกิจ ทั้งสตรอเบอรี่ และพืชผลอื่นๆที่นำรายได้มาเลี้ยงครอบครัว
“ป่าสนวัดจันทร์” ดินแดนเงียบสงบอันไกลโพ้น คือ หนึ่งในพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใน อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ พื้นที่ติดกับ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ถนนหนทางแต่ก่อนทุรกันดาร รถราแทบเข้าไม่ถึง ยิ่งเป็นช่วงฤดูฝน ยิ่งเดินทางด้วยความยากลำบาก แต่ไม่ใช่อุปสรรคที่ “พ่อหลวง” ของแผ่นดินจะเดินทางมาเยี่ยมพสกนิกรของพระองค์
ป่าสนวัดจันทร์ ถือเป็นพื้นที่ “ป่าสน” ที่มีจำนวนมากและสมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นเป็นเพราะชาวบ้านร่วมมือร่วมใจกันรักษา ที่สำคัญปัญหา “หมอกควัน ไฟป่า” ณ ที่แห่งนี้ บอกได้เลยว่าชาวบ้านจัดการกันได้แบบเอาอยู่ และไม่มี Hot spot เลยแม้แต่จุดเดียว
แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็น “ชาวปกาเกอะญอ” ที่แปลว่า “กลุ่มชนที่เรียบง่าย” ต้องเผชิญกับนายทุนรุกป่าที่พยายามยัดเยียดวิถีชุมชนเมือง เพื่อซึมซับบรรยากาศแบบชุมชนชาวป่า แบบลุ่มๆดอนๆ และจ้องทำลายผืนป่า มารุกรานวัฒนธรรมชุมชน คนที่นี่จึงมักบอกว่า “แถวนี้ไม่มีอะไรน่าชมหรอก ไม่น่าอยู่ อย่ามาเลย”
ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมชาวบ้านแถบนี้จึงมักพูดย้ำเสมอ เพราะในอดีตพวกเขาเคยประสบกับการบริหารงานของรัฐและนายทุน ที่ร่วมมือกันเปิดพื้นที่เพื่อให้ชุมชนเมืองเข้ามารุกคืบผืนป่าที่พวกเขารัก จนต้องออกมาปกป้อง และกลายเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ ที่มีการบันทึกถึงการต่อสู้ของ “ชาวปกาเกอะญอ” บ้านวัดจันทร์ ปกป้องผืนป่า ชูธงรบรัฐและนายทุนด้วยวิถี “ธรรมชาติยาตรา” เดินเท้า 750 กิโลเมตร จากป่าสู่เมืองด้วยสันติวิธี จนนำไปสู่การทำ MOU ระหว่างชาวบ้านและราชการ ที่มีมติร่วมกันว่าจะไม่บุกรุกทำลายป่าเขาและพื้นที่ทำกิน
แกนนำคนสำคัญเมื่อสิบกว่าปีก่อน หลายคนคงจำเขาได้ “พ่อหลวง จอนิ ออเดอโช” สมัยเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศไทย กับทีมอาจารย์หมอประเวศ ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า “ชาวปกาเกอะญอ” จะมีการอพยพย้ายถิ่นบ่อย แต่เขาจะบอกว่าเขามิใช่ไปเปิดพื้นที่ใหม่ๆ แต่จะทำเป็นแบบหมุนเวียน ในที่อยู่ที่ทำกิน คือ ย้ายไปย้ายมาก็กลับมาแถบพื้นที่เดิม เขามีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่มีแบบแผนจารีตประเพณี วัฒนธรรมที่มีวิถีชีวิตค่อนข้างชัดเจน เชื่อเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน มีพิธีกรรมหลายอย่างเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พิธีเลี้ยงผีป่า ผีเจ้าที่ ผีน้ำ ผีหมู่บ้าน เด็กแรกเกิดผู้เป็นพ่อจะเอารก หรือสะดือไปผูกกับต้นไม้
“ชาวปกาเกอะญอ” ยังเชื่อว่าวิญญาณของมนุษย์มี 37 ตัว อยู่ในร่างคน 5 ตัว และอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวอีก เช่น สัตว์ป่าทั้งหลาย ทั้งเก้ง กวาง เสือ ไม่เว้นแม้แต่ กุ้ง หอย ปู ปลา รวมแล้ว 32 ตัว
“บรรพบุรุษให้ความสำคัญกับวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ มีความรักธรรมชาติเป็นที่สุด เป็นวิถีชีวิตที่น่าศึกษา กับเสน่ห์อันล้ำลึกของคนที่อยู่ในผืนป่า ผืนสุดท้ายที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
จากเดิมที่ชาวบ้านตกอยู่ในสภาพ Dad Syndrome หรือคุณพ่อเท่านั้นที่รู้ดี กลับมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อบริหารป่าชุมชนร่วมกัน แต่ถึงกระนั้นก็ยังปรากฏว่ามีการ “รุกป่า” อยู่เนืองๆ ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ด้วยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมของ จิสด้า ที่ให้การสนับสนุนอำเภอ โดยมีการตรวจสอบพบมีการรุกป่าจริง จนนำไปสู่การสืบค้นข้อมูลถึงเหตุผลและข้อเท็จจริง
แต่การรุกป่าของชาวบ้านกลับกลายเป็นคนละเหตุผลกับที่นายทุนเคยทำ ซึ่ง จิสด้า ได้ใช้เครื่องมือสำคัญ คือ ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมเป็นจุดชี้บอกสำคัญว่าพื้นที่ไหนถูกบุกรุกบ้าง
นายอำเภอกัลยาณิวัฒนา “บุญลือ ธรรมธรานุรักษ์” บอกว่า แผนที่ของจิสด้าช่วยทางการและช่วยชาวบ้านได้มาก จากพื้นที่ป่า กว่า 9,500 แปลง ที่เราต้องเดินสำรวจและใช้คนมหาศาล จากแผนที่ของจิสด้าชี้เป้าว่า มีเพียง 800 กว่าแปลงเท่านั้นที่เข้าข่ายต้องสงสัยว่ามีการบุกรุกเปิดพื้นที่ทำกินใหม่ ทางอำเภอ ร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้านและเจ้าของพื้นที่ได้ออกสำรวจพื้นที่จริง และพบว่า พื้นที่นั้นปีที่ผ่านมาเกิดไฟป่า กิ่งไม้ ใบไม้ถูกไฟไหม้ จึงทำให้ดูเหมือนว่ามีการบุกรุกแผ้วถาง หากเราเชื่อเฉพาะแผนที่โดยไม่สำรวจ ก็จะเกิดความผิดพลาด เราต้องผสมผสานการทำงานเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้แบบมีระเบียบ กติกา
กระบวนการดังกล่าวนี้ ก่อให้เกิดความเข้าใจ ความชัดเจน ได้ข้อตกลงร่วม และประหยัดเวลา และงบประมาณจากภาครัฐเป็นอย่างมาก ผลที่ได้ตามมาคือ อ.กัลยาฯ ได้พื้นที่คืนเพื่อปลูกป่าหรือ “ฟื้นคืนป่า” เกือบ 5,000 ไร่ ในระยะเวลาเพียงแค่ 8 เดือน หลังจากนี้ต้องมีการติดตามตรวจสอบต่อไป อย่างน้อยปีละ1ครั้ง และที่สำคัญการหนุนเสริมจากทุกหน่วยงานก็ยังเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับชาวบ้าน ทั้งในด้านการเกษตร การจัดการน้ำ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ก็ยังต้องดำเนินต่อไป
“ชาวบ้านปรับตัวตามเทคโนโลยีได้ ไทยแลนด์4.0ก็ไม่ไกลเกินฝันที่จะเป็นจริง เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คนบนดอยก็พร้อมจะรักษาป่าต้นน้ำ ป่าคือชีวิต น้ำคือจิตใจ ดินคือกาย หลอมรวมกันได้
“คน ดิน น้ำ ป่า” ทรัพยากรธรรมชาติจะยังคงอยู่คู่กับแผ่นดินไทย
จากการพูดคุยกับชาวบ้านที่นี่ ทำให้รู้ว่าที่นี่จะทำนาปลูกข้าวไร่ ปลูกพืช ปลูกผัก ทุกอย่างเอง ชาวบ้านกว่าครึ่งนับถือคริสต์นิกายโปแตสแตนท์ “ลุงศิลา” ก็ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น และได้ดูงานได้ดูวิถีชีวิตอีกหลายประเทศ จนท้ายที่สุดก็กลับมาใช้ชีวิตที่เรียบง่ายที่ผืนป่าสนสุดท้ายของประเทศที่นี่
จากปากคำของชายวัยล่วง 70 ปี ทำให้เราได้เห็นถึงปัญญาของ “ชาวปกาเกอะญอ” ในเรื่องการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
“ลุงศิลา” เล่าว่า มีคนจากภายนอกพื้นที่เห็นว่ามีไม้สนมาก จึงสั่งเครื่องแปรรูปไม้มาจากฟินแลนด์ ชาวบ้านทราบข่าวมาต่อต้านไล่ออกนอกพื้นที่ เพราะเขารักป่า เวลาลูกเกิดมาก็จะเอารกมาผูกกับต้นไม้ ให้รู้ว่าเขามีความผูกพันกับธรรมชาติ ชาวปกาเกอะญอมีวิถีชีวิตเป็นของตัวเอง ใช้ภาษาปกาเกอะญอในการสื่อสาร ป้ายบอกทาง สถานที่ต่างๆก็ใช้ภาษาปกาเกอะญอ
แสงสุดท้ายของวันลาลับ...
ความมืดโรยตัวเข้ามาแทนที่...
ขณะที่หลายคนหลับใหล ด้วยอากาศที่เย็นสบาย ปกคลุมด้วยความสงบเงียบ ต้นสนยืนตระหง่าน ปล่อยให้ทุกสรรพสิ่งดำเนินไปตามวิถี การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ท่ามกลางผืนป่าที่สมบูรณ์ของที่นี่ ผุ้คนเลยดูมีจิตใจดี หน้าตาผ่องใส ลุงศิลาและครอบครัวคือตัวชี้วัดที่ดี แต่ถึงกระนั้นกระแสโลกร้อนที่รุกคืบไปทั่วโลก รวมถึงวัดจันทร์แห่งนี้ด้วย
“เมื่อก่อนเดือนเมษายน ที่นี่ยังใส่เสื้อกันหนาวผิงไฟกันอยู่เลย แต่ตอนนี้เริ่มร้อน เราต้องช่วยกันรักษาธรรมชาติกันไว้ เพื่อไม่ให้ลูกหลานเดือดร้อน”
ก่อนจะลาจาก ลุงศิลายังได้ชวนพวกเรามาเที่ยวอีก เพราะอีก 3 ปี เจ้าต้นมะคาเดเมีย ที่ลุงลงแปลงไว้ ก็จะให้ผลพอดี
ป่าสนวัดจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา ชาวบ้านช่วยกันพิทักษ์รักษา ด้วยเพราะเป็น “ป่าของพ่อ แผ่นดินของพ่อ”
# ภาพโดย “วสันต์ วณิชชากร”
พวกเราอยู่ดีกินดีทุกวันนี้ ก็ด้วยในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์เคยเสด็จมาที่นี่เมื่อหลายสิบปีก่อน ท่านรักชาวดอยชาวเขามาก
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี