“เศรษฐพงค์” ไม่รู้สึกเป็นกังวลที่ผู้ชนะ 4G ยังไม่มาชำระค่าใบอนุญาต เพราะเข้าใจสถาบันทางการเงินก็มีการเข้มงวดในการปล่อย แต่เชื่อในท้ายที่สุดทุกอย่างจะเรียบร้อย “ฐากร”ระบุในปี’60 มีแนวโน้มว่า กสทช.จะเปิดประมูลย่าน 2300-2600 เมกะเฮิรตซ์ รอเพียงขั้นตอนกฎหมาย ชี้การลงทุน 4G ทำเศรษฐกิจคึกคัก
พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ชนะการประมูลใบอนุญาต(ไลเซ่นส์) 4G บนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์(MHz) ทั้ง 2 ราย ประกอบด้วย บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด(ทียูซี) และ บริษัท แจสโมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ยังไม่ได้เดินทางมาจ่ายค่าใบอนุญาตงวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาท พร้อมกับหนังสือรับรองทางการเงิน (แบงก์ การันตี) ในส่วนของเงินที่เหลือ แต่ในส่วนตัวแล้วก็ไม่ได้รู้สึกเป็นกังวลแต่อย่างใดเพราะเข้าใจว่าสถาบันทางการเงินก็มีการเข้มงวดในการออกกู้แต่เชื่อว่าในท้ายที่สุดทุกอย่างจะเรียบร้อย
แหล่งข่าวจากกสทช.ระบุว่า ผู้ชนะการประมูลทั้งสองรายยังมีสิทธิที่จะชำระเงินดังกล่าวภายใน 90 วัน ซึ่งจะครบในวันที่ 21 มี.ค. 2559
โดยที่ผ่านมาสถาบันทางการเงินบางแห่งมีการขอเอกสารมายังกสทช.ถึงโรดแมปในการจัดสรรการประมูลคลื่นความถี่ในย่านอื่นของกสทช.ว่ามีตารางการประมูลความถี่อย่างไรเพราะสถาบันการเงินจะต้องประชุมหารือว่าจะอนุมัติวงเงินกู้ในลอตต่อๆ ไปอย่างไร
ทั้งนี้หากในอนาคตสำนักงานกสทช.มีการเปิดประมูลรอบใหม่อีกจะพิจารณาอนุมัติวงเงินกู้อย่างไร จึงอาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้สถาบันทางการเงินบางแห่งที่ทั้งสองบริษัทยื่นขอแบงก์การันตี กำลังพิจารณาอย่างหนัก เพราะบางรายมีกระแสเงินสดอยู่ในเกณฑ์ต่ำบวกกับมีภาระหนี้สินคงค้างจำนวนมากประกอบกับในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีการลงทุนจำนวนมากทั้งค่าใบอนุญาตและการสร้างโครงข่ายจึงอาจเป็นต้นทุนที่ทำให้เอกชนไม่สามารถประกอบธุรกิจได้
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์เคยมีบทเรียนธุรกิจดิจิทัลทีวีที่ธนาคารได้ปล่อยกู้ไปแล้วบางรายไม่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ทำให้มีผลต่อการตัดสินใจในการปล่อยกู้ให้กับผู้ชนะประมูล 4G
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ชี้แจงโรดแมปของกสทช.ในการจัดสรรคลื่นว่า กสทช.ประเมินว่าการจัดประมูลคลื่นที่ได้รับคืนจาก กรมประชาสัมพันธ์ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จะเสนอเป็นแผนประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคมในช่วงปีนี้ และปี 2560 ได้แก่ คลื่น 2300 2600 MHz จำนวน 4 ใบอนุญาต
สำหรับคลื่นย่านความถี่ 2600 นั้น ปัจจุบันถือครองโดยกรมประชาสัมพันธ์ และอสมท ซึ่งขณะนี้กสทช.เจรจาตกลงเบื้องต้นแล้วทั้งสองหน่วยงานยินดีคืนให้จำนวน 40 MHz เพื่อให้ไปประมูลแบ่งเป็น 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 20 MHz ส่วนในย่านความถี่ 2300 นั้นอยู่ในครอบครองของทีโอทีแต่ก็คาดว่าไม่มีปัญหาอะไรในการเรียกคืนความถี่มาจัดสรรใหม่
ทั้งนี้ มองว่าการลงทุนขยายโครงข่าย 4G ในช่วง 2 ปีนี้คือ 2559-2561 น่าจะมีเม็ดเงิน272,284 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.62% ของจีดีพีแบ่งเป็นมูลค่าเพิ่มจากการประมูล 9,750 ล้านบาทลงทุนโครงข่าย อุปกรณ์และระบบที่เกี่ยวข้อง 67,500 ล้านบาท และมูลค่าเพิ่มทางอ้อมจากการใช้งานบริการต่างๆ 195,034 ล้านบาท
นายฐากรกล่าวถึงการเรียกคืนความถี่มาจัดสรรใหม่ กสทช.ต้องมีมาตรการเยียวยาให้หน่วยงานดังกล่าวด้วยซึ่งขณะนี้กฎหมายใหม่ของกสทช.อยู่ในขั้นตอนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) และยื่นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาหากกฎหมายผ่านจะทำให้กสทช.มีอำนาจเยียวยา หรือชดเชยค่าคลื่นได้
ทั้งนี้ในส่วนคลื่นความถี่ 2300 MHz ของทีโอทีจำนวน 40 MHz ก็ต้องมีมาตรการเยียวยาเช่นเดียวกัน ซึ่งกสทช.มั่นใจว่า ทีโอทียินดีคืนคลื่น 40 MHz และสามารถนำไปประมูล 2 ใบอนุญาตใบอนุญาตละ 20 MHz สรุปคลื่นความถี่ 2600 และ 2300 MHz จะเปิดประมูลทั้งหมด 4 ใบอนุญาตได้ในช่วงปี 2560
ส่วนในปี 2561 จะมีคลื่นความถี่ 1800 MHz ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทคที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)สิ้นสุดลงอีก 45 MHz