นักวิชาการห่วง‘ติดGPSรถส่วนตัวทุกคัน’กระทบสิทธิ ชี้ลดอุบัติเหตุควรเข้มสอบใบขับขี่
22 ต.ค. 2562 ศ.ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและการเสียชีวิต วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึงกรณีที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เสนอเมื่อ 21 ต.ค. 2562 ให้ติดระบบติดตามด้วยดาวเทียม (GPS) ในรถยนต์และ มอเตอร์ไซค์ทุกคัน เพิ่มเติมจากเดิมที่ให้ติดเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ เพื่อป้องกันทั้งปัญหาอุบัติเหตุและอาชญากรรม ว่า เรื่องนี้อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านในประเด็นกระทบสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล
กล่าวคือ กรณีการติด GPS ในรถโดยสารสาธารณะนั้นรัฐมีเหตุผลฟังได้เพราะต้องควบคุมความปลอดภัยให้กับผู้ที่โดยสารรถเหล่านั้น เช่น รถประจำทาง รถตู้ รถแท็กซี่ แต่กรณีรถยนต์ส่วนบุคคลนั้นสุ่มเสี่ยงที่จะไปคล้ายกับนิยายเรื่อง “1984” ซึ่งเขียนโดยจอร์จ ออร์เวลล์ เล่าเรื่องประเทศสมมติแห่งหนึ่งที่รัฐบาลมีกลไกเรียกว่า “บิ๊กบราเธอร์” คอยสอดส่องพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของประชาชนอยู่ตลอดเวลา โดยการติด GPS ที่รถยนต์ส่วนบุคคลจะทำให้รัฐบาลย่อมรู้ได้ว่าใครเดินทางไปไหนอย่างไร ประชาชนย่อมไม่สบายใจ
ทั้งนี้ในบางประเทศอาจทำได้เพราะเป็นเผด็จการเต็มที่ แต่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ยังมีวิธีอื่นที่จะป้องกันอาชญากรรม เช่น การข่าว ซึ่งหมายถึงการคัดกรองผู้ต้องสงสัยกลุ่มหนึ่งก่อน เป็นกลุ่มที่มีประวัติ ตนเชื่อว่าหากประเทศไทยมี 70 ล้านคน คนกลุ่มนี้คงมีไม่ถึง 1 ล้านคน และหากเป็นกรณีล่อแหลมจริงๆ ค่อยขอหมายศาลเพื่อใช้เทคโนโลยีในการเฝ้าติดตาม และปัจจุบันก็มีกฎหมายทำนองนี้อยู่แล้ว อนึ่ง แนวคิดของ รมว.คมนาคม อาจต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังที่ในต่างประเทศก็เคยมีการยื่นขอให้ศาลสูงตีความเช่นกัน
ศ.ดร.พิชัย กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งคาดว่าเป็นประเด็นหลักนั้น ตนเห็นว่ารัฐบาลควรสนับสนุนให้เกิดการเรียนการสอนหลักสูตรขับขี่ปลอดภัยดีกว่า โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์ที่เป็นพาหนะหลักในชีวิตประจำวันของคนไทย แต่มีการเรียนการสอนอย่างถูกต้องเหมาะสมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติน้อยมาก จนทำให้สถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย เกิดกับมอเตอร์ไซค์ถึงร้อยละ 70 รัฐควรสนับสนุนให้เกิดการอบรมตรงนี้ก่อนที่จะอนุญาตให้ไปสอบใบขับขี่ ซึ่งในประเทศออสเตรเลียก็ใช้หลักการนี้
“รถยนต์ก็เช่นกัน การเรียนการฝึกควรทำในสภาพความเป็นจริงให้มากขึ้น เช่น พาไปขับบนทางด่วน ไม่เช่นนั้นเขาก็ขับผิดๆ ถูกๆ ไปหัดเองขึ้นทางด่วนครั้งแรกก็ประสบเหตุ รวมถึงสอนการขับในเวลากลางคืน การขับขณะฝนตกเพราะถนนมันจะลื่น ในต่างประเทศเขาทำอย่างนี้หมด สอนตามจริง เรียนรู้จากของจริง อย่างมีคนโชว์ให้เห็นว่าฝนตกควรจะลดความเร็วอย่างไร หรือขับบนทางด่วนไม่ใช่ขับไปจี้ท้ายเขาเรื่อยๆ แถมยังสอนขับขึ้นเนิน-ลงเขาอีกต่างหาก เพราะเขามีบ้านในชนบทที่ต้องขับขึ้น-ลง เขาจะสอนว่าต้องใส่เกียร์อย่างไร” ศ.ดร.พิชัย กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี