นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายปีร์กะ ตาปิโอละ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย ว่า ไทยและอียูเห็นตรงกันที่จะจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายอยู่ในขั้นตอนการจัดทำกรอบการเจรจา ซึ่งระดับเจ้าหน้าที่กำลังเร่งหารือทำเอกสารความคาดหวังร่วมกัน เพื่อใช้เป็นต้นร่างในการนำไปสู่การขอความเห็นชอบจากรัฐบาล ทั้งในส่วนของไทย และรัฐบาลของอียู เพื่อเริ่มการเจรจาอย่างเป็นทางการต่อไป
“การทำ FTA ไทย-อียู เป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ และเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งได้มีการรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว การหารือครั้งนี้อียูคาดหวังว่า ไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ของอาเซียนที่ทำ FTA กับอียู โดย 2 ประเทศแรก คือ เวียดนามกับสิงคโปร์ ถ้ามีการทำ FTA ไทยกับอียูเกิดขึ้นจริง และมีผลบังคับใช้ ไทยจะได้รับประโยชน์เรื่องการค้าและการลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะการค้าไทยกับอียูถือว่าสูงมาก คิดเป็น 8% ของการค้าไทยกับโลก”นายจุรินทร์กล่าว
การหารือครั้งนี้ ไทยและอียูยังมีความเห็นร่วมกันในการใช้องค์การการค้าโลก (WTO) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าในระบบพหุภาคี และจะต้องเร่งเรื่องการปฏิรูป WTO ให้มีสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ เพื่อมาพิจารณาข้อพิพาทให้ได้โดยเร็ว เร่งสรุปการเจรจาเรื่องการอุดหนุนประมง รวมทั้งเห็นร่วมกันในการส่งเสริมการค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ได้ขอให้ท่านทูต เชิญภาคเอกชนของอียูเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564 โดยจะมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching -OBM) ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้นำเข้ากลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เช่น สเปน เดนมาร์ก อิตาลีสาธารณรัฐเช็ก เป็นต้น โดยไทยจะจัดงานแสดงสินค้าหลายกลุ่ม เช่น อาหาร ผลไม้ เครื่องดื่ม เครื่องมือแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น