** การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่ทันสมัยใหม่และตลาดที่มีการแข่งขันที่กว้างขึ้นสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล ทำให้ธุรกิจโทรคมนาคม ที่ใกล้จะถึงทางตันต้องปรับตัวสู่รูปแบบบริการที่เป็นดิจิทัลโดยใช้ศักยภาพความแข็งแกร่งของแต่ละฝ่ายร่วมกัน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค และยกระดับให้บริษัทไทยก้าวไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่สามารถแข่งขันกับผู้เล่นชั้นนำระดับโลกได้ และการที่กลุ่มซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ประกาศความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน เพื่อหนีกระแส disrupt ปรับโครงสร้างองค์กรของทรูและดีแทค หรือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) จากธุรกิจ Telco สู่Tech Company โดยตั้งเป้าผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากกว่า...การจ้องจับผิดหรือสร้างวาทกรรม คำว่าผูกขาดหรือกินรวบให้เกิดขึ้นในสังคมไทย!!
การร่วมมือของทั้งสองบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น...ยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน อีกหลายกระบวนการที่ต้องศึกษาว่ามีโอกาสที่จะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่การประกาศแจ้งสาธารณชน เพื่อความโปร่งใสและจะทำให้สะดวกในการหารือทำธุรกรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้อย่างเปิดเผย ...ทั้งทรูและดีแทคจะดำเนินการตามเงื่อนไขต่างๆ เช่น ตรวจสอบกิจการของอีกฝ่ายหนึ่งให้แล้วเสร็จเป็นที่พอใจ ขออนุมัติเรื่องที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท, ดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ภายหลังจากวันนี้ยังดำเนินธุรกิจกันเหมือนเดิมทุกคนยังทำหน้าที่ต่อไป ยังมีการแข่งขันทางการตลาดกันต่อไป ในส่วนของพนักงานก็ไม่มีการ lay off ใดๆ
เวลานี้สังคมต้องทำเข้าใจอย่างถูกต้อง อย่าเพิ่งตีโพยตีพายหรือโยงความร่วมมือที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเมือง ....ย้ำอีกทีว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ..การพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีทั้งปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยีIoT อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชั่น ฯลฯ เป้าหมายคือเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพไทยและสตาร์ทอัพต่างประเทศ ที่ตั้งในประเทศไทยมีแผนการศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ และดันให้ไทยขึ้นสู่ศูนย์กลางเทคโนโลยีดิจิทัลของภูมิภาค
ในประเด็นที่กังวลเรื่องบริการโทรศัพท์มือถือ...ต้องยอมรับความจริง ในประเทศไทยใช่เพียงจะมีค่ายมือถือแค่ 3 ค่ายเท่านั้น ในตลาด Telecom ยังมีผู้เล่นอีกหนึ่งราย คือ NT ที่เกิดจากการรวมตัวกันของ CAT และ TOT ซึ่งมีรัฐบาลเป็นแบ๊กอัพโดย NT มีทรัพยากรทุกอย่างในมือครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นคลื่น เครือข่าย ศักยภาพทางการแข่งขัน รวมถึงพนักงานอีกนับแสนคน หาก NT จะนำศักยภาพที่มีออกมาใช้มากขึ้น... ดังนั้น ความร่วมมือของทรูและดีแทคไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ อาจจะเรียกว่ามาช้าแต่ดีกว่าไม่มาด้วยซ้ำ ทำให้มีการแข่งขันกันทั้งทางด้านการพัฒนาและการบริการ การขยายพื้นที่การให้บริการ และการแข่งขันด้านราคา ท้ายที่สุดผลประโยชน์ตกอยู่ที่ผู้บริโภคเป็นสำคัญ...ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายมีความกังวลและเป็นห่วงเรื่องราคาค่าบริการที่ลูกค้าต้องจ่ายสูงขึ้นนั้น....ต้องไม่ลืมว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้ควบคุม และ โอเปอเรเตอร์ ถูกกำกับดูแลเรื่องราคาจาก กสทช. และราคาค่าบริการปัจจุบันต่ำกว่าอัตราที่กสทช. กำหนดเสียอีก
เมื่อโลกเปลี่ยนทุกธุรกิจต้องปรับตัวไปตามกระแสโลกที่เปลี่ยนไป การที่ธุรกิจของไทยปรับตัวเชิงรุก จึงไม่เพียงจะอยู่รอด แต่ยังก้าวข้ามสภาพการแข่งขันฟาดฟันกันเองในประเทศไปสู่โอกาสที่จะก้าวกระโดดเป็นผู้เล่นระดับโลกได้ จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและควรสนับสนุน เพราะจะช่วยเปิดโอกาสให้กับประเทศได้อีกหลายทางในอนาคตที่ไม่ไกลจากนี้
พงษ์พันธุ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี