ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่4 ม.ค. 2565 ที่ประชุมได้เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 พร้อมเห็นชอบ ปรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปี 2565 ครั้งที่ 1
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 85,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74 ประกอบด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำ 2.390 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปี 2565 จำนวน 16,990 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.72 สัดส่วนร้อยละ 75.04 ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด สำหรับงบลงทุน จำนวน 695,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 83,066.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.57 สัดส่วนร้อยละ 21.82 ของวงเงินงบประมาณ
ด้านรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 100,000 ล้านบาทเท่ากับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.14ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด สำหรับประมาณการรายได้สุทธิ 2.49 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2565 จำนวน 90,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.75
ทั้งนี้ รัฐบาลยังเดินหน้าจัดทำงบประมาณขาดดุล 695,000 ล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปี 2565 จำนวน 5,000 ล้านบาทหรือลดลงร้อยละ 0.71 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.89 ของจีดีพี โดยวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.185 ล้านล้านบาท อยู่ในกรอบวงเงิน ตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566-2569) 2564
ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ ปรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปี 2565 ครั้งที่ 1โดยปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่ม 20,700 ล้านบาท ประกอบด้วย อาทิ แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ 700 ล้านบาท สำหรับอีก 20,000 ล้านบาท เป็นแผนเงินกู้เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อชดเชยราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง โดยในส่วนของรัฐบาลไม่มีแผนการก่อหนี้ใหม่
ขณะที่ นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จัดทำข้อเสนอแนะ มาตรการบริหารความเสี่ยง ทั้งระยะสั้นและระยะปานกลางสำหรับในแต่ละกรณีเป็นการล่วงหน้า สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งติดตามการขับเคลื่อนมาตรการของรัฐบาล เช่น การเร่งสร้างรายได้ใหม่ตามมาตรการของรัฐบาล เช่น มาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย (LTR) มาตรการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) มาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการด้านเทคโนโลยีและธุรกิจเกิดใหม่ (Startup) ฯลฯ