นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกรกฎาคม 2565 เท่ากับ 107.41 เทียบกับมิถุนายน 2565 ลดลง0.16% เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2564 เพิ่มขึ้น 7.61%ซึ่งลดลงจากเดือนมิถุนายน 2565 ที่เคยขึ้นไปถึง 7.66% ส่วนเงินเฟ้อรวม 7 เดือนปี 2565 (มกราคม-กรกฎาคม) เพิ่มขึ้น 5.89% และเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออกดัชนีอยู่ที่ 103.50 เพิ่มขึ้น 0.50% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2565 และเพิ่มขึ้น 2.99% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2564 และเฉลี่ย 7 เดือนเพิ่มขึ้น 2.01%
ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น สาเหตุหลักยังคงเป็นสินค้ากลุ่มพลังงาน ที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 33.82% แม้ว่าน้ำมันบางชนิด เช่น แก๊สโซฮอล์ เบนซิน จะลดลง แต่ดีเซลที่เป็นต้นทุนการผลิตและการขนส่งยังคงเดิม รวมถึงก๊าซหุงต้มค่าไฟฟ้า ยังคงอยู่ในระดับสูงส่วนสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 8.02% โดยสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น ไก่สด พริกสด ต้นหอม เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มดีเซล ค่าขนส่ง ขณะที่หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 7.35% สินค้าสำคัญที่สูงขึ้น เช่น หมวดเคหสถาน เพิ่ม 8.42% โดยเพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม
อย่างไรก็ตาม มีสินค้าสำคัญหลายรายการลดลง เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักและผลไม้บางชนิด เช่น ถั่วฝักยาว มะนาว ขิง ผักคะน้า กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง และลองกอง เป็นต้น
นายรณรงค์กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคม 2565 ยังประเมินไม่ได้ เพราะมีหลายปัจจัยมากหากกลุ่มพลังงาน ราคาสูงขึ้น เงินเฟ้อก็จะสูง ถ้าราคาทรงตัวหรือลดลง เงินเฟ้อก็จะลดลง แต่เดือนสิงหาคม2564 ฐานเงินเฟ้อต่ำ ก็น่าจะมีผลทำให้เงินเฟ้อสูง ส่วนผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม หากดูสมมุติฐานนี้ ก็มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อบ้าง แต่สัดส่วนในการคำนวณเงินเฟ้อ ไม่ได้มาก อย่างค่าไฟมีสัดส่วน 3.85%
ทั้งนี้ สนค.ได้ปรับเป้าหมายตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2565 ใหม่ เป็นระหว่าง 5.5-6.5% ค่ากลาง6% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 4.5% ค่ากลาง 4.5%ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคาดการณ์เงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมิน 4.2-5.2% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 6.2% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) 6.5% คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) 5.7% และแบงก์เอกชน ประเมิน 5.9% และ 6% เป็นต้น
สิ่งที่จะต้องติดตามอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2565 ยังจะต้องจับตาสถานการณ์ความตึงเครียดสงครามรัสเซียและยูเครนว่าจะจบอย่างไรและขณะนี้ยังจะต้องดูว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนรวมทั้งไต้หวันจะออกมาอย่างไร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย