“พลาสติก” วัสดุที่สร้างความสะดวกในชีวิตประจำวันของผู้คน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นวัสดุที่หากทิ้งเป็นขยะแล้วจะกำจัดได้ยากมาก การเผาในที่โล่งก่อให้เกิดมลพิษเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่การทิ้งไว้เฉยๆ ก็ต้องใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าจะย่อยสลาย “รีไซเคิล (Recycle)” หรือการนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่ภาคส่วนต่างๆ พยายามส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย
ข้อมูลจาก กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทย ในปี 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 24.98 ล้านตัน ซึ่งแม้ในภาพรวมจะลดลงจากปี 2563 แต่เมื่อดูตามประเภทขยะ พบว่า ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้การเรียนและการทำงานเกิดขึ้นที่บ้าน นำมาซึ่งการพึ่งพาบริการสั่งและส่งอาหาร (Food Delivery) ซึ่งมักมาพร้อมกับผลิตภัณฑ์จากพลาสติกทั้งถุงหูหิ้ว กล่องใส่อาหาร ถุงร้อน-เย็น ตลอดจนภาชนะและช้อน ส้อม มีดพลาสติก ฯลฯ
อนึ่ง นอกจากรีไซเคิลแล้ว ระยะหลังๆ ยังมีคำว่า “Upcycling” หมายถึงนอกจากจะนำวัสดุที่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่แล้ว ยังมีกระบวนการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วย ซึ่งตอบโจทย์ “เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)” หมายถึง หลักการใช้สิ่งต่างๆ ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุดและลดสิ่งที่จะกลายเป็นขยะให้เหลือน้อยที่สุด ผ่านกระบวนการออกแบบ แปรรูปและนำกลับมาใช้ใหม่
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทชั้นนำด้านพลังงาน ซึ่งด้วยความที่พลาสติกนั้นผลิตขึ้นจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จึงมีความตระหนักในบทบาทการดูแลสิ่งแวดล้อม และลงมือขับเคลื่อนการนำพลาสติกใช้แล้วกลับมา Recycle หรือ Upcycling อย่างจริงจัง อาทิ บทความ “ถุงพลาสติก” ที่พวกเราใช้แล้วนั้น … ถูกนำไปรีไซเคิลอย่างไร? ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ ปตท. ให้ความรู้เกี่ยวกับประเภทของถุงพลาสติกและการนำไปรีไซเคิล ได้แก่
“ถุงพลาสติก HDPE” แข็งแรงทนทาน มีสีขุ่น มักใช้เป็นถุงหูหิ้วตามร้านสะดวกซื้อ นำไปรีไซเคิลได้ง่าย ส่วนใหญ่จะนำไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ “ถุงพลาสติก LDPE” เหนียว ยืดหยุ่นได้ดี มักใช้เป็นถุงห่อแพ็คสินค้าที่มีน้ำหนักมาก เช่น ถุงห่อแพ็คน้ำดื่มขวด ถุงบรรจุน้ำแข็ง และถุงหูหิ้วชนิดเหนียวพิเศษ แม้จะนำไปรีไซเคิลได้ยาก แต่ก็สามารถนำไปผลิตเป็นถุงพลาสติกแบบบาง ถุงดำ หรือถุงใส่ขยะได้ “ถุงพลาสติกชนิด PP” ด้วยคุณสมบัติทนความร้อนได้สูง จึงมักถูกใช้เป็นถุงบรรจุอาหาร เช่น ถุงร้อน ถุงหูหิ้วแบบใส สามารถนำไปรีไซเคิลเป็นถุงร้อนใส่อาหาร หรือกล่องพลาสติกที่สามารถเข้าไมโครเวฟได้ หรือแก้วพลาสติกแบบแข็ง
หรือโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ที่หนึ่งในบริษัทในเครือ ปตท. อย่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมมือกับหลายภาคส่วน รวบรวม “ขวดพลาสติก (PET)” แทนที่จะปล่อยให้เป็นขยะก็นำมาผ่านกระบวนการแปรรูป และออกแบบให้กลายเป็นสินค้าแฟชั่นสุดเก๋อย่างเสื้อยืดและกระเป๋า ต่อมาโครงการดังกล่าวยังได้รับการต่อยอดในชื่อ Upcycling Upstyling
โดยเปิดโอกาส ให้หลากหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและใช้งานพลาสติก เช่น ผู้ประกอบการด้านบรรจุภัณฑ์ ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมประมง (แห อวน) โรงพยาบาล ฯลฯ ร่วมพัฒนาผลงานกับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นดีไซเนอร์ชั้นนำ ออกแบบผลิตภัณฑ์จากขยะพลาสติกหรือพลาสติกเหลือใช้ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทั้งใช้งานได้จริง สวยงามและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่ม ปตท. ผนึกกำลังกับ เครือโรงพยาบาลสินแพทย์ เปิดตัว โครงการ “คุณรักโลก โลกรักคุณ" จัดตั้งจุดเก็บ “ซองยาพลาสติกใช้แล้ว” เพื่อนำไปรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเป็นความร่วมมือระหว่างโครงการบริหารการสร้างประโยชน์ร่วมธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น กลุ่ม ปตท. หรือ PRISM ร่วมกับ โครงการ “Youเทิร์น แพลตฟอร์ม” โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จัดตั้งจุดรับซองยาใช้แล้วในพื้นที่โรงพยาบาลสินแพทย์ 4 สาขา ได้แก่ เทพารักษ์ ศรีนครินทร์ เสรีรักษ์ และ รามอินทรา
และโรงพยาบาลวิภาราม 2 สาขา ได้แก่ พัฒนาการ และ ชัยปราการ ในระยะทดลองดำเนินการ เพื่อทำการเก็บข้อมูล ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำพลาสติกจากซองยาใช้แล้วมา Upcycling ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพและมูลค่าสูงขึ้น อีกทั้งยังมีเป้าหมายให้ประชาชนตระหนักถึงการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกต้องเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัญหาการจัดการขยะพลาสติกต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้ง ผู้ใช้ ผู้ผลิต ในทุกอุตสาหกรรม จึงจะสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี