‘วรวัจน์‘ ชี้ หลักบริหารการเงินภาครัฐทุก รบ. ไม่เคยใช้คำว่าขาดทุนกับนโยบายใดมาก่อน แปลกใจ สั่ง ‘ยิ่งลักษณ์’ ชดใช้หมื่นล้าน รับหนักใจหากประเทศมีมาตรฐานแบบนี้ อนาคตคนไม่กล้าทำนโยบายดีๆเพื่อปชช. ลองจับหลักมาตรฐานทั่วโลก ป้อนคำถาม ChatGPT ยังได้คำตอบว่า การบริหารนโยบายรัฐใช้คำว่า ขาดทุนไม่ได้
วันที่ 24 พฤษภาคม 2568 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ชี้ถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีโครงการรับจำนำข้าว จำนวน 10,028 ล้านบาท ว่า โดยหลักของการบริหารประเทศนั้น มุ่งเป้าไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก เม็ดเงินงบประมาณของประเทศจะถูกใช้ไปในการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจทั้งหมด จะใช้คำว่า ขาดทุนไม่ได้ เห็นได้ชัดว่า จากรายงานทางการเงินของทาง สตง.เอง ก็ไม่เคยมีรายงานการปิดบัญชีว่ามีการขาดทุนเกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าวหรือในระบบงบประมาณของประเทศไทยมาเลย ซึ่งการทำนโยบายของรัฐตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนอย่างโครงการรับจำนำข้าว ก็เหมือนกับทุกนโยบายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประกันราคาข้าว ประกันยุ้งฉาง หรือโครงการช่วยเหลือผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆทั่วไป ไม่มีข้อแตกต่าง และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือการดำเนินการเอาผิดกับน.ส.ยิ่งลักษณ์นี้ มีการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 เข้ามาดำเนินการ ทำให้เกิดบรรทัดฐานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายในสายตาของนานาประเทศอื่นๆเป็นอย่างมาก เพราะแม้เช่นประธานาธิบดีทรัมป์ ถึงจะออกนโยบายใดๆมา แล้วมีความเห็นของประชาชนกลุ่มหนึ่ง บอกว่าผิดพลาดไม่เห็นด้วย ก็ไม่สามารถไปเอาผิดเขาได้ เพราะทำในฐานะผู้บริหารประเทศที่ตัดสินใจบนผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าทุกนโยบายก็ต้องมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว และการตัดสินการตัดสินใจทางการเมือง จะอยู่ที่ผลการเลือกตั้งของประชาชน แต่การเอาบรรทัดฐานซึ่งไม่ใช่บรรทัดฐานสากลมาบังคับใช้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหายได้
นายวรวัจน์ กล่าวอีกว่า ประการสำคัญอีกประการหนึ่งคือ โครงการจำนำข้าวไม่ใช่ว่า จะมีโอกาสว่าเสียหายอย่างเดียว แต่มีโอกาสที่จะมีกำไรด้วย เพราะตัวเลขปิดบัญชีระหว่างปี เป็นแค่ตัวเลขในขณะหนึ่งๆเท่านั้น การชี้แจงในกระบวนการว่ามีผลติดลบ เป็นแค่ช่วงเวลาช่วงใดช่วงหนึ่งเท่านั้น และมีเหตุเกิดขึ้นในระหว่างรอยต่อการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งขณะนั้นมีการปิดโกดังข้าวจนทำให้ข้าวเสื่อมราคา แม้ช่วงนั้นจะมีผู้ต้องการซื้อข้าวในราคาที่สูงแต่ก็ไม่สามารถซื้อได้ แต่กลับถูกขายออกไปในราคาที่ต่ำเหมือนกับข้าวหมดสภาพแล้ว นี่คือปัญหาเชิงการเมืองที่จะพยายามเอาผิด มากกว่าปัญหาในทางปฏิบัติจริง ซึ่งตนเห็นว่าควรจะต้องมีการทบทวนในเรื่องนี้ และดำเนินการตามหลักนิติรัฐ และนิติธรรมที่แท้จริง ไม่ใช่การเอาเหตุผลทางการเมืองในช่วงการปฏิวัติรัฐประหารมามีส่วนในการตัดสินใจ ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปในอนาคตจะไม่มีใครกล้าตัดสินใจทำนโยบายดีๆอะไรเพื่อพี่น้องประชาชนเลยเพราะทุกคนจะมัวเกรงว่าหากคิดทำนโยบายอะไรไปแล้ว ถึงแม้จะดีอย่างไร ก็อาจจะถูกนำกลับมาเล่นงานเชิงการเมืองได้อีกในภายหลัง
“ความจริงแล้วต้องบอกว่าถ้าถามพี่น้องชาวนาและประชาชน ก็จะได้คำตอบว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ดีที่สุดโครงการหนึ่งที่พี่น้องชาวนาให้ความชื่นชม และแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน ให้พี่น้องประชาชนมีเงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้นได้อย่างแท้จริง ดีขึ้นจนกระทั่ง รัฐบาลนส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สามารถลดการขาดดุลงบประมาณ เพราะได้รับภาษีเพิ่มมากขึ้น ในภาพรวมของทุกประเทศทั่วโลกทุกประเทศต่างก็ดำเนินการในรูปแบบนี้ทั้งหมด คือโดยการใช้จ่ายเงินของภาครัฐจะไม่มีคำว่าขาดทุน ประเทศไทยเราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาต่อการบริหารประเทศในระยะยาว ผมได้ลองยกตัวอย่างข้อเท็จจริง โดยให้ลองตั้งคำถามลักษณะนี้กับ ChatGPT ซึ่ง เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่ได้มีอคติทางการเมือง และไม่ได้เป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง บทวิเคราะห์ยังออกมาในลักษณะเดียวกันนี้เลย ดังนั้น ถ้าว่ากันด้วยหลักจริงๆ คำตอบยังไงก็ออกมาตรงกันทั้งโลกครับ“ นายวรวัจน์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี