นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ได้สำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยในปีนี้ พบว่า คนไทย เกือบ 100% มีหนี้ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล และบัตรเครดิต โดยกลุ่มตัวอย่าง 1,350 ตัวอย่างทั่วประเทศ ที่ส่วนใหญ่มีรายได้เกิน 50,000 บาทต่อเดือน/ต่อครัวเรือนซึ่งรายได้ต่อครัวเรือน ยังน้อยกว่ารายจ่าย ทำให้การใช้ไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันค่าครองชีพสูงเกินไป ซึ่งพบว่ากลุ่มตัวอย่างถึง 99.6% มีหนี้สิน มาจากหนี้ส่วนบุคคล รองลงมาหนี้จากบัตรเครดิต นำมาใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค และซื้อสินค้าคงทน อย่างเช่น ยานพาหนะ และที่อยู่อาศัย รวมทั้งหนี้เพื่อการประกอบธุรกิจ ทำให้ยอดหนี้ต่อครัวเรือนรวมมีถึง 500,000 บาทแม้จะเป็นอัตราหนี้ที่สูง แต่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดจากทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง เช่น บ้าน คอนโดฯ เป็นต้น
ทั้งนี้ จำนวนหนี้เฉลี่ย 501,711 บาทต่อครัวเรือน เป็นจำนวนหนี้ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขยายตัว 3.7% แต่ส่วนใหญ่เป็นหนี้อยู่ในระบบมากขึ้นที่ 78.9% ซึ่งผ่อนชำระประมาณเดือนละ 12,801 บาท ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กว่า 65.9% เคยประสบปัญหาการขาดการผ่อนชำระ หรือ ผิดนัดการผ่อนชำระ เนื่องจากรายได้ลดลง เศรษฐกิจไม่ดี และค่าครองชีพที่ไม่สอดคล้องกับรายได้นอกจากนี้ ในกลุ่มตัวอย่าง มีข้อเสนอแนะภาครัฐ จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มีการให้ความรู้เรื่องการบริหารหนี้การฝึกอบรมอาชีพเพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพ ให้ความรู้เรื่องการวางแผนการใช้จ่าย และรู้จักใช้จ่ายอย่างพอเพียง
“แม้จำนวนหนี้ต่อครัวเรือนในปีนี้จะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ส่วนใหญ่อยู่ในระบบ จึงสะท้อนได้ว่าคนไทยเข้าถึงสินเชื่อ หรือ กู้ในระบบได้มากขึ้นเพราะมีทรัพย์สิน และถือเป็นเรื่องปกติที่คนชั้นกลางจะก่อหนี้เพื่อซื้อสินทรัพย์ รวมทั้งหลังจากนี้ภาครัฐ และเอกชน จะต้องเร่งลงทุน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศมาทดแทนมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่ไม่สามารถทำได้ในระยะยาว ดังนั้น หากเศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวได้เร็วและนักท่องเที่ยวที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย จะค่อยๆ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนปัญหาหนี้เสีย หรือ NPL ก็ยังไม่น่ากังวล เพราะสถาบันการเงิน ต่างตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ และการติดตามหนี้ในระบบ ก็มีกระบวนการไกล่เกลี่ยตามกลไกปกติ จึงไม่น่าจะเกิดภาวะ NPL สูงขึ้นได้แน่นอน” นายธนวรรธน์กล่าว
ทั้งนี้คาดว่า หนี้ครัวเรือนไทย ณ สิ้นปี 2565 จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 89.3% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) คิดเป็นมูลค่าหนี้ครัวเรือน 14.97 ล้านล้านบาท ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 ปีนับตั้งแต่ที่ ม.หอการค้าไทย ได้เคยทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2550 แต่อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนในระดับ 80-90% ต่อจีดีพี ในทางเศรษฐศาสตร์ยังไม่น่ากังวล เพราะเป็นหนี้ที่อยู่ในระบบคิดเป็นสัดส่วนถึง 79% ส่วนหนี้นอกระบบอยู่ที่ 21% ชี้ว่า สินเชื่อในระบบยังสามารถทำงานได้ดี โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่มีทรัพย์สินค้ำประกัน เช่น บ้าน รถยนต์ ซึ่งการกู้เงินในระบบจะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้เงินนอกระบบมาก อย่างไรก็ดี มูลค่าหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจจะเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ไม่โดดเด่นนัก
นายธนวรรธน์กล่าวว่า การที่จะให้หนี้ครัวเรือนลงมาอยู่ในระดับ 80% ต่อจีดีพีเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิดนั้น จะต้องทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตสูง ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำนับจากนี้ คือสนับสนุนการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและต่างจังหวัด เพื่อให้ในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น พร้อมคาดว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปี 2566 จะดีขึ้น จากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเริ่มคลี่คลายลงได้บ้าง