“เพราะเรามีโลกแค่ใบเดียว” มนุษย์จึงต้องช่วยกันรักษาดวงดาวที่เป็น “บ้าน” หลังนี้ไว้ ทำให้แนวคิด “Carbon neutrality” หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน หมายถึง การกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้เท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดกลับคืนมา และ “Net Zero” หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หมายถึงกิจกรรมหรือกระบวนการผลิตต่างๆ จะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกอีกต่อไป ถูกพูดถึงอย่างมากในระยะหลังๆ บนเวทีประชุมใหญ่ๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะในการประชุม “COP26” หรือการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 เมื่อปลายปี 2564 คาดหวังให้แต่ละชาติตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้ที่ Net Zero ให้ได้ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) เพื่อให้อุณหภูมิของโลกไม่เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือประมาณ 300 ปีที่แล้ว ซึ่งสำหรับประเทศไทย ให้ให้คำมั่นในการประชุมครั้งนี้ว่า จะบรรลุเป้าหมาย Carbon neutrality ให้ได้ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) และมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero ได้ภายในปี 2065 (พ.ศ.2608)
ซึ่ง “EV” หรือยานยนต์ไฟฟ้า เป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่จะผลักดันให้เป้าหมายดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่อากาศเหมือนเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน หลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญถึงขั้นตั้งเป้าหมายว่าจะหยุดจำหน่ายยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเมื่อใด รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการหันมาลงทุนผลิตทั้งตัวรถ แบตเตอรี่ ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างสถานีชาร์จพลังงาน
เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย Carbon neutrality และ Net Zero ทั้งของไทยและโลก “ปตท.” ในฐานะบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์มุ่งสู่ความยั่งยืน ด้วยวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต” หนึ่งในนั้นคือการก่อตั้ง บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำธุรกิจแบตเตอรี่ของกลุ่ม ปตท.
นูออโว พลัส ก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตและจัดจำหน่ายแบตเตอรี่ประเภทลิเธียมภายใต้ แบรนด์ G-Cell ด้วยนวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ SemiSolid แห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ที่มีจุดเด่นในเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานสูง มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า เหมาะกับรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย รวมทั้งยังสามารถรีไซเคิลได้ง่ายเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จึงเป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยโรงงานของ Nuovo Plus ตั้งอยู่ ณ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ นูออโว พลัส ได้ร่วมกับ Gotion Singapore Pte. Ltd. (Gotion) บริษัทในกลุ่มของ Gotion High-tech Co., Ltd. จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้า ประกอบ และจัดจำหน่ายโมดูลแบตเตอรี่และชุดแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูงสู่ตลาดภายในปี 2566 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และขยายกำลังการผลิตเป็น 2 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ภายในปี 2568
ซึ่ง Gotion High-tech Co., Ltd. เป็นบริษัทผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านพลังงานใหม่ (New Energy Solution) ชั้นนำ ดำเนินธุรกิจการผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเธียม รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน มีลูกค้าเป็นกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงานในระดับผู้นำอุตสาหกรรมของจีน และได้การยอมรับในระดับสากล มีความเชี่ยวชาญในการประกอบธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่ผ่านฐานการผลิตขนาดใหญ่กว่า 14 แห่งทั่วโลกและเครือข่ายด้านวัตถุดิบของการผลิต 5 แห่งทั่วโลก ตลอดจนมีการดำเนินธุรกิจครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และยังรวมถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่อีกด้วย
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด เปิดเผยว่า การผลิตแบตเตอรี่เพื่อระบบกักเก็บพลังงานและยานยนต์ไฟฟ้าถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งการร่วมทุนจัดตั้ง NV Gotion ครั้งนี้ เป็นไปตามทิศทางกลยุทธ์การลงทุนธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตของกลุ่ม ปตท. เพื่อเร่งสร้าง Energy Storage and EV Value Chain ให้ครอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
โดยการผสานความเชี่ยวชาญจาก Nuovo Plus และ Gotion ทั้งในด้านของการวิจัยพัฒนา ศักยภาพการผลิตแบบแข่งขันได้ การบริการด้านเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีโดยตรง และการให้บริการแบบครบวงจรในประเทศไทย จะทำให้สามารถส่งมอบประสบการณ์การใช้งานแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลสู่ลูกค้าอุตสาหกรรมในไทยและอาเซียน
“NV Gotion จะเริ่มก่อสร้างโรงงานประกอบชุดแบตเตอรี่ขนาด 2 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คาดว่าจะสามารถผลิตและส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูงแก่ตลาดได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2566 นับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และผลักดันเป้าหมาย Net Zero ของประเทศจากทุกภาคส่วนร่วมกัน” ดร.บุรณิน กล่าว