นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ปเปิดเผยว่า บริษัท ได้ร่วมมือกับ บริษัท เจร่า เอเชีย จำกัด (“เจร่า เอเชีย”) บริษัทในเครือของบริษัท เจร่า จำกัด (“เจร่า”) พัฒนาแผนงานการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการดำเนินธุรกิจ โดยร่วมกันศึกษาการนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจน แอมโมเนีย และเทคโนโลยีการดักจับการใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน(Carbon Capture, Utilization and Storage :CCUS) มาใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้า ปูทางสู่เป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนของเอ็กโก กรุ๊ป ภายในปี 2593
“ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยผลักดันการดำเนินงานของเอ็กโก กรุ๊ป อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะกลางในการลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ลง 10% ภายในปี 2573 ในขณะเดียวกัน ยังสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจ ภายใต้แนวคิด “Cleaner, Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth” ที่มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดในความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2593” นายเทพรัตน์กล่าว
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างเอ็กโก กรุ๊ป และเจร่าเอเชีย นั้นทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันเพื่อผลักดันเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของเอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือด้านต่างๆ ได้แก่ การร่วมกันพัฒนาแผนงานเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยมุ่งเน้นการนำไฮโดรเจนและแอมโมเนีย ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดมาใช้ผลิตไฟฟ้าการประเมินและศึกษาความเป็นไปได้ในการนำแอมโมเนียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ซึ่งเอ็กโก กรุ๊ป ถือหุ้น 50% อีกทั้งความร่วมมืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของแอมโมเนียและไฮโดรเจนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมในโรงไฟฟ้าอื่นๆ นอกจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี การศึกษาและแสวงหาโอกาสในการนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน หรือ CCUS มาใช้ในประเทศไทย
นอกจากนี้ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำแอมโมเนียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมที่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี เอ็กโก กรุ๊ป ได้ลงนามใน MOU อีกฉบับหนึ่ง ร่วมกับบริษัท บ้านปู เพาเวอร์จำกัด (มหาชน) หรือ BPP บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด เจร่า บริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น และบริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ จำกัด เพื่อร่วมมือกันศึกษาการประยุกต์ใช้ในเชิงเทคนิค การประเมินความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ และแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อนำแอมโมเนียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมในสัดส่วน 20% (หรือมากกว่า) ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า