นายกฯ เผย ที่ประชุม กพช.ยังไม่เคาะค่าไฟ ขอฟังความคิดเห็นให้รอบคอบก่อน ยันจะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ขอภาคอุตสาหกรรมอย่าขึ้นราคาสินค้า ยันไม่ได้เทงบฯทิ้งทวน ชี้ ค่าป่วยการ อสม. พรรคร่วมเป็นคนเสนอ ปัดให้ทิ้งทวนรัฐบาล
เมื่อเวลา 11.50 น.วันที่ 9 มีนาคม 2566 ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 ว่า ที่ประชุม กพช. หารือในหลายเรื่อง โดยเฉพาะทำอย่างไรจะทำให้มีการปรับพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ให้มีการขยายกำลังการผลิตในเรื่องของพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นเพราะมีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเรื่องของโลกร้อน ขยะ เพื่อนำกลับมาเป็นพลังงาน ให้สอดคล้องกับแผนพลังงานของเราในการลดพลังงานฟอสซิลลง นอกนั้นได้มีการหารือถึงการบริหารภายในเป็นเรื่องของการดูแลเกี่ยวกับค่าไฟฟ้าต่างๆ
“ก็พยายามจะไม่ให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนในทุกกลุ่ม การดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยก็ยังมีความจำเป็น ในส่วนของราคาพลังงานก็อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ต้องการทำให้ใครเดือดร้อนทั้งสิ้น แต่ต้องเข้าใจว่าเราต้องบริหารอย่างระมัดระวังที่สุด ถ้าเราบริหารไม่ถูกต้องหรือไม่ดีก็จะมีปัญหาระยะยาวในวันข้างหน้า ซึ่งผมยืนยันและได้ให้แนวทางไปแล้วว่าจะต้องทำให้เดือดร้อนน้อยที่สุดหรือไม่เดือดร้อนเลย ถ้าสถานการณ์มันดีขึ้น สถานการณ์โลกดีขึ้น วันนี้เรายังมีความเป็นห่วงกังวลในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ เรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของต่างประเทศ เพราะส่งผลกระทบกับเรา อย่างไรก็ตามผมคิดว่ารัฐบาลทำอย่างเต็มที่แล้ว เมื่อสักครู่ได้พูดคุยกับคณะทำงานด้านเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันนี้เราถือว่าเราทำได้ดีมากพอสมควร และถือว่าดีมากด้วยซ้ำไปถ้าเทียบกับหลายๆ ประเทศก็ขอให้ประชาชนเข้าใจ และร่วมมือกับรัฐบาลบ้างก็แล้วกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้พิจารณาและพูดถึงเรื่องของค่าก๊าซธรรมชาติและก๊าซหุงต้ม แต่มีการพูดถึงพิจารณาเรื่องของค่าไฟฟ้า ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุม กพช.ได้มีการพิจารณาตรึงเรื่องราคาค่าไฟฟ้าอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มาตรการใดที่เราเคยทำไว้แล้วเราก็จะทำต่อเนื่อง ซึ่งเช้าวันเดียวกันนี้ก็มีข่าวว่าราคาค่าไฟฟ้าจะพุ่งไปถึง 4 บาทกว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น
“มันนิดๆ นิดหน่อยๆ ก็ต้องช่วยกันบ้าง ไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็จะต้องใช้เงินเดือนละเป็นหมื่นๆล้านบาท ก็ขอความเข้าใจด้วยก็แล้วกัน เราก็พยายามทำให้เต็มที่เพื่อไม่ให้ระยะยาวมันมีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคตด้วยและไม่อยากสร้างภาระให้กับรัฐบาลใหม่ นี่คือความในใจของนายกรัฐมนตรีเป็นแบบนี้ ไม่อยากสร้างภาระใครจะเป็นรัฐบาลผมก็ถือว่าทำให้ดีที่สุดก็แล้วกัน วันหน้าใครจะเป็นก็ต้องดำเนินการกันต่อไป วันนี้ทุกเรื่องทำเพื่ออนาคตทั้งสิ้น อยากจะบอกพวกเราอะไรที่มีความจำเป็นก็เอาเข้ามาพิจารณาเพื่อเป็นการเริ่มต้นก่อน หลายอย่างพอเป็นรัฐบาลรักษาการมันทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ต้องไปรอรัฐบาลหน้า ดังนั้นวันนี้อะไรที่เริ่มศึกษาได้ก่อนก็ต้องริเริ่มไว้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนของภาคเอกชน หากไม่สามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่างๆสูงขึ้นประชาชนก็จะได้รับผลกระทบ นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ก็ต้องขอร้องกัน วันนี้รัฐบาลก็พยายามทำอย่างเต็มที่ และดูแลภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่แล้ว และได้มีการพูดคุยและหารือกันไปบ้างแล้ว ทุกคนก็โอเค บางอย่างก็ต้องนึกถึงผู้ที่มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเปราะบางก็ต้องดูแลกันว่าตรงนี้ต่อเดือนใช้เงินเป็นหมื่นๆล้านบาท ก็ดูแลกันอย่างเต็มที่แล้ว ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมก็ต้องขอร้องกันว่าอย่าขึ้นราคาสินค้าอะไรเลย
ผู้สื่อข่าวถามว่าแต่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลทิ้งทวนงบประมาณ เพื่อใช้ในการเรียกคะแนนก่อนจากหลายๆมาตรการในขณะนี้ ทั้งค่าป่วยการ อสม. รวมทั้งค่าตอบแทนเพิ่มของ อบต. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้อนถามว่า ทิ้งทวนอะไร พร้อมกล่าวว่า ความจริงเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งในส่วนของ อสม.เป็นเรื่องที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาและเสนอเข้ามา แต่ทั้งนี้การใช้จ่ายงบประมาณก็เป็นเรื่องของวันข้างหน้า ซึ่งก็ต้องจัดหางบประมาณให้เกิดความเพียงพอ วันนี้เราต้องพูดถึงงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ก็ต้องมีการเสนอแผนการใช้จ่ายงบประมาณของปี 2567 ที่ต้องเข้าสู่การพิจารณาในสภาอีกครั้ง นี่ถือเป็นแค่หลักการที่ผ่านความเห็นชอบ และเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ใคร ทำให้ประชาชนด้วยกันนั่นแหละ ซึ่งก็ต้องดูปริมาณงานของเขาเมื่อมีความเหน็ดเหนื่อยก็ต้องพิจารณาให้เท่านั้นเอง
005