นายพีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) ผู้นำด้านการสร้าง EV Charging Ecosystem กล่าวว่า การประกาศใช้นโยบาย 30@30 ระยะแรกของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ ที่ช่วยกระตุ้นให้คนไทยหันมาใช้รถ EV เกิดกระแสการตื่นรู้ด้านความยั่งยืนทางพลังงาน จนสร้างปรากฏการณ์ต่อคิวซื้อข้ามคืน และมียอดจองพุ่งหลายพันคันภายในวันเดียว
“เราปลุกกระแสการใช้รถ EV ส่วนบุคคลในประเทศไทย ให้เกิดขึ้นได้แล้ว ก้าวต่อไปคือการเติมกระสุนนโยบายหล่อเลี้ยงโมเมนตัมอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจำเป็นต้องปลดล็อกเงื่อนไข เพื่อขยายโอกาสให้คนไทยทุกคนได้ใช้ EV อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งปรับนโยบายด้าน EV ให้เอื้อประโยชน์ต่อชีวิตคนไทย ครบทั้ง 3 ด้าน คือ อากาศดี มีรายได้ ค่าใช้จ่ายลด”
นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ EV หรือ EV Ecosystem อาจต้องกลับมาทบทวนกฎระเบียบ และการสนับสนุนในปัจจุบัน ให้เอื้อกับผู้ประกอบการ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ EV ได้แก่ การปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พิจารณากฎหมายที่อาจจะปิดกั้น EV เข้าสู่ตลาด เช่น รถแท็กซี่ ต้องมีเครื่องยนต์ 1.6 ลิตรขึ้นไป ขณะที่รถ EV ในปัจจุบันไม่มีเครื่องยนต์ ทำให้ไม่สามารถนำรถ EV มาเป็นแท็กซี่ได้ รวมทั้ง การสนับสนุนกลุ่ม Commercial Fleets ในระบบขนส่งสาธารณะ หรือ โลจิสติกส์ จะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยให้ EV เข้าถึงคนไทยทุกกลุ่ม ได้อย่างรวดเร็วที่สุด แต่ปัจจุบัน Commercial Fleets เป็นกลุ่มที่ยังมีสัดส่วนการใช้ EV น้อย ด้วยข้อจำกัด ทั้งด้านกฎหมาย และด้านการลงทุน
หากจะกระตุ้นให้เกิดการใช้ EV ในประเทศ “รัฐบาลใหม่” จะต้องออกนโยบายช่วยเอื้อให้เกิด “อากาศดี มีรายได้ ค่าใช้จ่ายลด” โดยสนับสนุนการลงทุน ที่จูงใจให้ผู้ประกอบการใหม่อยากลงทุน และผู้ประกอบการเดิมหันมาใช้ EV มากขึ้น จึงเสนอแนวทางนโยบาย 4 ข้อ ได้แก่
1.เปลี่ยนเงื่อนไขภาษีผู้ผลิต EV ทยอยปลดล็อกเงื่อนไขยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตชิ้นส่วน และอะไหล่ให้กับบริษัทที่ผลิตรถ EV ภายในประเทศไทย เพิ่มจำนวนผู้ผลิตรถ EV ในตลาดให้มากขึ้น
2.ปั้นบุคลากรด้าน EV ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในประเทศให้มีความเชี่ยวชาญด้าน EV ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตรถ EV ไปจนถึงการซ่อมบำรุง เพื่อให้ง่ายต่อการบำรุงรักษา EV
3.การเปิดโอกาสให้ตลาด มีการแข่งขันหลายราย ผู้ให้บริการที่มีใบอนุญาตจะสามารถเข้าถึงรถบรรทุก-รถโดยสาร EV และ EV Infrastructure ที่มีประสิทธิภาพในต้นทุนที่เหมาะสม
4.ปลดล็อกค่าไฟ EV ค่าพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นอีกความท้าทายของการขยาย EV สู่บริการขนส่งสาธารณะ และโลจิสติกส์ ภาครัฐจึงควรปลดล็อกเงื่อนไขโครงการค่าไฟฟ้า สำหรับสถานี อัดประจุไฟฟ้าแบบ Low Priority อัตราพิเศษ ที่จำกัดเฉพาะสถานีชาร์จ EV สาธารณะ ให้ขยายไปยังผู้ประกอบการ Commercial Fleets เช่น เพิ่มคุณสมบัติให้อู่แท็กซี่ EV ที่มีหัวชาร์จ EV จำนวน 10 จุดขึ้นไป สามารถเข้าร่วมโครงการได้
“ถ้าประเทศไทยสามารถผลักดันแนวคิดอากาศดี มีรายได้ ค่าใช้จ่ายลดให้เกิดขึ้นจริงได้ จะช่วยยกระดับ EV Ecosystem พร้อมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดึงดูดนานาชาติ เข้าร่วมตั้งฐานการผลิตและยกระดับคุณภาพการผลิตรถ EV ในไทย ส่งผลดีต่อทั้งผู้ประกอบการ พนักงานขับรถ และผู้โดยสาร เราจะเห็นรถเมล์ รถแท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์รับจ้างแบบ EV จำนวนมากขึ้น”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี