นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ทีมวิเคราะห์ธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดทำบทวิเคราะห์ธุรกิจที่น่าสนใจประจำเดือนเมษายน 2566 พบว่า ธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ อะไหล่ และบริการที่เกี่ยวเนื่อง มีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดย ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 194 ราย ทุนจดทะเบียน 330.56 ล้านบาท ปี 2564 จัดตั้ง 183 ราย ลดลง 5.67% ทุน 237.35 ล้านบาท ลดลง 28.20% ปี 2565 จัดตั้ง 283 ราย เพิ่มขึ้น 54.64% ทุน 525.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 121.48% ปี 2566 เดือนมกราคม-เมษายน จัดตั้ง 134 ราย เพิ่มขึ้น 39 ราย หรือ 41.06% เดือนมกราคม-เมษายน 2565 จัดตั้ง 95 ราย ทุน 193.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.94 ล้านบาท หรือ 50.69% เดือนมกราคม-เมษายน 2565 ทุน 128.12 ล้านบาท
ส่วนผลประกอบการธุรกิจ ปี 2563 รายได้รวม 3.98 แสนล้านบาท ลดลง 3.69 หมื่นล้านบาท หรือ 8.46% กำไร 3.51 หมื่นล้านบาท ลดลง 1.80 พันล้านบาท หรือ 4.87% และปี 2564 รายได้รวม 3.73 แสนล้านบาท ลดลง 2.49 หมื่นล้านบาท หรือ 6.25% กำไร 2.61 หมื่นล้านบาท ลดลง 9.02 พันล้านบาท หรือ 25.69% แม้ว่าช่วงปี 2562-2564 ธุรกิจมีแนวโน้มของรายได้รวมและผลกำไรที่ลดลง แต่หากพิจารณาถึงขนาดธุรกิจ (S M และ L) จะพบว่า ผลประกอบการ
ส่วนใหญ่มีน้ำหนักอยู่ที่ธุรกิจขนาดใหญ่ (L) โดยสินทรัพย์ของธุรกิจขนาดใหญ่ (L) มีสัดส่วนมากกว่า 70% ของสินทรัพย์ธุรกิจทุกขนาด ดังนั้น เมื่อธุรกิจขนาดใหญ่มีกำไรลดลง จึงส่งผลให้กำไรของธุรกิจในภาพรวมลดลงตามไปด้วย
สำหรับการลงทุนในธุรกิจส่วนใหญ่เป็นคนไทย มูลค่าการลงทุน 2.16 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 61.91% ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด และมีการลงทุนจากชาวต่างชาติ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น มูลค่า 1.18 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 33.96% จีน มูลค่า 419 ล้านบาท 1.20% มาเลเซีย มูลค่า 221 ล้านบาท 0.63% และ อื่นๆ 805 ล้านบาท คิดเป็น 2.30%
นายทศพลกล่าวอีกว่า มีหลายปัจจัยหนุนรถจักรยานยนต์ เช่น มีความคล่องตัว หาที่จอดง่าย ประหยัดน้ำมัน ค่าบำรุงรักษาไม่สูง แปลงเป็นเครื่องมือทำมาหากินได้ง่าย ได้รับความนิยมทุกพื้นที่ มีการออกแบบหลากหลายประเภทให้เหมาะกับการใช้งานอีกด้านหนึ่ง รถจักรยานยนต์ยังเป็นของเล่นสำหรับกิจกรรมอดิเรก เป็นของสะสม ส่งผลให้ธุรกิจอื่นที่มีความเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจอะไหล่ตกแต่งรถจักรยานยนต์ ธุรกิจบริการซ่อมบำรุง ได้รับประโยชน์ไปด้วย ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคอาจซื้อรถจักรยานยนต์ผ่านระบบสินเชื่อเช่าซื้อ จึงส่งผลให้ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เติบโตตามยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน