น.ส.ณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้มอบหมายสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) หน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงฯ ให้ดำเนินการยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและผ้าพื้นเมือง ตามยุทธศาสตร์กระทรวงในการเสริมสร้างศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตและเข้มแข็ง ผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยการออกแบบเชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสู่อีสานแฟชั่น
โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562-2565 เกิดผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายใหม่กว่า 122 ลาย รวมทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้าและเครื่องประดับ อีกกว่า 108 ผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้จริง สร้างโอกาสทางการตลาดในผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแบบใหม่ และมีการขยายกลุ่มตลาดใหม่
นอกจากนี้ยังพัฒนาผู้ประกอบการผ้าไหม และผู้ที่เกี่ยวข้องธุรกิจผ้าพื้นเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,618 คน สร้างรายได้ สร้างงาน สร้างโอกาสทางการตลาด และสร้างยอดขายในประเทศกว่า 6,635,456 บาท (เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาใหม่)
สำหรับโครงการพัฒนาผ้าไหมไทยร่วมสมัย (Premium Thai Silk) ประจำปี 2566 ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาเทคนิคการผลิตผ้าไหมในรูปแบบใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า 50% ให้กับผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมขิด ผ้าไหมยกดอก ผ้าไหมมัดหมี่ผ้าไหมบาติก และผ้าไหมแต้ม โดยสร้างภาพลักษณ์ให้มีความหรูหราและคุณภาพสูงมีลวดลายประณีตสวยงาม ยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมพรีเมียม ด้วยการสร้างและนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยลงบนผืนผ้าให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ
ส่วนในปี 2566 มีเป้าหมายพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้ 24 ผลิตภัณฑ์ เน้นการออกแบบและผลิตผ้าไหมร่วมสมัยแบบใหม่ผสมผสานการใช้ทุนทางวัฒนธรรมและแนวโน้มของตลาด ควบคู่กับการพัฒนาการผลิต และการนำเทคนิคใหม่ๆ เข้าไปใช้ในการทอ นอกจากนี้ยังมีการยกระดับผู้ประกอบการสิ่งทออีก 8 ราย ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น โดยมีเป้าหมายขยายตลาดสู่ต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิตาลี เป็นต้น