นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ลดอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือนกันยายน -ธันวาคม 2566 ที่ประกาศออกมาแล้ว 3 แนวทาง ราคา 4.45 - 6.28 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันค่าไฟอยู่ที่ 4.70 บาท โดยเสนอแนวทางลดให้เหลือ 4.25 บาทต่อหน่วยหรือน้อยกว่า เพื่อสะท้อนต้นทุนแท้จริง และยังเป็นการช่วยเหลือคนไทยช่วงค่าครองชีพสูง และภาวะหนี้ครัวเรือนพุ่งไประดับ 90%
โดยเนื้อหาในหนังสือระบุถึงปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟควรลดลง มาจากปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากแหล่งเอราวัณ ที่เพิ่มปริมาณจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นปริมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือนกรกฎาคม 2566 และมีแผนที่จะเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ได้
ทั้งนี้ล่าสุดปริมาณการนำเข้าแอลเอ็นจีลดลงเหลือประมาณ 41% จากเดิมที่มีการนำเข้าแอลเอ็นจีมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่ประมาณ 47% นอกจากนี้ราคาแอลเอ็นจีสปอตที่นำเข้ามาผลิตไฟฟ้าก็ปรับลดลงประมาณ 30% จากงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม ราคาแอลเอ็นจีสปอตอยู่ที่ประมาณ 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู มาอยู่ที่ประมาณ 14 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู โดยราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลทำให้ความต้องการใช้พลังงานลดลง
นอกจากนี้ภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งงวดที่ 1(มกราคม-เมษายน) และงวดที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม) ลดลงเร็วกว่าแผน ด้วยต้นทุนจริงของแอลเอ็นจีที่ต่ำกว่าที่เรียกเก็บค่าเอฟทีทั้ง 2 งวดที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในระดับ 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันต้นทุนค่าไฟฟ้าในช่วงนี้แต่จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ด้านการเงิน มองว่าค่าเงินบาทจะเป็นการอ่อนค่าในระยะสั้นเท่านั้น และจะมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นมาภายในปลายปี 2566 นี้
นายอิศเรศ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว จึงเป็นปัจจัยที่เอื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจลดค่าไฟด้วยการขยายเวลาการคืนหนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จาก 5 งวดเป็น 6 งวด เพื่อให้ค่าเอฟทีลดลงอีก 10 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะได้รับเงินคืนครบภายในเดือนสิงหาคม 2568 พร้อมบูรณาการการจัดหาเชื้อเพลิงแอลเอ็นจีผ่านผู้นำเข้าหลักเพียงรายเดียว เพื่อเป็นการสกัดความต้องการใช้ (ดีมานด์) เทียม จากผู้ส่งสินค้า หรือ ชิปเปอร์หลายรายที่เข้ามาจัดหาในตลาด เพื่อผลิตไฟฟ้าในงวดที่ 3 ให้ได้ราคาที่เหมาะสมตามกลไกของตลาด และไม่ให้ประเทศเสียเปรียบ โดยจัดหาแอลเอ็นจีล่วงหน้าในราคาเฉลี่ยที่ประมาณ 14-16เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เพราะหากเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ราคาจะสูงขึ้นจากความต้องการใช้พลังงานในประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น
“กกร.เห็นว่าการที่ค่าไฟของประเทศไทยอยู่ในระดับสูง จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย อีกทั้งยังกดดันอัตราเงินเฟ้อด้วย ทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ดังนั้นจึงควรได้รับการแก้ปัญหาโดยด่วน” นายอิศเรศ กล่าว