นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้นายอรุณ เอี่ยมสุรีย์ ประธานสถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีน (TCEII) พร้อมด้วยคณะกรรมการสถาบันฯ ได้เข้าพบหารือกับนายชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และคณะ เพื่อแนะนำสถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีนและหารือเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานและความร่วมมือในอนาคต รวมถึงแนวทางถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างองค์ความรู้ในด้านต่างๆ จากอุตสาหกรรมของจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้กับสถาบันการศึกษา เพื่อเป็นการสร้างแรงงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไป
โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส.อ.ท. เป็นตัวแทนของภาคเอกชนไทยใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศและเชื่อมต่อการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับจีนตลอดมา ส่งผลให้การค้าระหว่างสองประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรจีนอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งในปัจจุบันนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับ 1 และมีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมของไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า และศูนย์ข้อมูล (Data Center)
สำหรับสถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีน (TCEII) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย ในการขยายตลาดการค้าระหว่างไทยกับจีน รวมถึงการให้ข้อมูลด้านวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน การตลาด เป็นต้น
ก่อนหน้านี้บีโอไอรายงานคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2566มีจำนวน 507 โครงการ เพิ่มขึ้น 33% เงินลงทุน 304,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141% โดยจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 61,500 ล้านบาท จาก 132 โครงการ ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 2 ได้แก่ สิงคโปร์ 73 โครงการ เงินลงทุน 59,112 ล้านบาท ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าจะเป็นอันดับ 3 จำนวน 98 โครงการ เงินลงทุน 35,330 ล้านบาท แต่มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมจากญี่ปุ่นเติบโตขึ้นกว่าเท่าตัวจากครึ่งแรกของปี 2565 ที่มีมูลค่า 16,793 ล้านบาท โดยมีโครงการขนาดใหญ่ในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์
นายเกรียงไกรกล่าวว่า นอกจากนี้คณะบริหาร ส.อ.ท. ได้ให้การต้อนรับนายอาลี ซาบรี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกา และนางจมินทะโกโลนเนะ เอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศไทย สำหรับศรีลังกาเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาค มหาสมุทรอินเดียเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจเป็นประตูสู่เอเชียใต้ เช่น อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย สหราชอาณาจักร และมาเลเซีย เป็นต้น
ทั้งนี้ศรีลังกามีท่าเรือขนถ่ายสินค้าทางทะเลจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โคลัมโบและฮัมบันโตตา โดยท่าเรือ Colombo Sea เป็นท่าเรืออันดับหนึ่งในเอเชียใต้ เป็นอันดับที่ 22 และเป็นท่าเรือที่มีการเชื่อมต่อที่ดีที่สุดอันดับที่ 17 ของโลก ซึ่งทางศรีลังกามีวางตำแหน่งให้ Colomboเป็นเมืองนานาชาติที่มีเป้าหมายที่จะเป็นเมืองที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียใต้และเป็นศูนย์กลางการบริการระดับโลกภายในปี 2584
อย่างไรก็ตาม ศรีลังกาได้มอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้าไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว โดยได้มีการเชิญชวนนักลงทุนไทยเข้าร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงศาสนา อุตสาหกรรมอาหาร และพลังงานสะอาด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี