นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ(คต.)เปิดเผยว่า อินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก และด้วยขนาดประชากรประมาณ 1,400 ล้านคน จึงมีการบริโภคภายในประเทศมากที่สุดในโลก แต่ปีนี้ประสบกับปัญหาภัยแล้งจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัดในช่วงครึ่งปีแรก ต่อเนื่องด้วยภาวะฝนขาดช่วงในฤดูมรสุมโดยในเขตปลูกอ้อยหลักในรัฐ Maharashtra ทางตะวันตกและรัฐ Karnataka ทางตอนใต้ ซึ่งมีผลผลิตน้ำตาลของสองรัฐรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมดของอินเดีย จากภาวะปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 50% จึงส่งผลทำให้ผลผลิตน้ำตาลของฤดูกาลผลิตปี 2566/67 ลดลงเหลือ 31.7 ล้านตัน หรือลดลง 3.3% และอาจส่งผลต่อการเพาะปลูกในฤดูกาลผลิตปี 2567/68
อินเดียผลิตน้ำตาลเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และผลิตเอทานอลจากอ้อยส่วนเกินโดยในช่วงการผลิต ปี 2565/2566 รัฐบาลอินเดียได้อนุญาตให้ส่งออกน้ำตาล 6.1 ล้านตัน อย่างไรก็ดี ในเดือนกรกฎาคม 2566 อินเดียประสบสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อค้าปลีกพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือนอยู่ที่ 7.44% และอัตราเงินเฟ้อด้านอาหารอยู่ที่ 11.5% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 3 ปี และคาดว่าปริมาณน้ำตาลของอินเดียอาจจะไม่เพียงพอที่จะจัดสรรโควตาการส่งออกสำหรับฤดูกาลหน้า (เดือนตุลาคม 2566)
นายรณรงค์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปีการผลิต 2565/66 ประเทศไทยมีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 93.88 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564/65 ประมาณ 1.97% และมีผลผลิตน้ำตาลปี 2565/2566 ประมาณ 11.05 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564/2565 ประมาณ 8.88% โดยมีปริมาณการส่งออกน้ำตาลในช่วงมกราคม - กรกฎาคม 2566 ประมาณ 5.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 2.4%
“การที่อินเดียห้ามส่งออกน้ำตาล ย่อมส่งผลให้อุปทานน้ำตาลโลกลดลง และราคาน้ำตาลโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งราคาสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ” นายรณรงค์กล่าว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการณ์มูลค่าการส่งออกน้ำตาลทรายไทยปี 2566 อาจอยู่ที่ระดับ 3,590-3,730 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1-5% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่คาดว่าจะเติบโตสูงถึง 125% โดยในปี 2566 การเติบโตเป็นผลจากปริมาณเป็นหลัก จากปริมาณส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในตลาดคู่ค้าหลักที่มีความต้องการต่อเนื่อง และอานิสงส์จากคู่ค้าใหม่ที่หาตลาดทดแทนจากมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำตาลทรายของอินเดีย
ก่อนหน้านี้อินเดียสั่งห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติ (Basmati) โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 เพื่อควบคุมราคาอาหารที่อยู่ในระดับสูงและรับประกันว่าจะมีปริมาณข้าวเพียงพอภายในประเทศทั้งนี้ อินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวชั้นนำของโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของการค้าข้าวทั่วโลก และเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ที่สุดอันดับสองรองจากจีน