ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยในหลายกระทรวงเศรษฐกิจได้เดินทางเข้ากระทรวงเป็นวันแรก และได้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินนโยบายต่างๆ
โดยนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้ประชุมร่วมกับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และข้าราชการในกระทรวง เพื่อหารือแนวทางร่วมกันสำหรับการวางนโยบายต่อไป โดยในระยะเริ่มต้นเร่งด่วน 3 เดือนแรก มีนโยบายที่จะสามารถทำได้ทันที โดยได้กำชับให้หน่วยงานภายในกระทรวงเร่งหาแนวทางเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ ให้เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจใหม่สำหรับกระตุ้นรายได้มวลรวมของประเทศ ผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมฮาลาล และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และสนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค การยกระดับทักษะแรงงานขั้นสูง พร้อมทั้งพิจารณาหามาตรการเพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้มากขึ้น
นอกจากนี้จะส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถเข้าถึงโอกาสในการแข่งขัน โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทีมเข้าสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อรวบรวมจัดทำเป็นแผนนโยบายในลำดับต่อไป ทั้งนี้ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพมั่นคงจากต้นทุนในชุมชน ทั้งต้นทุนทางวัฒนธรรมและวัตถุดิบในท้องที่ พร้อมการพัฒนาทักษะ อาชีพเสริม เพื่อการลดรายจ่ายในภาคครัวเรือน การผนวกวิชาการอุตสาหกรรมเข้ากับวิถีชุมชนให้กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมีมาตรฐานมากขึ้น
“จะยกระดับการให้บริการคุณภาพ ส่งเสริมการเข้าถึงของผู้ประกอบการและประชาชน ด้วย One Stop Service ซึ่งจะได้ปรับแก้ข้อจำกัดที่มีอยู่ให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และย้ำให้ทุกการดำเนินงานมุ่งสู่เป้าหมายอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การวางระบบดูแล ควบคุม และกำจัดของเสียในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน การใช้พลังงานทางเลือกสู่การเป็น อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ (Bio Circular Economy) ซึ่งจะได้หารือเพื่อ
ขับเคลื่อนให้เกิดต้นแบบอุตสาหกรรมคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero Carbon Industry) ในลำดับต่อไป” รมว.อุตฯกล่าว
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าได้หารือกับผู้บริหารกระทรวงเบื้องต้นแล้ว สำหรับเรื่องเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า เรื่องใดที่เป็นปัญหาประชาชนและสามารถทำได้ก่อนขอให้ทำทันที เช่น การดูแลค่าครองชีพประชาชน ดูแลราคาสินค้าให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ ประชาชนอยู่ได้และผู้ประกอบการอยู่ได้ด้วย ส่วนปัญหาการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องหลายเดือนนั้น จะต้องเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ๆ โดยจะต้องทำงานเชิงรุก โดยมีทูตพาณิชย์ร่วมกันทำงาน และเร่งเจรจากรอบการค้าต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกโดยคำนึงถึงประโยชน์ประเทศเป็นหลัก ขณะที่ การแก้ปัญหาสินค้าเกษตร จะนำนโยบายรับจำนำกลับมาใช้หรือไม่นั้น นายภูมิธรรมระบุว่าทุกนโยบายมีข้อดีข้อเสีย จะพิจารณาตามความเหมาะสม โดยกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคทางการค้าจะต้องมีการแก้ไขเพื่อลดอุปสรรค โดยในวันที่ 14 กันยายนนี้จะมีการประชุมผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ
ขณะที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังรับฟังการทำงานของหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม และรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงว่า ในเรื่องของนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นั้น ต้องขอโทษประชาชนที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่านโยบายนี้ไม่เร่งด่วน เพราะยืนยันว่านโยบายนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลจะทำเพื่อแก้ไขปัญหาลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน แต่เนื่องจากการผลักดันนโยบายนี้ต้องมีความพร้อมจากทั้งภาครัฐและเอกชนหารือร่วมกันในการพัฒนาระบบตั๋วร่วม จึงต้องใช้เวลาในการหารือกับผู้ประกอบการ อีกทั้งต้องใช้เวลาติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ที่ประเมินว่าใช้เวลาอย่างเร็ว 1 ปี ดังนั้นจึงประเมินว่าจะใช้เวลาทำงานเรื่องนี้ 2 ปีสำเร็จ
นายสุริยะกล่าวว่า ส่วนปัญหาที่เกิดกับโครงการรถไฟฟ้าทั้งในเรื่องของภาระหนี้สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เรื่องนี้โครงการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นคงต้องให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณารายละเอียดด้วย ขณะที่ปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้มปัจจุบันทราบว่ายังมีอีก 1 ข้อพิพาทที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครอง ซึ่งทางศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วว่าทางคณะกรรมการคัดเลือก และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไม่ได้กระทำผิดขั้นตอน แต่อย่างไรก็ดีคงต้องรอให้การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดเป็นที่สิ้นสุดก่อน เบื้องต้นแนวทางที่จะเป็นไปได้ทั้งหมดในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม คือ1.เดินหน้าขั้นตอนประกวดราคาที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ และ2.ยกเลิกการประกวดราคาเดิมและเปิดประกวดราคาใหม่ซึ่งแนวทางเหล่านี้เป็นไปได้ทั้งหมด คงต้องรอให้การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดออกมา
นอกจากนี้ อีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลเน้นย้ำคือในเรื่องของการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่นที่จะถึงนี้ ซึ่งนายกฯ ได้มีการสั่งการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว โดยในส่วนกระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จะหาวิธีจัดสลอตเพิ่มเติม เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเพิ่มขึ้น เบื้องต้นทราบมาว่ากองทัพอากาศ มีตารางการบิน (สลอต) การบินในช่วงเช้าเหลืออยู่ เบื้องต้นได้ฝากเรื่องนี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้หารือกับกองทัพอากาศ เพื่อขอสลอตที่ไม่ใช้ไปมอบให้กับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. คาดว่าเบื้องต้นจะได้เพิ่มขึ้นมาประมาณ 100 เที่ยวบิน หรือทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมา 10,000 คนต่อวันถือเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
ส่วนที่กระทรวงการคลัง นายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังยังไม่ได้เดินทางเข้ากระทรวงการคลังในวันที่ 7 กันยายน แต่จากกรณีที่นายเศรษฐา ได้ประกาศจะลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 30 บาท จากปัจจุบันที่มีเพดานราคาขายปลีกไม่เกินลิตรละ 32 บาทนั้น ขณะนี้กรมสรรพสามิต กำลังจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ว่าจะเสนอให้มีการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 2 บาทจากปัจจุบันที่จัดเก็บภาษีลิตรละ 6 บาท อย่างไรก็ตามต้องหารือกับกระทรวงพลังงานและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยว่า หากกรมมีการลดภาษีสรรพสามิตให้แล้ว จะมีการนำไปใช้ในส่วนใด เช่น จะนำเนื้อภาษีที่ลดลง ไปลดราคาขายปลีกน้ำมันให้กับประชาชนทั้งหมด หรือนำไปช่วยชดเชยภาระ ให้แก่กองทุนน้ำมันฯ ในบางส่วนทั้งนี้กรมสรรพสามิตประเมินว่าในการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรทุก 1 บาท จะกระทบการจัดเก็บรายได้ภาษีของกรมฯ เดือนละ 2,000 ล้านบาท แต่หากมีการลดภาษีจริงลิตรละ 2 บาท จะทำให้มีรายได้หายไปเดือนละ 4,000 ล้านบาท
ด้านร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่านโยบายที่ต้องช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน 3 เรื่อง ได้แก่ ภัยแล้งประมง และ หมูเถื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการปราบปรามหมูเถื่อน ที่ รมว.เกษตรฯยืนยันว่าเมื่อลงมือแล้ว ต้องเห็นผลภายใน 1-2 เดือน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี