นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจากจะเติบโตได้ระดับ 4.3% เนื่องจากภาพรวมด้านการเมืองมีความชัดเจนขึ้นประกอบกับนโยบายกระตุ้นการใช้ง่ายและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอย่างน้อยถึงสิ้นปี 2568 โดยอาจมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเป็นตัวแปร
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวแม้ในระยะที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ตอนนี้ได้รัฐบาลใหม่ คาดการบริโภคภายในประเทศช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามด้วยการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวที่เร่งตัวขึ้น โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยกว่า 17.5 ล้านคน โดยเฉลี่ยมีการเดินทางเข้ามาเดือนละ 2.2 ล้านคน เนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งธนาคารคาดมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 3 ล้านคน ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนนี้ ทำให้ทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยประมาณ 30 ล้านคน
ทั้งนี้ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ในระดับเกือบ 40 ล้านคน ในปี 2562 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจ โลกยังมีความไม่แน่นอนอยู่หลายประการ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดจึงปรับลดคาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดจาก 3.6% มาอยู่ที่ 1.5% ของจีพี การขาดดุลปีงบประมาณคาดอยู่ที่ 4.0% ต่อจีดีพี ในปี 2567 จาก 3.8% ต่อจีดีพี ในปี 2566
สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 น่าจะล่าช้า ในขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้มีทิศทางอย่างไร คงเป็นสิ่งที่ต้องมีการติดตามดู และสะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของประเทศ ธนาคารได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2566 ลงจาก 4.2% มาอยู่ที่ 3.3% และว่าคาดเศรษฐกิจเติบโตที่ 4.2% ในปี 2567 จากเดิมคาดไว้ที่ 1.5% ด้วยเหตุนี้ จึงมีการปรับลดการเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 1.3% จากเดิมที่คาดไว้ 1.7% โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 1.5% ในปี 2567 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 1.3% ในขณะที่คงคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ที่ 1.4%
“ธนาคารฯยังกังวลปัจจัยเสี่ยงปีหน้า คือ ปัญหาเศรษฐกิจโลกน่าจะโตต่ำกว่า 3% คาดว่า เงินเฟ้อจะเพิ่มสูงอยู่ที่ 2.1% จากเหตุน้ำมันอาจจะกลับมาสูงขึ้นได้ ขณะที่เงินบาทในช่วงปลายปีน่าจะแข็งค่าอยู่ที่ 34 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตัวเลขส่งออกยังคงติดลบแต่จะมากหรือน้อยคงต้องดูว่าช่วงเวลาที่เหลือส่งออกไทยจะขยายตัวหรือไม่” นายทิม กล่าว
อย่างไรก็ตาม การค่อยๆ ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบกับความไม่แน่นอนทางการคลังและเงินเฟ้อทั่วไปที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงที่ผ่านมาน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ยังไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังคงมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แต่อาจมีการกลับมาพูดถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ นโยบายการคลังและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ชัดเจนกว่านี้น่าจะทำให้เห็นความชัดเจนในทิศทางดอกเบี้ยนโยบายยิ่งขึ้น และธนาคารฯคงจะเฝ้าตามดูว่าการประกาศใช้นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลจะออกมานั้นยังไม่ชัดเจนว่าจะออกมาอย่างไรและจะใช้เงินจากที่ใดบ้าง จึงยังไม่สามารถประเมินอะไรได้ในตอนนี้มากนัก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี