รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจการใช้จ่ายช่วงวาเลนไทน์ 14 ก.พ. 2567 นี้พบว่า จะมีเงินสะพัด 2,518 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% จากปี’66 ที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2,385 ล้านบาท คึกคักสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน 2,125 บาทจากปี’66 ที่ 1,847 บาท แม้ตัวเลขการใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจ แต่เป็นการขึ้นโดยราคาสินค้าและอื่นๆ สูงขึ้นตามซึ่งคนกลุ่ม Gen Z ที่มีอายุ 13-23 ปี จะให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์มากที่สุดการซื้อของขวัญมอบให้คนรัก มีการทานข้าวนอกบ้าน ซื้อดอกไม้ ไปดูหนัง และไปบ้านแฟน ดังนั้น กิจกรรมในเดือนก.พ.2567 ปีนี้ ทั้งเทศกาลตรุษจีน วาเลนไทน์ และ วันมาฆบูชา น่าจะทำให้มีเงินสะพัดมากกว่า 80,000-90,000 ล้านบาทที่จะเข้าระบบเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มองว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มค่อยๆฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาสแรก แม้จะยังไม่มากนัก แต่จะเริ่มดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 เพราะน่าจะมีเม็ดเงินงบประมาณในปี’67 ที่จะเริ่มการเบิกจ่ายจะทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไปและหากผลประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ ออกมาเดินหน้าต่อก็เชื่อว่าจะเสริมสภาพคล่องทางเศรษฐกิจได้ดี โดยคาดว่าเศรษฐกิจปีนี้ที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองจีดีพีจะโตได้ 3-3.5% หากมีดิจิทัล วอลเล็ตเข้ามาจะทำให้จีดีพีปีนี้เกิน 4% ได้แน่นอน
ส่วนผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม 2567 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 56.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม 59.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต 72.2 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ทุกรายการ แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นมากขึ้นเป็นลำดับว่าเศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้หลังมีการจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 เป็นต้นมา ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index : CCI) ที่ปรับตัวจากระดับ 62.0 เป็น 62.9 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 47เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม 3 ดัชนีสำคัญ รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าค่าครองชีพสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาอาจยืดเยื้อส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคตโดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
นอกจากนี้ ความคิดเห็นของภาคธุรกิจ จากสมาชิกหอการค้าไทยทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือนมกราคม 2567 ที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 54.8 เนื่องจากภาคธุรกิจกังวลปัญหาสงครามในอิสราเอล และกังวลสถานการณ์ในอนาคต ทั้งภัยแล้ง ปัญหา PM2.5 กระทบท่องเที่ยวโดยรวม ปัญหาการชะลอตัวเศรษฐกิจสหรัฐและจีนยังคงกังวลอยู่มากและปัญหาความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้เศรษฐกิจยังโตไม่โดดเด่น แต่ยังเกินระดับค่ากลาง 50 ติดต่อกัน 10 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 แสดงว่ายังมองเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่อยากให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนมากขึ้นรวมถึงหามาตรการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการทั้งระบบให้เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งจัดการแก้ไขปัญหา PM2.5ให้ลดลงอีกด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี