‘ธีระชัย’เทียบ‘นายกฯ-อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ’ เปิดอีกมุมใช้‘ยานโยบายการเงิน’แก้ปัญหาเศรษฐกิจ
25 กุมภาพันธ์ 2567 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ข้อความระบุว่า...
ใช้ยานโยบายการเงิน
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2567 ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค Veerathai Santiprabhop ว่า
“นโยบายการเงินไม่ใช่ยาเฉพาะทาง”
กล่าวว่า (ก) นโยบายการคลัง (ข) นโยบายการเงิน และ (ค) นโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
สามนโยบายนี้ แต่ละด้านมีวัตถุประสงค์ วิธีการทำงาน ข้อจำกัด และผลข้างเคียงต่อระบบเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน
จึงต้องประสานเข้าด้วยกัน จัดลำดับให้เหมาะสมแต่ละช่วงเวลา
ท่านลำดับปัญหาเศรษฐกิจไทยในวันนี้ ว่า
(ก) ปัญหาใหญ่คือโครงสร้างที่ทำให้รายได้และสินทรัพย์กระจุกตัว ธุรกิจ SMEs ยากลำบาก
(ข) คนในฐานล่างของสังคม มีรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ค่าครองชีพสูง หนี้ท่วม
(ค) ความล่าช้าในกระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณกว่าแปดเดือน ทำให้เศรษฐกิจชะงัก
เห็นได้จาก GDP ไตรมาส 4/2566 ที่การอุปโภคภาครัฐ (-3%) และการลงทุนภาครัฐ (-20.1%)
ในขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าและบริการยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
(ง) SMEs และครัวเรือนเป็นหนี้เสีย NPL ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ต้องพึ่งหนี้นอกระบบ หรือใช้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ดอกเบี้ยสูง
ท่านแนะนำวิธีการแก้ปัญหาว่า ควรเน้น "นโยบายกระจายสภาพคล่องทางการเงิน" โดย
(1) ช่วยเหลือ SMEs ที่เป็นคู่สัญญาของหน่วยงานภาครัฐ ให้สามารถนำใบตรวจรับงาน ไปขายลด (factoring) กับสถาบันการเงินต่างๆ ได้
(2) เร่งขบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งครัวเรือนและธุรกิจ SMEs
ผมตั้งข้อสังเกต ดังนี้
*หนึ่ง สภาพคล่องทางการเงินจะเกิดได้ ต้องเริ่มที่แบงค์ชาติเปิดก๊อก
ก่อนจะกระจายสภาพคล่อง ก็จะต้องมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะกระจาย ซึ่งหนีไม่พ้นแบงค์ชาติต้องเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงิน
*สอง สภาพคล่องใหม่จะเกิดได้ รัฐบาลต้องช่วยรับความเสี่ยง
ผมเคยเสนอแนวคิด ให้รัฐค้ำประกัน แบงค์พาณิชย์ที่ให้กู้ใหม่แก่ธุรกิจ SMEs ที่ไม่ใช่กู้เพื่อไปชำระหนี้เก่า ในสัดส่วนที่สูงขึ้นเป็นพิเศษชั่วคราว เช่น ถึง 80-90%
*สาม การปรับโครงสร้างหนี้จะเกิดได้ แบงค์ชาติต้องตีกรอบ
สำหรับลูกหนี้ NPL นั้น การปรับโครงสร้างหนี้ โดยลดจำนวนชำระหนี้รายเดือนในปัจจุบัน โดยยอดหนี้ยังเท่าเดิม เพียงแต่เอาหนี้ที่ยังไม่ชำระปัจจุบัน ไปโปะเพิ่มยอดหนี้ เพื่อรอขำระคืนในอนาคต นั้น
ไม่เป็นการแก้ปัญหาแก่ลูกหนี้อย่างแท้จริง
แบงค์ชาติต้องตีกรอบ เพื่อให้มีการลดยอดหนี้ haircut โดยตัดออกจากกำไรสะสมของแบงค์พาณิชย์
*สี่ สภาพคล่องทางการเงินจะกระจายได้ ต้องเพิ่มการแข่งขัน
แบงค์ชาติควรประกาศแผนการที่จะเพิ่มการแข่งขันในระบบการเงิน จะทำอย่างไร เมื่อไหร่ ประชาชนจะหวังผลได้ประการใด
กล่าวโดยสรุป ดร.วิรไท ไม่ได้กดดันเรื่องนโยบายการเงิน แต่เน้นปัญหาไปที่ การขาดสภาพคล่อง การเข้าถึงสินเชื่อ ตลอดจนปัญหาหนี้ NPL
กนง. คงพิจารณาได้ว่า ในการแก้ปัญหาแง่มุมนี้ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ย่อมจะช่วยแก้ปัญหาได้ดีกว่า
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ในแง่กลุ่มคนที่จะถูกผลกระทบจากนโยบายการเงิน นั้น แตกต่างกัน
นโยบายการเงินผ่อนคลาย จะทำให้เงินบาทอ่อน ผู้เกษียณอายุที่มีเงินออมรายได้จะลด สินค้านำเข้าราคาสูงขึ้น คนไทยต้องใช้ของในประเทศมากขึ้น ไปเที่ยวต่างประเทศน้อยลง
แต่ในเวลาเดียวกัน สภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นในระบบการเงิน ช่วยต่อลมหายใจให้ธุรกิจ SMEs จำนวนภาระผ่อนหนี้รายเดือนของครัวเรือนลดลง การปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ง่ายขึ้น การลงทุนภาคธุรกิจสร้างงานใหม่ทำได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ผมคาดว่า ในไตรมาส 2/2567 พายุเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงจะเกิดขึ้น นโยบายการเงินผ่อนคลาย ย่อมทำให้ธุรกิจใหญ่น้อยในไทย เตรียมรับมือได้ง่ายขึ้น
ดังนั้น กนง. จึงต้องพิจารณาว่า จะให้น้ำหนักไปที่ปัจจัยไหนเป็นหลัก
ดร.วิรไท ใช้ภาษานักวิชาการ เน้น "นโยบายกระจายสภาพคล่องทางการเงิน" ซึ่งเป็นปัญหาโครงสร้าง แต่ในการใช้นโยบายนี้ น่าจะหนีไม่พ้น ที่จะต้องใช้ "นโยบายการเงิน" ที่ผ่อนคลายมากขึ้น จึงเป็นการสื่อสารที่ชวนให้คิด
ส่วนท่านนายกเศรษฐา ใช้ภาษานักการเมือง/นักธุรกิจ เรียกร้องให้ใช้ "นโยบายการเงิน" เพียงเพื่อเพิ่มตัวเลขจีดีพี เน้นเพื่อกระตุ้นอุปโภคบริโภค ควบคู่ไปกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยสื่อสารกดดันผ่านสื่อสาธารณะ
ถ้าแบงค์ชาติอ่อนโอนไปตามคำเรียกร้องแบบนี้ ความเชื่อมั่นในตัวสถาบันก็ย่อมจะสั่นคลอน
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี