นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ตนและนายกีเยร์เม เด อากีอาร์ ปาตริโอตาเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรบราซิลประจำองค์การการค้าโลก ได้รับมอบอำนาจเต็มจากรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ให้ร่วมกันลงนามในข้อตกลงยุติกรณีพิพาทน้ำตาลใน WTO ณ กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ในช่วงต้นของการประชุมรัฐมนตรีการค้า WTO ครั้งที่ 13 ที่ UAE เป็นเจ้าภาพ
สำหรับกรณีพิพาทดังกล่าว สืบเนื่องจากที่บราซิลฟ้องร้องไทยว่าระบบอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยขัดต่อกฎเกณฑ์การอุดหนุนของ WTO และได้ยื่นคำขอหารือกับไทยภายใต้กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO เมื่อปี 2559 ซึ่งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 8 ปี โดยไทยได้แสดงความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขข้อห่วงกังวลของบราซิลและได้พยายามปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายในประเทศให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ WTO ในเรื่องการอุดหนุน
ทั้งนี้ ในระหว่างที่ไทยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ ฝ่ายบราซิลได้ติดตามดูพัฒนาการของไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งต่อมาในปี 2564 สองฝ่ายได้ลงนามใน MoU ระหว่างไทย-บราซิล เพื่อจัดตั้งกลไกในการหารือ ติดตามความคืบหน้าการปรับโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย โดยมีเงื่อนไขว่า บราซิลตกลงจะระงับการดำเนินการใดๆ เพื่อฟ้องไทยต่อใน WTO เป็นการชั่วคราวในช่วงการหารือดังกล่าว ซึ่งต่อมา ไทยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายแล้วเสร็จ พร้อมทั้งบังคับใช้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2565 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 เป็นต้นมา
“WTO มีกฎเกณฑ์ด้านการค้าระหว่างประเทศที่สมาชิก WTO จะต้องปฏิบัติตามเพื่อป้องกันการแข่งขันในตลาดที่ไม่เป็นธรรม โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงจากมาตรการของประเทศสมาชิกอื่นสามารถทำการสอบสวน (investigate) เพื่อขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ หรือยื่นฟ้องต่อศาล WTO เพื่อให้ยุติมาตรการได้ สำหรับไทยและบราซิลได้เจรจาและหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขข้อพิพาทเรื่องนี้อย่างฉันมิตรเป็นเวลาหลายปี จนในที่สุด ก็นำมาซึ่งการลงนามระหว่างสองฝ่ายในข้อตกลงเพื่อยุติคดีน้ำตาลใน WTO เป็นการถาวรได้ในครั้งนี้”นางพิมพ์ชนกกล่าว
ปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับที่สามของโลก รองจากบราซิล และอินเดีย โดยในปี 2566 ไทยส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดโลกปริมาณ 6.54 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 3,452 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ กัมพูชา และมาเลเซีย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี