ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการประชุมชี้แจงนักวิเคราะห์ (Monetary Policy Forum) ครั้งที่ 1/2567 ในประเด็นที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ 2.50% ต่อปี เมื่อ 10 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือหลักในการแก้ปัญหาหนี้ เป็นเพียงการช่วยบรรเทาปัญหา ซึ่งในต่างประเทศ แม้จะมีการลดดอก แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้สูงได้ ปัจจัยหลักที่จะแก้หนี้ ต้องทำให้รายได้เพิ่มขึ้น จากแรงส่งที่ไม่เกี่ยวกับดอกเบี้ย เช่น การส่งออกที่ดีขึ้นการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งนี้ กนง.พร้อมปรับดอกเบี้ย แต่ต้องดูว่าจะมีปัจจัยใหญ่ใดๆ เข้ามาหรือไม่ และผลกระทบมีความยั่งยืนขนาดไหน มีนัยต่อนโยบายเพียงพอจะปรับหรือไม่ และอัตราดอกเบี้ยหากจะลดลง 0.25-0.50% ไม่ได้มีผลต่อภาพใหญ่มากนัก
ทั้งนี้ กนง. พยายามจะดูแลให้เศรษฐกิจในภาพรวมไปอยู่ในจุดที่พอดี ซึ่งมองในช่วง medium term คือ ระยะปานกลาง เพราะตระหนักดีว่าข้อจำกัด หรือเครื่องมือของ ธปท. ต้องใช้เวลาพอสมควร และสิ่งที่นโยบายการเงินคาดหวังว่าจะเข้าไปช่วยได้ คือ การดูแลเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ไม่ใช่ทันทีหรือในระยะสั้น และ กนง. พร้อมที่จะทบทวนนโยบายอัตราดอกเบี้ย หากมีข้อมูลใหม่เข้ามาเพิ่มเติม และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อมุมมองเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ
“ยืนยันว่าไม่ได้ยึดติดในเรื่องอัตราดอกเบี้ย เพียงแต่จะต้องพิจารณาผลกระทบ ความยั่งยืน และนัยต่อกรอบการทำนโยบายว่าเพียงพอหรือไม่ เราไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องอยู่ในระดับนี้ไปตลอด (อัตราดอกเบี้ย) แต่ต้องแยกแยะ shock ที่เข้ามาว่า มีผลกระทบยั่งยืนขนาดไหน นัยต่อนโยบายมันมากพอหรือเปล่า ที่เราคุยกันสเกล +/- 0.25% มันไม่ได้ต่างกันมาก เป็น degree ไม่ได้เยอะ คงไม่ใช่การลดดอกเบี้ยเยอะๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในตอนนี้ เรายังมีเวลาพิจารณาให้มั่นใจ เพราะยังมีปัจจัยทั้ง upside และ downside” นายปิติ กล่าว
ทั้งนี้ มองว่าปีนี้ และปีหน้ามีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวใกล้เคียงระดับศักยภาพ ซึ่งอัตราดอกเบี้ย และภาวะการเงินโดยรวมก็ยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ส่วนสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าไปแตะระดับ 37 บาท/ดอลลาร์ในปัจจุบันนั้น ยอมรับว่า ค่าเงินบาทมีความผันผวนและอ่อนค่านำสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ซึ่ง ธปท.จับตาอยู่ เพราะไม่ต้องการเห็นตลาดทำงานไม่ปกติ (disfunction) เช่น เกิดภาวะชะงักงัน หรือสภาพคล่องลดลง แต่ทั้งนี้ ก็ยังไม่เห็นสัญญาณหรืออาการดังกล่าวเกิดขึ้น ดังนั้นจึงยังไม่ถึงขั้นต้องทำอะไรในเชิงนโยบาย
นายปิติกล่าวอีกว่า การที่เงินบาทอ่อนค่าล้วนมีสาเหตุและมีที่มา ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากต่างประเทศ คือ การคงนโยบายการเงินในระดับปัจจุบันของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ยาวนานขึ้น ขณะที่ปัจจัยในประเทศเอง เช่น ในช่วงไตรมาส 2 นี้ มีการส่งเงินปันผลกลับบริษัทต่างประเทศถึง 2 พันล้าน นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะเดินทางมาไทยลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดมีผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 2
ขณะที่นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้ ช่วยลดภาระหนี้
ได้เพียงระยะสั้น แต่จะส่งผลให้เกิดยอดคงค้างหนี้เพิ่มขึ้นในระยะยาว และเกิดการก่อหนี้เพิ่มขึ้นธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ทำให้ แบงก์ชาติ มองว่า อัตราดอกเบี้ยระดับปัจจุบัน ที่ 2.50% เหมาะสมที่จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงในระยะยาว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี