นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยในปี 2567 ขยายตัว 2.7% จากคาดการณ์เดิมจีพีดีเติบโต 2.4% เพิ่มจากปี 2566 ขยายตัว 1.9% สาเหตุมาจากรายได้ท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ 36 ล้านคน สร้างรายได้1.7 ล้านล้านบาท ใช้จ่ายต่อหัวต่อทริป 47,000 บาทมาจากมาตรการยกเว้นวีซ่าให้กับหลายประเทศทั่วโลก การส่งออกขยายตัว 2.7% เพิ่มจากเดิม 2.3% เพราะเศรษฐกิจสหรัฐ จีน ยุโรป ยังฟื้นตัวรองรับการส่งออกของไทยได้มากขึ้น รวมถึงการบริโภคภาคเอกชน คาดว่าขยายตัว 4.5% จากเดิมขยายตัว 3.5% เนื่องจากภาคเกษตรรายได้เพิ่ม 8% และภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคเพิ่มขึ้น
บวกกับมาตรการของรัฐบาลออกมาในช่วงนี้ เช่น สินเชื่อซอฟต์โลน 1 แสนล้านบาท เพื่อเติมเงินให้กับเอสเอ็มอีและรายย่อย กระทรวงคลังยังคาดว่าเงินดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท ทั้งโครงการส่งผลให้จีดีพีดีขึ้นในปีนี้ 1.2-1.8%ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการใช้จ่าย พฤติกรรมการใช้เงินซื้อสินค้า แหล่งที่มาของเงินรองรับทั้งโครงการ โดยยังไม่ได้นับรวมผลต่อเศรษฐกิจดิจิทัล การกระจายเงินไปสู่อำเภอ การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กระทรวงการคลังปรับเป้าหมายจีดีพีเพิ่ม 2.7% รัฐบาลอยากทำให้ดีกว่านี้ เพราะมีเป้าหมายทำงานถึง 3% ด้วยการให้มาตรการทางการคลัง สอดคล้องกับมาตรการทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังจากได้ออกมาตรการสินเชื่อซอฟต์โลน1 แสนล้าน อัดฉีดสู่ระบบ เพื่อให้เอสเอ็มอีมีสภาพคล่อง และสินเชื่ออื่นๆ ภาษีดึงดูดการลงทุน ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์จีดีพีไทยขยายตัว 2.9%และอีกหลายค่ายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจประเมินจีดีพีไทยเพิ่มขึ้นจากเดิม เนื่องจากการท่องเที่ยวและต้องสร้างแรงซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงที่เหลือของปี 2567 ได้แก่
1) การใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายจ่ายลงทุนที่ต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายในทุกหน่วยงาน
2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประเทศ โดยเฉพาะในช่วง High Season
3) การเร่งรัดการลงทุนของโครงการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ 8 ด้านภายใต้กรอบนโยบาย Ignite Thailand ของรัฐบาล โดยการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางในหลายๆ ด้าน ด้วยการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 กระทรวงการคลังได้จัดโครงการศูนย์กลางการเงิน (Financial Hub) ภายใต้หัวข้อIgnite Finance : Thailand’s Vision for a Global Financial Hub เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเงินโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป การสนับสนุนประเด็นที่สำคัญเหล่านี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง ก้าวสู่การเป็นผู้นำในเวทีระดับภูมิภาคในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ
1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้นการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และความกังวลเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้เกี่ยวกับ การอ้างกรรมสิทธิ์หลังมีการซ้อมรบของกองทัพเรือจีนและรัสเซียในบริเวณดังกล่าว
2) ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
3) ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาและทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่
4) การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศจีนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์
5) ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่จะบั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี