นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ปรับตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์ปี 2567 ลดลง 200,000 คัน จาก 1,700,000 คัน เป็น 1,500,000 คัน โดยเป็นการปรับลดในส่วนของการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลงจาก 550,000 คัน เป็น 450,000 คัน และการผลิตเพื่อส่งออกลดลงจาก 1,150,000 คัน เป็น 1,050,000 คัน
ทั้งนี้ถือเป็นการปรับลดลงของตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์ครั้งที่ 2 จากรอบแรกที่ปรับไปแล้ว 200,000 คัน เท่ากับว่าปี 2567 นี้ปรับลดลงถึง 400,000 คัน จาก
เป้าหมายแรกตั้งแต่ต้นปีตั้งไว้ 1.9 ล้านคัน เนื่องจากยอดขายในประเทศปรับลดลง จากการเข้มงวดในการให้กู้ซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงิน
โดยยอดผลิตรถยนต์ในช่วง 10 เดือนของปี 2567 (มกราคม-ตุลาคม 2567) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,246,868 คัน ลดลงจากปีก่อน 19.28% รวมทั้งยอดผลิตเพื่อส่งออกลดลง4.69% อยู่ที่ 861,916 คัน และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 39.89% อยู่ที่ 384,952 คัน ส่วนยอดผลิตรถยนต์ในเดือนตุลาคม 2567 มีทั้งสิ้น 118,842 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 25.13% เนื่องจากการผลิตเพื่อส่งออกลดลง 7% อยู่ที่ 87,741 คัน และการผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง 51.70% อยู่ที่ 31,101 คัน
นายสุรพงษ์กล่าวว่า เป็นไปในทิศทางเดียวกับยอดขายรถยนต์ในประเทศอยู่ที่ 37,691 คัน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 36.08% ต่ำสุดในรอบ 54 เดือน นับตั้งแต่ยกเลิกล็อกดาวน์จากการระบาดของโรคหวัด 19 เดือน ปี 2563 เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการให้กู้ซื้อรถยนต์เป็นหลัก ส่งผลให้จำนวนบัญชีผู้กู้ซื้อรถยนต์ในไตรมาส 3 ของปี 2567 มี 6,365,571 บัญชี ลดลงจากปีก่อน 199,655 บัญชี คิดเป็น 3.0% และลดลงจากไตรมาสก่อน 75,377 บัญชีคิดเป็น 1.2% มีจำนวนเงินหนี้รถยนต์ 2,465,204 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 5.8% โดยเฉพาะรถบรรทุกลดลงจากเศรษฐกิจของประเทศที่ยังอ่อนแอ เติบโตในอัตราต่ำ และหนี้ครัวเรือนสูง ดัชนีภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่ำที่ 0.1% ในไตรมาส 3
ส่วนการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนตุลาคม 2567 ส่งออกได้ 84,334 คัน ลดลงจากปีก่อน 20.23% เพราะฐานสูงในเดือนเดียวกันของปี 2566 ที่ส่งออกถึง 105,726 คัน ส่งผลให้ส่งออกลดลงทุกตลาด ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ ตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ที่สงครามอิสราเอลกับฮามาสขยายมากขึ้นอาจจะส่งผลกระทบการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวน้อยลง อีกความขัดแย้งที่ต้องติดตามแบบไม่กะพริบตาที่จะกระทบเศรษฐกิจโลกคือ สงครามยูเครนกับรัสเซียที่อาจขยายไปประเทศอื่น ซึ่งกระทบการส่งออกรถยนต์และสินค้าอื่นๆ
“ตลาดส่งออกลดลงทุกตลาด จากผลกระทบสงครามอิสราเอลกับฮามาสขยายมากขึ้น อาจจะส่งผลกระทบการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวน้อยลง โดยต้องจับตาตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และยุโรปเป็นพิเศษ รวมทั้งความขัดแย้งที่ต้องติดตามแบบไม่กะพริบตา ที่จะกระทบเศรษฐกิจโลกคือสงครามยูเครนกับรัสเซีย ที่อาจขยายไปประเทศอื่น ยอมรับว่าสถานการณ์รถยนต์บ้านเราค่อนข้างสาหัสต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป”นายสุรพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์คงต้องรอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากเร่งส่งเสริมการลงทุนให้เกิดขึ้นจริงตามคำขอส่งเสริมการลงทุนที่มากสุดในรอบ 10 ปี เชื่อว่าจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยกลับมาเติบโตได้ปีละ 4-5% อีกครั้ง ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ส่วนการจัดงานมอเตอร์โชว์ในช่วงปลายปี 2567 นี้ ก็เชื่อว่าจะกระตุ้นยอดขายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งทุกครั้งจะมียอดจองเกินเป้าหมาย แต่ยังกังวลว่ายอดปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินอาจไม่เป็นไปตามยอดจอง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี