บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ยอดขายปุ๋ยเคมีของไทยในปี 2568 คาดอยู่ที่ 94,602 ล้านบาท คาดว่าจะโต 2.0% ชะลอลงจากปี 2567 ที่โต 7.7% เนื่องจากเผชิญปัจจัยบวกที่แผ่วลงจากปี 2567 ตามความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีที่โตชะลอและราคาขายปุ๋ยเคมีที่ปรับลดลง โดยปี 2568 ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีไทย คาดว่าจะเติบโตที่ 5.7% ชะลอลงจากปีก่อนที่โต 25.2% ทั้งนี้ ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีของไทยในปี 2568 ได้กลับไปใกล้เคียงกับความต้องการใช้ระดับปกติในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติอุปทานปุ๋ยเคมีโลกตึงตัว ทำให้คาดว่าความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีของไทยจากนี้ไปอาจเพิ่มขึ้นได้ไม่มาก
สำหรับปัจจัยสำคัญที่หนุนความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีของไทยในปี 2568 คือ การขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลักจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย โดยในปีนี้ คาดว่า พื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตรหลักทั้งพืชอาหารและพืชพลังงาน (ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และทุเรียน) อาจมีพื้นที่รวมกันเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2% ไปอยู่ที่ 122.3 ล้านไร่ ตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น จากปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีของไทยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.9% ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกแล้ว ยังช่วยหนุนผลผลิตเพิ่มที่ราว 2.3% อย่างไรก็ตามราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ที่มีแนวโน้มปรับลดลงในปี 2568 ทำให้เกษตรกรอาจลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงเพื่อประหยัดต้นทุน ส่งผลต่อความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีให้เติบโตได้ไม่มากนัก
ส่วนราคาขายปุ๋ยเคมีในประเทศ ปี 2568 คาดว่าจะปรับลดลง 3.4% เป็นไปตามราคาวัตถุดิบตั้งต้นสำคัญเพื่อผลิตปุ๋ยเคมีอย่างน้ำมันดิบ ที่คาดว่าในปี 2568 ราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกจะลดลงราว 12% ทั้งนี้ ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีเป็นหลัก ทำให้ราคานำเข้าปุ๋ยเคมีของไทยจะเป็นทิศทางเดียวกับราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลก
นอกจากนี้คาดว่า ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีไทยคงโตจำกัด ขณะที่ราคายังเสี่ยงไม่แน่นอนตามตลาดโลก ซึ่งแม้จะมีความต้องการบริโภคพืชอาหารรองรับตามเทรนด์ความมั่นคงด้านอาหาร แต่ประเทศผู้นำเข้าอาหารหลักได้หันมาผลิตอาหารเอง จะกดดันการใช้ปุ๋ยเคมีของไทยที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรหลักของโลก โดยดัชนีราคาอาหารโลกคาดจะโต 3-5% ต่อปีในปี 2568-2570 (2 เดือนแรกปี 2568 โต 7.3%) อย่างไรก็ดี ประเทศที่บริโภคอาหารรายใหญ่ของโลกอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ได้มีนโยบายผลิตอาหารเองมากขึ้นเพื่อลดการนำเข้า
ทั้งนี้ความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ของไทยเพิ่มขึ้น จะกระทบการใช้ปุ๋ยเคมี โดยไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในปี 2565 ที่เพิ่มถึง 8 เท่าจากปี 2560 มาอยู่ที่ 1.4 ล้านไร่ อีกทั้งภาครัฐยังมีเป้าหมายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ 2 ล้านไร่ในปี 2570 จะหนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งนี้ จะสอดคล้องกับเทรนด์โลกที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปุ๋ยเคมีโดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจนจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 21.5% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยทั้งหมดในภาคเกษตรโลก และต้นทุนการผลิตปุ๋ยเคมีผันผวนสูงตามราคาน้ำมันดิบโลก จากความไม่แน่นอนหลายด้านของโลก เช่น ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจโลก และภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น ที่ส่งผลต่ออุปทานและราคาน้ำมันดิบโลก จะกระทบต่อต้นทุนนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทยให้มีความไม่แน่นอน จึงกำหนดราคาขายในประเทศได้ยากและมีผลต่อการทำกำไร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี