นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดโรงงานผลิตแผงวงจรพิมพ์(Print Circuit Board : PCB) เฟส 1 และพิธีวางศิลาฤกษ์เฟส 2 ของ บริษัท เพ็ง เชิน เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์(Printed Circuit Board-PCB) ที่เป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ผ่านแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก คือ 1.การยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิม ด้วยการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ พัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่มีนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และพัฒนาบุคลากรด้าน Smart Electronics
2.การกระตุ้นอุปสงค์ให้เกิดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของภาคเอกชนและภาครัฐ และ 3. การสร้างและพัฒนา Eco System โดยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เช่น การพัฒนามาตรฐาน ยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบ รวมทั้งพัฒนาระบบการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยกระทรวงฯวางเป้าหมายในการผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน และมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ภายในปี 2570
ทั้งนี้โรงงานผลิตแผงวงจรพิมพ์ของ บริษัท เพ็ง เชิน เทคโนโลยี (ประเทศไทย) แห่งนี้ไม่เพียงจะมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย แต่ยังแสดงให้เห็นศักยภาพของประเทศในการรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และนโยบายภาครัฐที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นถึงอุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์(Printed Circuit Board-PCB) ที่เป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดย PCB เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า โทรคมนาคม การแพทย์อัจฉริยะ ไปจนถึงอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เฉพาะในปี 2566 ไทยมีการลงทุนในกิจการ PCB ขยายตัวมากที่สุด และมีแนวโน้มการลงทุนในกลุ่มผลิตภัณฑ์ PCB อย่างต่อเนื่อง
นายณัฐพล กล่าวว่า บริษัท เพ๊ง เซิน เทคโนโลยี (ประเทศไทย) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง เครือสหพัฒน์และ Zhen Ding Tech Group (ZDT) ซึ่งเป็นผู้ผลิต PCB รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยโรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี บนพื้นที่กว่า 300 ไร่ โดยในเฟส 1 มีการลงทุนมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท และวางเป้าหมายจะขยายการลงทุนมากกว่า 50,000 ล้านบาทภายในปี 2573 เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานการผลิต PCB อัจฉริยะที่สำคัญแห่งหนึ่งของกลุ่ม ZDT และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก
“การตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นเป็นฐานที่ตั้งโรงงานผลิต PCB ของ ZDT สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย ทั้งด้านทำเลที่ตั้ง ค่าแรง การสนับสนุนจากภาครัฐ และโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมในเขตเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) โดยเฉพาะจังหวัดปราจีนบุรีที่กลายเป็นศูนย์กลางของโรงงานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง”นายณัฐพล กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี